“Where We Belong : สถานที่ ตัวตน และนิทานเปรียบเทียบของมนุษย์วัยกลางคน | คนมองหนัง

คนมองหนัง

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ!)

สําหรับใครหลายคนที่ได้ทราบข่าวคราว-รายละเอียดเบื้องต้นของโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า” อาจจะคาดหวังถึงสองแนวโน้มสำคัญ

แนวโน้มแรก คือ หรือหนังเรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่ง “นิทานเปรียบเทียบ” ว่าด้วยความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย โดย “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ซึ่งสืบเนื่องมาจาก “ตั้งวง” และ “Snap…แค่ได้คิดถึง” (เป็นอย่างน้อย)

แนวโน้มที่สอง คือ นี่น่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยที่สะท้อนวิถีชีวิต-จิตใจของวัยรุ่นไทยยุคปัจจุบันได้อย่างสมจริงและเปี่ยมพลวัต เมื่อหนังได้สองสมาชิกชื่อดังของ “BNK48” คือ “เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ” (เจนนิษฐ์) และ “แพรวา สุธรรมพงษ์” (มิวสิค) มานำแสดง ร่วมด้วยเพื่อนร่วมวงอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนคงเดชจะนำพาภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของตนเองพเนจรไปยังทิศทางอันหันเหจากสองแนวโน้มดังกล่าว

ขณะที่เราไม่อาจปฏิเสธว่า “ตั้งวง” และ “Snap” นั้นมีบริบทเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง (เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 และรัฐประหาร 2557) ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน

กระทั่งสามารถอ่านหรือมองหนังทั้งคู่ในฐานะ “ภาพยนตร์การเมือง” ได้

แต่ “Where We Belong” กลับมีองค์ประกอบว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองดำรงอยู่น้อยมาก (อาจมีแค่ประโยคที่พูดถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนอายุ 18 ปี และการเลือกตั้งที่ยังมาไม่ถึง -ณ ขณะนั้น- ช่วงต้นเรื่อง)

ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เรื่องผิดพลาดอะไร ถ้าจะมีใครที่รู้สึกว่าหนังใหม่ของคงเดชไม่ได้เป็น “หนังการเมืองไทยร่วมสมัย”

อย่างไรก็ตาม “Where We Belong” คล้ายจะพยายามพูดถึง “การเมือง” (การขัดขืนหรือสมยอมต่ออำนาจ) ที่เป็นสากลยิ่งกว่านั้น

หนังเล่าเรื่องราวของสองเด็กสาวตัวละครหลัก คือ “ซู” และ “เบล” ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดจันทบุรี

ขณะที่ “ซู” เริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจังหวัดบ้านเกิด รวมถึงประเทศไทย คือ สถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับเธอ ทั้งเพราะความขัดแย้งกับครอบครัว การสูญเสียหลักยึดในชีวิต หรือความแปลกแยกจากผู้คนรายรอบ

“เบล” กลับรู้สึกว่าเธอจำเป็นจะต้องอยู่ที่นี่ เพื่อดูแลย่าวัยชรา ซึ่งถูกตรึงอยู่กับพื้นที่/ความทรงจำบางประการ ขณะเดียวกัน หญิงสาวก็แสดงปฏิกิริยาต่อต้านแม่ ผู้ออกไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ

“สถานที่/พื้นที่” จึงเป็นดังอุปสรรคที่คอยกีดกันหรือกรอบคิดที่คอยกำหนดควบคุมจินตนาการ-ความฝันของผู้คนเอาไว้

ตัวละครสองรายที่ยินยอมน้อมรับสภาวะดังกล่าวแต่โดยดี ก็ได้แก่ เบลและย่าของเธอ

ย่าของเบลไม่เพียงต้องนั่งจมจ่อมอยู่ในบ้าน เพราะปัญหาเรื่องอายุและข้อจำกัดทางด้านกายภาพ หากแกยังผูกมัดตนเองเข้ากับภาพฝันว่าด้วยอารมณ์รักใคร่ครั้งแรกๆ ในชีวิต ซึ่งสาบสูญไปอย่างรวดเร็วในความเป็นจริง แต่ติดแน่นเหลือเกินในความทรงจำ

เบลก็ไม่ต่างจากย่า ตรงที่เธอมักพาตัวเองเข้าไปเป็นฝ่ายเสียเปรียบ/ผู้ต้องอุทิศแรงกายแรงใจ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่คล้ายจะเสมอภาคแต่ไม่เท่าเทียมกัน ในนามของมิตรภาพ

เบลไม่เพียงต้องเสียสละความฝัน-ความสุขส่วนตัวให้แก่ครอบครัว ทว่าเธอยังกลายเป็น “ตัวเสือก” ที่พยายามทุกข์ร้อน วิตกกังวล กระทั่งเจ็บตัวแทน “เพื่อนรัก” โดยไม่หวังอะไรเป็นการตอบแทน (และก็ไม่ได้อะไรเป็นการตอบแทนจริงๆ)

เด็กสาวอย่างเบลไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ที่เธอเป็นฝ่ายถูกขูดรีด/ใช้สอย

อาจเพราะจินตนาการของเบลได้ถูกกล่อมเกลาครอบงำเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ว่าเธอต้องอยู่ใน “สถานที่” แห่งนี้ และอยู่กับสถานภาพเช่นนี้ตลอดไป

เป็นซูต่างหากที่หวังจะหลีกหนีออกจากโครงสร้างความสัมพันธ์ข้างต้น เธอไม่ต้องการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น หรือพูดอีกอย่าง คือ การแบกรับกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงของพ่อ

เธอไม่ต้องการผูกพันกับใครในชุมชนให้แน่นเหนียวเกินไป จนต้องตกเป็น “เบี้ยล่าง” (อย่างเบล)

ซูอาจเกือบจะเป็นเหมือนๆ เบล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “อดีตเพื่อนรัก” เช่น “มิว” แต่เธอก็ปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการที่ว่า ได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก

ระหว่างทางของการพยายามหลบหนีออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ซูค่อยๆ ขยับเขยื้อนสถานะของตนเอง ไปสู่จุดที่สามารถขูดรีดกดดันเพื่อนรักและคนรู้จักอีกหลายรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์แบบเก่าที่เธอกำลังจะสลัดทิ้ง

เพื่อนและคนรู้จักที่ต้องทุกข์ร้อน งุนงง และถูกทิ้งเอาไว้อย่างเคว้งคว้าง ณ เบื้องหลัง

แม้ชื่อหนังและประเด็นหลักของหนัง ดูจะผูกพันอยู่ความขัดแย้ง-ไม่ลงรอย ซึ่งมีใจกลางอยู่ที่เรื่อง “สถานที่/พื้นที่”

แต่หากชมภาพยนตร์ไปจนจบ อีกหนึ่งประเด็นที่กระจ่างชัดขึ้นเรื่อยๆ และมีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับ “ตัวตน” ที่สามารถผันแปรหรือสลับสับเปลี่ยนได้

ซูกับเบลเคยสนทนากันว่าพวกเธอในวัย 30 หรือ 40 ปี จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนจากช่วงวัยสิบปลายๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

“Where We Belong” มิได้ให้คำตอบชัดเจนต่อคำถามข้อนี้ หนังทำได้เพียงแสดงนัยยะว่าซูคงไม่เหมือนเดิม ภายหลังการตัดสินใจสำคัญช่วงท้ายเรื่อง

แต่จุดที่น่าสนใจจริงๆ เกี่ยวกับประเด็น “ตัวตน” อันไม่หยุดนิ่ง กลับปรากฏผ่านกรณี “หัวใจ” ของแม่ซู และบทบาทของ “คนทรง”

ซูเคยเชื่อว่า “ตัวตนแก่นแท้” ของแม่ผู้ล่วงลับ นั้นไม่ใช่เรื่องจิตวิญญาณ หากเป็น “อวัยวะหัวใจ”

ความเชื่อเช่นนี้เริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อเธอพบว่า “คนทรง” เพศชาย สามารถปฏิบัติตนเป็นสื่อกลางที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของแม่ออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม

ก่อนที่ความเชื่อทั้งหมดทั้งมวลจะพังทลายลง เมื่อซูตระหนักว่ามนุษย์ผู้มี “หัวใจแม่เธอ” อยู่ในร่าง คือ เด็กสาวใจแตกและยังไม่พร้อมจะเป็น “แม่คน”

“คนทรง” ที่ปรากฏกายขึ้นสั้นๆ ไม่เพียงทำให้ซูสงสัยเรื่อง “ตัวตนแก่นแท้” ของแม่ แต่ “แม่ในร่างคนทรง” ยังกระตุกให้เด็กสาวเกิดภาวะลังเลใจว่าเธอควรปักหลักอยู่ที่จันทบุรีบ้านเกิด หรือเดินทางไปเมืองนอกตามความปรารถนา

“สถานที่อื่น” นั้นเหมาะสมกับซู มากกว่า “สถานที่ปัจจุบัน” จริงหรือไม่?

แต่ในอีกสถานภาพหนึ่ง “คนทรง” ก็กลายเป็น “คุณลุงขับรถกู้ภัย” ที่เข้ามาช่วยเหลือซู-เบล จากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทตบตีกับแก๊งของ “หญิงสาวผู้ครอบครองหัวใจแม่”

“คุณลุงกู้ภัย” คือคนที่กระตุ้นให้ซูยอมรับว่าบ้านนี้เมืองนี้มันก็จะย่ำแย่เหมือนที่มันเคยแย่ และความเชื่อที่ว่าถ้าเราทนใช้ชีวิตต่อไป ทุกอย่างจะลงตัวและดีขึ้นเองนั้นเป็นเพียงคำพูดโกหก

“ตัวตน” ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลง จึงมีความเชื่อมโยงกับการตัดสินใจจะปักหลักฝังตรึงตนเองลงใน “สถานที่/พื้นที่” ใด “สถานที่/พื้นที่” หนึ่ง (หรือจะโยกย้ายออกไป) และการทะลุกรอบคิดจินตนาการชนิดเดิมๆ ที่เหนี่ยวรั้งชีวิตคนเราเอาไว้

หัวข้อสุดท้ายที่อยากกล่าวถึง “Where We Belong” ก็คือ ความเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของหนังเรื่องนี้

แน่นอน ผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าภาพยนตร์ชิ้นล่าสุดของคงเดชไม่ใช่ “นิทานเปรียบเทียบ” ถึงความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยยุคปัจจุบันเสียทีเดียว

อย่างไรก็ดี การตั้งคำถาม หมกมุ่น ครุ่นคิดกับประเด็น “สถานที่/พื้นที่” “ตัวตน” ตลอดจน “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” อย่างหนักหน่วงของตัวละครนำ นั้นส่งผลให้ “Where We Belong” มิได้เป็น “หนังวัยรุ่น” ที่ตรงไปตรงมาสักเท่าไหร่

หนังเรื่องนี้ไม่ได้บรรจุไว้ซึ่งอารมณ์เร่าร้อน ความหุนหันพลันแล่น ความสนุกสนาน หรือวิถีชีวิตแบบวัยรุ่น (ตัวอย่างหนึ่งในเชิงรูปธรรม คือ หนังให้เวลากับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กยุคใหม่น้อยมากๆ)

ตามความเห็นส่วนตัว ผมยังคิดว่าหนังไทยเรื่อง “หน่าฮ่าน” (กำกับฯ โดย “ฉันทนา ทิพย์ประชาติ”) ที่เข้าฉายก่อนหน้านี้ ดูจะพูดถึงปัญหาความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยระหว่างคนหนุ่มสาวกับบ้านเกิด (ภาคอีสาน) ด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ความรู้สึกในแบบวัยรุ่น ได้อย่างจริงใจซื่อตรงกว่าผลงานของคงเดช

ขณะที่ “Where We Belong” นั้นทำหน้าที่เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ซึ่งแฝงเร้นความวิตกกังวล-ความไม่แน่ใจต่อชีวิตและสภาพสังคมรอบข้าง ของมนุษย์วัยกลางคน (เช่นเดียวกับผู้กำกับฯ-คนเขียนบท) ในลักษณะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง-ห่วงหน้าพะวงหลัง เอาไว้

ก่อนจะห่อหุ้มสารดังกล่าวด้วยภาพลักษณ์ของเด็กสาววัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี อีกที