ธงทอง จันทรางศุ | บ้านเก่า หลังใหญ่ หายใจรวยริน

ธงทอง จันทรางศุ

ประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ เยี่ยมชมบ้านเก่าสี่หลังย่านเชิงสะพานกรุงธน ทางฝั่งพระนคร หรือที่เรียกกันแบบโบราณว่า “ย่านซางฮี้”

มีบ้านของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) บ้านของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บ้านของพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) และหลังสุดท้ายคือตำหนักทิพย์ ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม สกุลเดิมไกรฤกษ์ ผู้เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภและพระยาประเสริฐศุภกิจที่กล่าวนามมาแล้วข้างต้น

ตำหนักทิพย์ปัจจุบันนี้เรียกว่าบ้านซังฮี้และเป็นที่พำนักของท่านอดีตปลัดกระทรวง ศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ กับหม่อมราชวงศ์เบญจาภาฯ ผู้ภริยาและครอบครัว

บ้านแต่ละหลังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ

ผู้เป็นเจ้าของล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญ ในอดีตบ้านทุกหลังมีชีวิตเป็นของตนเอง มีลมหายใจของตนเอง มีท่วงทีลีลาของตนเอง

วันนี้ท่านผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิมได้สิ้นพระชนม์ ถึงแก่อสัญกรรมและถึงแก่อนิจกรรมไปทุกพระองค์ทุกท่านแล้ว

แต่เรื่องราวของตำหนักหรือบ้านเหล่านี้ยังมีมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจ

บ้านหลังหนึ่งมีสถานทูตต่างประเทศมาขอเช่าทำสำนักงาน

บ้านอีกหลังอยู่ในความดูแลของกองทัพบกและกรมศิลปากรเพิ่งเข้ามาดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ ทำให้มีหน้าตาสดชื่นเป็นพิเศษ

ส่วนอีกหลังหนึ่งเปลี่ยนมือไปเป็นของนิติบุคคลอาคารชุด

และบ้านซางฮี้หรือบ้านสุดท้ายยังเป็นบ้านที่มีครอบครัวท่านผู้เป็นเจ้าของพำนักอาศัยอยู่

การได้พบเห็นบ้านทั้งสี่หลังอยู่ในสภาพที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เป็นบ้านเช่า เป็นสำนักงานราชการ เป็นอาคารส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด และเป็นบ้านพักอาศัยที่ยังมีลูกหลานพำนักอาศัยอยู่พร้อมมูล

ทำให้ผมได้คิดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวขยายขนาดใหญ่ของคนไทยที่กำลังลบเลือนไปทุกที

ครอบครัวทุกวันนี้มีขนาดเล็กลงมาก ส่วนใหญ่แล้วก็มีเพียงแค่พ่อแม่ลูก

บางบ้านไม่มีลูกเสียด้วยซ้ำ

จำนวนคนในครัวเรือนลดลงเหลือเพียงแค่สามสี่คนเป็นอย่างสูง ที่อยู่อาศัยจึงมีขนาดเล็กลง

ห้องพักในอาคารชุดที่มีพื้นที่เพียงไม่กี่สิบตารางเมตรก็เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยยุคนี้แล้ว

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูอดีตหนหลัง จะพบว่าครอบครัวของเรามีขนาดใหญ่ มีคนหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ลงมาถึงชั้นลูกที่เป็นผู้ใหญ่

และแต่งงานแล้วมีลูกมีหลานหลายครอบครัวอยู่ร่วมกัน ต่างแบ่งพื้นที่ปลูกเรือนขนาดเล็กหรือแบ่งห้องในเรือนหลังใหญ่เป็นที่พักสุดแต่ความสะดวก

ในบ้านหลังใหญ่นี้จึงมีเด็กเล็กจำนวนมิใช่น้อย เป็นพี่น้องแท้ๆ บ้าง เป็นลูกพี่ลูกน้องบ้าง ครึกครื้นและสนุกสนานเต็มที

หนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่รู้จักบ้านชนิดนี้แล้ว และแทบจะนึกไม่ออกเลยทีเดียวว่าเขาอยู่อาศัยกันได้อย่างไร

ไม่ต้องย้อนกลับไปจนถึงบ้านที่แม่ผมเกิดซึ่งอยู่ที่ตำบลคลองสาน ทางฝั่งธนบุรี ซึ่งแม่เคยเล่าให้ฟังว่าในที่ดินแปลงใหญ่ของผู้เป็นปู่ของแม่ มีคนอยู่อาศัยจำนวนร่วม 100 คน ต้องมีโรงครัวขนาดใหญ่ทำอาหารเลี้ยงกัน ผมเกิดไม่ทันบ้านหลังนี้

แต่เพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมก็เฉียดๆ เข้าไปเต็มทีครับ

ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตในวัยเด็กของผมเมื่ออายุประมาณสามขวบจนถึงหกขวบ ผมและน้องชายอาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งปลูกเรือนหลังเล็กอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ของคุณยาย ซึ่งอยู่ที่ซอยอารี ถนนพหลโยธิน

บ้านหลังนี้เป็นบ้านครึ่งบกครึ่งน้ำ หมายความว่ามีบางส่วนอยู่บนแผ่นดินธรรมดา และมีบางส่วนปลูกลงในบ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนรวม

บ้านที่เป็นประธานหรือเป็นศูนย์กลางจักรวาลเป็นที่อยู่ของคุณยาย

บ้านนี้เป็นอาคารไม้สองชั้นขนาดใหญ่พอสมควร บนเรือนหลังนั้นมีห้องนอนสามสี่ห้อง เป็นของคุณยายห้องหนึ่ง ของน้าสาวและน้าชายอีกคนละหนึ่งห้อง

น้าทั้งสองคนนี้ยังไม่ได้แต่งงาน

ส่วนห้องที่สี่เป็นของครอบครัวคุณลุงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับป้าสะใภ้และลูกอีกสามคน

ปวดหัวหรือยังครับ

ยังไม่จบครับ ไม่ห่างไกลนักจากบ้านหลังใหญ่ มีเรือนชั้นเดียว เป็นที่อยู่อาศัยของคุณป้าพร้อมด้วยลุงเขยและลูกชายสามคน สุดเรือนหลังที่ว่า ยังมีบ้านอีกหลังหนึ่งเป็นบ้านของคุณลุงและคุณป้าสะใภ้อีกหนึ่งครอบครัว พร้อมด้วยลูกชายอีกสามคน

ถ้าลองบวกเลขดูจะพบว่าเพียงแค่ผู้ที่เป็นหลานของคุณยายและอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ก็มีจำนวนถึง 11 คนเข้าไปแล้ว

ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่คุณยายลงมาจนถึงพ่อแม่ของผมและลุงป้าน้าอาทั้งหลาย ก็มีอีก 11 คน

นี่ยังไม่นับบริษัทบริวารทั้งหลายซึ่งมีอีกร่วมสิบคน เป็นอันว่าบ้านหลังนี้มีคนอยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 30 คน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านแต่ละวันจึงสนุกสนานไม่รู้จบ ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์คือวันเสาร์-อาทิตย์ ทุกคนไม่ไปทำงานอยู่กับบ้าน เด็กไม่ต้องไปโรงเรียน มีการนัดรวมพลทำอาหารรับประทานร่วมกัน มีข้าวมันแกงไก่รับประทานกับส้มตำไทย บางทีเด็กๆ ก็กินข้าวมันกับกล้วยน้ำว้า รสชาติอร่อยล้ำยังจำได้จนถึงทุกวันนี้

ถึงฤดูร้อนก็ต้องทำข้าวแช่กินกัน เด็กๆ ได้รับอนุญาตให้ช่วย “ทำผัก” โดยมีผู้ใหญ่ทำให้ดูเป็นต้นแบบ

น้าของผมทำกระเช้าใบเล็กจากแตงกวา เซาะคว้านเอาไส้ออก ทำเป็นกระเช้ามีหูหิ้ว

ในกระเช้าใบน้อยใส่กระชายและมะม่วงชิ้นเล็กแกะสลักเป็นรูปใบไม้ ทุกอย่างขนาดพอดีคำ ใช้เวลาแกะสลักอยู่ครึ่งชั่วโมง ใส่ปากเคี้ยวจบสิ้นภายในเวลาสองนาที

อาจจะเหนื่อยยากแต่สนุกนักหนา

ลักษณะที่เป็นครอบครัวขยายเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวคนไทยเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว

บ้านที่ผมไปเยี่ยมชมมาสามสี่หลังก็อยู่ในลักษณะอย่างนี้

บ้านหลังแรกคือบ้านเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) นอกจากท่านเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงแล้ว เมื่อบุตรสาวคนหนึ่งของท่าน คือท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา แต่งงานกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล คู่สมรสหนุ่มสาวก็ใช้ชีวิตครอบครัวเล็กๆ อยู่ที่ชั้นสองของบ้านหลังนี้ ร่วมชายคากับท่านเจ้าพระยามหิธรผู้เป็นบิดาของท่านผู้หญิง

จนต่อมาภายหลัง หม่อมหลวงปิ่นและท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาจึงแยกครอบครัวไปมีบ้านเรือนเป็นของตนเองอยู่ที่อื่น

บ้านอีกหลังหนึ่งคือบ้านของพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) ผู้นำชมก็ได้แนะนำว่า เมื่อคุณใจรัก ไกรฤกษ์ ผู้เป็นธิดาของท่านเจ้าคุณเจ้าของบ้าน แต่งงานกับหม่อมหลวงสาย สนิทวงศ์ คู่ชีวิตที่เริ่มต้นครอบครัวใหม่

ก็มีห้องพักอยู่ที่ชั้นสองทั้งฝั่งด้านทิศตะวันตกของบ้าน อยู่เป็นเวลานานหลายปี

ก่อนที่จะย้ายไปมีบ้านของตัวเองในเวลาต่อมา

แต่เมื่อบ้านเมืองผันแปรมาจนถึงทุกวันนี้ บ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีครอบครัวขยายอยู่ร่วมกันกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากเสียแล้ว

ผมมานึกดูว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นหนอ

คำตอบที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ ครอบครัวขนาดใหญ่แบบนั้นต้องผู้เป็นประธานที่เปี่ยมด้วยบารมีและเพียบพร้อมด้วยกำลังทรัพย์ พอที่จะประคับประคองทุกคนที่เป็นสมาชิกใหญ่น้อยในครอบครัวให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุก

บ้านหลังใหญ่หลังน้อยต้องการคนดูแลรักษา ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด

อีกทั้งลูกหลานสมัยนี้ก็เป็นคนที่มีลีลาของชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความเป็นอิสระ มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ถ้าเขาพอมีกำลังก็อยากจะแยกไปมีครัวเรือนของตัวเองต่างหาก จะทำอะไรก็สบายใจเฉิบ ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังมากมายอย่างเวลาอยู่ร่วมกันหลายครอบครัว

บ้านขนาดใหญ่ที่มีวิถีชีวิตแบบไทยโบราณอย่างที่ว่าจึงมีจำนวนน้อยถอยลงไปอย่างรวดเร็ว

และบ้านเก่าหลายหลังก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ

ครอบครัวแบบดั้งเดิมหลายครอบครัวมีลูกมาก มีทั้งหญิงทั้งชาย เมื่อผู้เป็นใหญ่เป็นประธานของบ้านสิ้นชีวิตลงแล้ว บ้านก็จบชีวิตลงในเวลาใกล้เคียงกันด้วย

นั่นหมายถึงบ้านจะถูกขายเปลี่ยนมือ เพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท เพราะดูจะเป็นทางออกที่สะดวกสบายและซับซ้อนยุ่งยากน้อยที่สุด

บ้านหลังใหญ่ริมถนนสาทรที่เคยมีจำนวนนับสิบหลัง เหลืออยู่เพียงไม่กี่หลัง

และเปลี่ยนหน้าที่จากการเป็นบ้านอยู่อาศัยของครอบครัวกลางเป็นอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นหมดสิ้นแล้ว

บ้านของคุณยายผมที่ซอยอารี ก็ตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกัน เวลานี้เมื่อผ่านไปหาข้าวกินในย่านซอยอารีซึ่งมีร้านอร่อยอยู่หลายร้าน ผมก็ได้แต่เหลียวมองเข้าไปในซอยเล็กๆ ข้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง

แล้วนึกถึงวันคืนที่เคยวิ่งเล่นอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ภายในซอยนั้นพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องอีกเกือบสิบคน

วันนี้รู้สึกได้ทีเดียวว่า ขณะเขียนหนังสือนี้อารมณ์คนแก่ของตัวเองกำลังพลุ่งพล่าน

ขอได้โปรดอภัยเถิดครับ เพียงแต่ว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องเขียน

เพราะมีคนแก่วัยเดียวกันที่ไปเดินชมบ้านสามสี่หลังดังกล่าว หวนถวิลถึงความหลัง และสั่งความฝากมาให้ทวนอดีตเล่าสู่กันฟังบ้าง

ขอให้เพื่อนร่วมวัยของผมที่นั่งอ่านเรื่องนี้อยู่ในคอนโดมิเนียมที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

จงได้มีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ