กดสูตรอัพเกรดโรงพัก เพิ่มประสิทธิภาพ พงส. ตั้ง สว.หน.แผนกธุรการคดี

ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผู้คนเจอปัญหาเป็นร้อยพัน นอกจากศาสนาที่เป็นที่พึ่งทางใจแล้ว กระบวนการยุติธรรมเห็นจะเป็นรูปธรรมสำหรับผู้มีคดีทั้งหลาย

แต่เหมือนชะตาเล่นตลก เมื่อภารกิจสางคดีของตำรวจถูกเปลี่ยนมือหรือไปไม่ถึงชั้นศาลให้เสร็จสิ้น อันเนื่องมาจาก “ระบบ” ของการทำงานในชั้นสอบสวน!

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาน่าละเหี่ยใจของประชาชนเท่านั้น ตำรวจน้ำดีก็เอือมระอาพลอยถูกหางเลขโดนตำหนิหมดกำลังใจไปนักต่อนัก

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมพนักงานสอบสวนเพิ่งเสนอภาระงานจัดระบบธุรการคดี ซึ่งเป็นขาข้างหนึ่งของการทำสำนวนชั้นสอบสวนให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับหลักการไปจัดตั้งแผนกเสมียนคดีโดยมีตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้างานกับทุกโรงพักทั่วประเทศ ซึ่งจะคล้ายงานสารบรรณคดีของสำนักอำนวยการของศาล ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับภารกิจงานสอบสวนโดยประสานพนักงานสอบสวนสรุปผลคดีทุกกลุ่มเป็นไปอย่างเรียบร้อย

ด้าน พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 ในฐานะเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน อธิบายถึงต้นตอปัญหาว่า การทำงานชั้นสอบสวนแบ่งเป็นฝ่ายทำสำนวนคดีเปรียบเป็นหน้าบ้าน คือร้อยเวรที่รับเรื่องร้องทุกข์ สอบถามและลงบันทึกประจำวัน และออกไปตรวจตราพื้นที่พร้อมผู้ช่วย

แต่ขณะเดียวกันจะต้องทำหน้าที่ธุรการคดีหรืองานหลังบ้านควบคู่ไปด้วย เช่น รายงานสรุปสำนวนคดีค้างรายเดือน นำของกลางส่งตรวจพิสูจน์และรับผล นำสำนวนส่งอัยการและตรวจสอบผลคดี รวมถึงงานอื่นที่ได้รับหมายจากผู้บังคับบัญชา หากให้กางหน้าภารกิจจริงคงเป็นร้อยข้อ เรียกได้ว่า “โอเวอร์โหลด”

พ.ต.อ.ดร.มานะบอกต่อ แม้ธุรการคดีจะมีหัวหน้าแผนกแล้ว แต่กลับเป็นปัญหา เพราะบางกรณีเจ้าพนักงานกลับทำงานด้วยความไม่เต็มใจ เพราะไม่มีรายได้เพิ่ม บางรายอาจมาทำเพราะถูกทำโทษ หรือบางโรงพักก็มีคนทำงานน้อยจนต้องผลัดเปลี่ยนไปช่วยงานอื่นเรื่อยๆ ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

นอกจากนี้ ตำรวจชั้นประทวนใหม่ๆ ในแผนกอาจไม่เข้าใจการประสานงานกับอัยการได้ ตรงนี้เองหากงานธุรการคดีไม่นำผลตรวจสอบคดีกลับมาแจ้งร้อยเวรสอบสวนที่รับเรื่องไว้ ก็ยังคงดำเนินการตามกฎหมายไม่เสร็จสิ้น แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือร้อยเวรที่รับเรื่อง หลายครั้งเราจึงเห็นข่าวตำรวจฆ่าตัวตายจากความเครียดกัน

“ทุกวันนี้เรามีโรงพักทั่วประเทศรวมกว่า 1,500 แห่ง พนักงานสอบสวน 12,000 นาย ทำตำแหน่งงานสอบสวนจริง 9,000 นาย แม้ว่าแทบทุกโรงพักต่างใช้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้างานธุรการคดีแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่เป็นแผนกจริงๆ ยังไม่ถูกวางระบบ การทำงานจึงไม่ต่อเนื่อง คงให้เปรียบเป็นเก้าอี้ดนตรีไม่ได้เพราะตัวนี้เขาไม่ค่อยอยากมานั่งกัน ตอนนี้เรากำหนดสเป๊กสารวัตรมาเป็นหัวหน้าแผนกเสมียนคดีโรงพัก ต้องจบนายร้อยตำรวจด้านกฎหมายหรือนิติศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจลักษณะงาน อย่าเพิ่งไปไกลถึงการแต่งตั้งโยกย้ายใครมาดำรงตำแหน่งอย่างไร เพราะเน้นวางโครงสร้างระบบของแผนกนี้ก่อน”

พ.ต.อ.ดร.มานะระบุ

ที่กล่าวข้างต้นเห็นจะเป็นปัญหาในส่วนของตำรวจเสียเอง แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย พ.ต.ท.ธรรมรักษ์ เรืองดิษฐ์ รอง ผกก.สอบสวน สน.ห้วยขวาง ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ได้ยกคดีเก่าเมื่อปี 2551 มาเล่าว่า มีครอบครัวผู้เสียหายแจ้งความไว้กับร้อยเวรว่า ลูกสาวถูกหญิงคนหนึ่งลวงไปให้ผู้ชายอีกคนกระทำชำเรานอกท้องที่โรงพักตามทะเบียนบ้าน

เมื่อไปแจ้งความกับโรงพักที่สอง ซึ่งตั้งในที่เกิดเหตุ ได้ลงบันทึกประจำวันก่อนประสานให้กลับมาร้องทุกข์ยังภูมิลำเนา

สุดท้ายอัยการไม่สั่งฟ้องชายที่กระทำผิดต่อศาล แต่กลับฟ้องหญิงสาวที่ล่อลวงลูกไปเท่านั้น

ทางครอบครัวยังต้องการเอาผิดคนร้ายอีก ตำรวจโรงพักแรกจึงประสานทางโรงพักที่สองเพื่อขอเลขคดี แต่พบว่ามีข้อตกหล่นจากด้านธุรการคดีนี้เอง จนเวลาล่วงไปร้อยเวรก็ถูกเปลี่ยนมือ

พ.ต.อ.ดร.มานะกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาปริมาณงานสอบสวนเพิ่มมากขึ้นเพราะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่งสำนวนในความรับผิดชอบของตนเองมาให้พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ก็มากถึงหลักหมื่นหลักพันคดี

“ฉะนั้น หากแผนกธุรการคดีได้รับจัดตั้งเป็นระบบจริงๆ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสอบสวนและประชาชนจะได้ประโยชน์จากด้านนี้ ภาพจำที่ตำรวจรับเรื่องร้องทุกข์แบบดุๆ เสียงแข็ง ก็น่าจะเปลี่ยนไป เพราะพวกเขาจะได้รับการแบ่งเบาภาระมากขึ้น ซึ่งก็อยู่ในหลักการและเหตุผลการเสนอภาระงานนี้ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานในแผนกธุรการคดี”

สําหรับโครงสร้างธุรการคดีที่เสนอหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมี 3 รูปแบบที่คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดจากโรงพักและจำนวนคดีอาญาต่อปี โดยมีหลักคือ

1. สถานีตำรวจนครบาลและภูธรเมืองทุกแห่ง ให้มีเจ้าหน้าที่ประจำแผนกรวมไม่เกิน 17 นาย มีหัวหน้าแผนกตำแหน่งสารวัตร รองสารวัตรหรือนายตำรวจสัญญาบัตรที่เลื่อนไหลหลักสูตรอายุ 53 ปี เป็นรองหัวหน้า และเสมียนคดีระดับผู้บังคับหมู่

2. สถานีตำรวจภูธรอำเภอและตำบลที่มีคดีอาญาปีละ 300 คดีขึ้นไป ทั้งแผนกไม่เกิน 7 นาย

และ 3. สถานีตำรวจภูธรตำบลที่มีคดีอาญาปีละ 100 คดีขึ้นไป ไม่เกิน 7 นาย

โดยมีหัวหน้าแผนกตำแหน่งรองสารวัตรหรือนายตำรวจสัญญาบัตร ตามด้วยยศอื่นลดหลั่นลงมา