ย้อนคดีทำร้ายรอบ 10 ปี หลังคดีรุมตีหัว “จ่านิว” ลามคุกคามนักกิจกรรม ตร.แจงห้ามจุ้นการเมือง | อาชญากรรม

ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจติดตามอย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณี 4 ชายฉกรรจ์ลอบทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว จนบาดเจ็บสาหัส

เหตุเกิดในพื้นที่ กทม. ช่วงกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

ซึ่งแม้เวลาผ่านมาร่วม 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

จะมีก็แต่การจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาคนแชร์ข่าวที่พาดพิงรอง ผบ.ตร.

แถมยังมีข้อสงสัยอีก เมื่อนายสิรวิชญ์ออกจากโรงพยาบาล และขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

กลับได้รับเงื่อนไขให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองเสียก่อน!??

ขณะที่นักกิจกรรมทางการเมือง นิสิต นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ยังคงถูกคุกคาม ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถึงบ้าน

เพียงเพราะการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมือง

สร้างความสงสัยว่าทำไมในบ้านเมืองที่มีบรรยากาศประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว

เหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก

จับ 8 คนแชร์ข่าวตีหัวจ่านิว

หลังจากเหตุการณ์อุกอาจเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามคนร้าย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายเหมือนการคลี่คลายคดีอื่นๆ เพราะคนร้ายมีลักษณะมืออาชีพ ใส่หมวกปิดบังใบหน้า วางแผนขี่จักรยานยนต์ประกบหน้า-หลัง เมื่อลงมือแล้วก็หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว

จะมีก็แค่พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ระบุว่าอาวุธของคนร้ายคล้ายเป็นอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ส่วนกล้องวงจรปิดที่ติดทั่วกรุง ก็ยังเช็กไม่ออกว่าคนร้ายเป็นใครกันแน่ โดยเหตุจุดสุดท้ายที่ถนนพหลโยธิน ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคนร้ายเลี้ยวเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ใดกันแน่

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่คืบหน้าอย่างรวดเร็วในกรณีที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือมีผู้แชร์ข่าวเกี่ยวกับการดักตีหัวจ่านิว โดยพาดพิงถึง พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. เป็นเหตุให้เจ้าตัวเข้าแจ้งความกับ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ผ่านมาเพียง 6 วัน ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษก ตร. ก็แถลงผลการดำเนินคดี ระบุว่า จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ามีคนแชร์ข้อความดังกล่าว 13 คน จึงออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแชร์ข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ล่าสุดเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว 8 คน อีก 5 คนจะทยอยเข้าพบพนักงานสอบสวน ซึ่งทั้ง 8 คนให้การภาคเสธ ยอมรับว่าแชร์ข่าวจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นข่าวปลอม โดยทั้งหมดไม่ได้มีลักษณะเป็นขบวนการ เพียงแต่สนใจในการเมืองลักษณะเดียวกัน จึงแชร์ข่าวส่งต่อไปยังเพื่อนที่รู้จัก

ทั้งนี้ ตำรวจรู้ตัวว่าใครเป็นต้นตอแล้ว 1 คน อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี

ส่วนที่ดำเนินคดีคนแชร์ข่าวพาดพิงรอง ผบ.ตร.ได้เร็ว เพราะมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่เรื่องรุมทำร้ายจ่านิว ก็สอบพยานไปแล้วกว่า 10 ปาก และไล่วงจรปิด แต่ก็มีใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง อีกทั้งคนร้ายมีความชำนาญ

เมื่อถามว่าเหตุใดจึงสามารถดำเนินคดีกับคนที่แชร์ข่าวใส่ร้ายรอง ผบ.ตร.ได้รวดเร็ว แต่คดีจ่านิวล่าช้าจับตัวคนร้ายยังไม่ได้ พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ขณะนี้คดีของจ่านิวมีความคืบหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำไปแล้ว 10 ปาก พร้อมทั้งไล่กล้องวงจรปิด ยอมรับว่าใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง คนร้ายมีความชำนาญ ใช้ช่วงการจราจรติดขัดในการหลบหนี ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ

แต่คดีการจับคนแชร์ข่าว บก.ปอท. มีพยานหลักฐานชัดเจน จึงสามารถดำเนินคดีได้รวดเร็วกว่า

เป็นความต่างเรื่องความยากง่ายของคดี

ตร.แจงวุ่นปมห้ามยุ่งการเมือง

สําหรับกรณีนี้ยังมีเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกมาก เนื่องจากเมื่อนายสิรวิชญ์เดินทางกลับจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อขอให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ให้นโยบาย

แต่คำตอบที่ได้รับคือ การยื่นเงื่อนไขให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อแลกกับการคุ้มครองดูแลความปลอดภัย

ส่งผลให้จ่านิวโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงว่า ตอนที่ได้ฟังเงื่อนไขนี้ คิดว่าหูแว่วไปเอง แต่เมื่อ พล.อ.ประวิตรยืนยันเช่นนี้ จึงต้องสื่อสารว่า แน่นอนว่าจะต้องพักเรื่องการเมืองไปโดยปริยาย เพราะปัญหาสุขภาพที่ถูกคนใจอำมหิตดักรุมทำร้ายถึง 2 ครั้ง และยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ และเรื่องเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้ต้องเว้นวรรคไปอีกพักใหญ่

แต่การแสดงออกทางการเมือง คือสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าใครจะพรากจากไปไม่ได้ ถือเป็นสิทธิที่ไม่ควรให้ใครหยิบไปเป็นเงื่อนไขแลก เพื่อเป็นค่าคุ้มครอง

ลำพังแค่บาดเจ็บร่างกาย เสียการดำเนินชีวิตปกติ ที่จะไปไหนอิสระ ไร้ความระแวง ก็มากเกินพอ ทำไมต้องยอมเสียจิตวิญญาณเสรี และค่าไถ่เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยด้วยการเลิกเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

เช่นเดียวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปหานักกิจกรรมถึงบ้าน อ้างว่าดูแลความปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วคือการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ยืนยันไม่ยอมทำตามเงื่อนไขอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. ระบุว่า หากตำรวจพูดจริง ก็ขอโทษ เพราะจริงๆ เป็นเรื่องของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ตนไปก้าวล่วงไม่ได้

พิจารณากันเองว่าละเมิดสิทธิหรือไม่

จี้ จนท.หยุดคุกคาม

ทั้งนี้ หลังจากที่จ่านิวถูกรุมทำร้าย ก็ดูเหมือนว่าจะมีนักกิจกรรม ทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเยี่ยมเยียน

ไม่ว่าจะเป็นนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 กรกฎาคม มีตำรวจ สน.ดอนเมืองมาหาเป็นครั้งที่ 2 แจ้งว่า “นาย” ให้มาตรวจสอบว่ายังอยู่บ้านหลังนี้หรือไม่ ตรงกับข้อมูลที่มีหรือไม่

ซึ่งถือเป็นการบุกเข้าไปหาถึงบ้านหลังจากที่นายอนุสรณ์ไปร่วมปาฐกถา “วิกฤตเสรีภาพในมหาวิทยาลัยรัฐบาล คสช.” ภายในงาน งานดี-ทอล์ก ล้างพิษรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพียงวันเดียว

เช่นเดียวกับนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์หน้าป้ายชื่อคณะเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประณามการลอบทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ทั้งกรณีของ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายสิรวิชญ์

ก็เกิดเหตุทหารมาเยี่ยมเยียนถึงบ้านนักศึกษาคนหนึ่ง พร้อมระบุว่า เกิดจากความไม่สบายใจ ส่งผลให้ครอบครัวเกิดความหวาดผวา

เช่นเดียวกับนายประจิณ ฐานังกรณ์ สมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม มีตำรวจจาก สน.มีนบุรี 5 คนมาตามหาที่บ้าน แต่ตนไม่อยู่ ทำให้ญาติที่อยู่เกิดความหวาดกลัว

จึงกลายเป็นคำถามว่าเหตุใดบ้านเมืองหลังผ่านการเลือกตั้งยังเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นได้

ขณะที่ ผบช.น.ก็ชี้แจงว่า เป็นเพียงมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากการอภิปรายในสภา เป็นห่วงนักกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจเลยลงพื้นที่เพื่อดูแลความปลอดภัย พร้อมหาจุดติดตั้งตู้แดง

ชี้แจงอย่างน่ารับฟัง

ย้อน 10 ปี-คดีทำร้าย-ฆ่านักกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการคุกคามและทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมการเมืองเกิดขึ้นมาตลอดในรอบ 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นนายเอกชัย หงส์กังวาน ผู้ที่เคลื่อนไหวสอบถามกรณีนาฬิกาหรูที่ พล.อ.ประวิตรยืมเพื่อนมาก็ถูกทำร้ายถึง 9 ครั้ง เป็นการทำร้ายร่างกาย 7 ครั้ง ลอบเผารถยนต์อีก 2 ครั้ง แต่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เพียงครั้งเดียว

อย่าง “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ถูกชาย 6 คน ขี่จักรยานยนต์ 3 คันรุมทำร้าย ตีหัวแตกเย็บ 8 เข็ม ขณะกลับบ้านที่ จ.สมุทรปราการ

ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อย่างนายกมล ดวงผาสุก หรือไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิงเสียชีวิตที่ลานจอดรถร้านครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า กทม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ซึ่งไม่สามารถจับกุม หรือสืบสวนหาผู้ก่อเหตุ หรือผู้สั่งการได้สำเร็จ

กรณีคนร้ายซุ่มยิงนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงที่บ้านพักใน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 จนบาดเจ็บสาหัส แม้ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสืบสวนสอบสวนจนจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทั้งหมด 6 คน แต่เมื่อขึ้นสู่การพิพากษาของศาลก็สั่งยกฟ้องทั้ง 3 ศาล

และเหตุการณ์ที่น่าตระหนกอีกเรื่องก็คือการลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อเช้ามืดวันที่ 17 เมษายน 2552 ที่แยกบางขุนพรหม ใจกลาง กทม.

โดยเป็นการถล่มยิงด้วยอาวุธสงครามนับร้อยนัดจากกลุ่มชายฉกรรจ์ที่นั่งบนหลังรถกระบะที่ขับอยู่ข้างหน้า กระหน่ำใส่รถเวลไฟร์ที่นายสนธินั่งมา ส่งผลให้นายสนธิบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่คนร้ายจะขับรถหลบหนีไปอย่างลอยนวล ขณะวงจรปิดไม่สามารถจับภาพคนร้ายได้

เป็นเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก