ดาราแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิ์ และไม่ผิด ? แต่ทุกการกระทำย่อมมีผลที่ต้องรับ

เป็นอีกครั้งที่ดารา คนดังในสังคมคงได้ครุ่นคิดกันว่า ดารา คนดัง ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน?

เมื่อเกิดดราม่าในสังคมประเด็นการแสดงความเห็นทางการเมืองของ “ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย” นักแสดงดังจากช่อง 3 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบหนักกว่าที่ตัวเขาคาดถึง

ความเห็นทางการเมืองของเขาทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ ส่งผลให้มีการแบนภาพยนตร์ที่เขาแสดงนำ

ความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นต้นเหตุของดราม่าที่ว่านี้ ปั้นจั่นโพสต์เฟซบุ๊กว่า

“คสช.อยู่มา 4-5 ปี บอกสืบทอดอำนาจ ได้อยู่ต่ออีก 3 ปี ก็ยังบอกว่าสืบทอดอำนาจ แล้วไอ้ที่สืบๆ กันมาจนลูกจบนอกขับรถซุปเปอร์คาร์นี่มันยังไง ตรูไม่เห็นจะมีนักการเมืองใช้ชีวิตธรรมดาสักคน ต้นทุนบางคนที่ได้มาพ่อ-แม่ก็เอามาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าบ่นมาก ทำมาหากินไป มีเยอะก็เอาไปช่วยคนอื่นละกัน ทำบุญเยอะๆ ไม่ใช่แดกแต่เหล้าปาร์ตี้มันทุกคืน”

จะบอกว่าบังเอิญโชคร้าย หรือจะบอกว่าปั้นจั่นระวังตัวน้อยไปหน่อย ก็พูดได้ทั้งสองแบบ เมื่อนักแสดงหนุ่มที่โด่งดังจากบทเพื่อนพระเอกกำลังอยู่ในช่วงเวลาก้าวขึ้นสู่คำว่า “พระเอก” ในหนังเรื่อง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” และหนังกำลังจะเข้าฉาย แต่ดันเกิดเรื่องซะก่อน หนังจึงโดนแบน

พร้อมกับโดนกระแหนะกระแหนแบบเจ็บๆ ด้วยการย้อนคำของเจ้าตัวว่า “ไม่ว่าง ต้องทำมาหากิน”

หากดูจากประเภทเนื้อหาของหนัง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” ที่เป็นหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ ฟีลพ่อแง่แม่งอน น่ารัก สนุก อารมณ์ดี (เห็นตัวอย่างแล้วทำให้นึกถึงเรื่อง “ATM เออรัก เออเร่อ” ซึ่งติดอันดับหนังไทยทำเงินเรื่องหนึ่ง) เป็นแนวทางหนังที่คนไทยน่าจะดูกันไม่น้อย

แต่เมื่อพระเอกดันมามีประเด็น จึงกระทบกันหมด

หนังทำรายได้จากการเข้าฉายในช่วงสุดสัปดาห์แรกได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับหนังแนวนี้ที่มีพระเอก-นางเอกชื่อดังด้วย

หลังจากมีกระแสแอนตี้มาระยะสั้นๆ ก่อนถึงวันที่หนังจะเข้าฉาย ในงานฉายหนังรอบสื่อมวลชน ปั้นจั่นได้ขอโทษที่ทำให้ทีมงานทำหนังต้องเดือดร้อน

แต่ไม่ได้ขอโทษที่ตัวเองแสดงความเห็นนั้นหรือมีจุดยืนอยู่ฝั่งนั้น

อีกกรณีน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่เกิดผลขั้วตรงข้าม มีคนดังในวงการบันเทิงอีกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นทางการเมืองและได้รับคำชื่นชมจากคนในสังคม คือดีเจอั๋น-ภูวนาท คุนผลิน ที่โพสต์ภาพ ครม.ยุคทักษิณ กับ ครม.ยุคต่อต้านทักษิณ (ว่าที่ ครม.ใหม่) ซึ่งเป็นคนคนเดียวกัน พร้อมกับแคปชั่นว่า “โบราณท่านว่า อยุธยาไม่สิ้นคนดี แต่ทำไมกรุงรัตนโกสินทร์ศรีนั้นคล้ายจะไม่มีวะครับ”

แล้วเมื่อมีผู้เห็นต่างมาแสดงความคิดเห็น ดีเจอั๋นก็ตอบกลับคอมเมนต์นั้นอย่างมีหลักการและเหตุผล

จึงได้รับคำชื่นชมจากสื่อมวลชนและคนที่เห็นโพสต์นั้น

ออกจากประเด็นในบ้านเรา ไปดูประเด็นที่ฮ่องกงในช่วงเวลาใกล้ๆ กันก็มีประเด็นที่ชาวฮ่องกงไม่พอใจโยชิกิ (Yoshiki) มือกลองวง X-JAPAN ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกชาวญี่ปุ่น

เหตุจากโยชิกิไปกินข้าวกับเฉินหลงแล้วโพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมว่า wonderful dinner with Jackie Chan

ซึ่งเฉินหลงนั้นเป็นคนดังที่ชาวฮ่องกงแบนมานานหลายปีแล้ว ด้วยเหตุผลว่าเฉินหลงมีแนวคิดทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ถึงขนาดได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีนอย่างเป็นทางการ

กรณีนี้ โยชิกิไม่ได้แสดงความเห็นทางการเมืองแต่อย่างใด แต่การแสดงออกว่าเป็นมิตรกับคนบางคนนั้นก็ถูกมองว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองได้ ชาวฮ่องกงจึงบุกถล่มโยชิกิทางโซเชียลมีเดีย

ต่อมาโยชิกิออกมาขอโทษที่ทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจ แต่เขาไม่ได้ขอโทษที่คบค้าสมาคมและไปกินข้าวกับเฉินหลง คล้ายกันกับที่ปั้นจั่นขอโทษทีมงานหนังที่ทำให้ได้รับผลกระทบทางลบ แต่ไม่ได้ขอโทษที่พูดเรื่องการเมือง

นั่นแสดงว่าทั้งสองคนชัดเจนและมั่นใจในสิ่งที่ทำไป

กับคำถามที่ว่า ดารา คนดัง แสดงความเห็นทางการเมืองได้หรือไม่ แสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน?

เป็นคำถามคลาสสิคในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่ว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา

เมื่อไหร่ที่ดารา นักร้อง นักดนตรีพูดเรื่องการเมืองก็ยังโดนฝั่งตรงข้ามตอบโต้ว่า “เป็นดาราก็อยู่ส่วนดาราเถอะ อย่ามาพูดเรื่องการเมืองเลย”

แต่ก็จะมีฝั่งสนับสนุนคนดังจะมาช่วยโต้ว่า ดารา-คนดังก็มีสิทธิ์พูดเรื่องการเมืองได้เหมือนทุกคน หรือไม่ก็โต้แบบสนับสนุนเนื้อหาที่คนดังคนนั้นพูด

ถ้าจะหาคำตอบว่า ดารา คนดัง แสดงความเห็นทางการเมืองได้หรือไม่ แสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน?

อันดับแรก ต้องมองอย่างให้ความยุติธรรมกับทุกคนว่า ดารา คนดัง ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

ตามหลัก-ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) และเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech)

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดารา คนดัง มีสิทธิ์เหมือนทุกคน จึงไม่ผิดเลยที่ดารา นักดนตรี คนดัง หรือใครก็ตามจะแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน หรือมีท่าทีเลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็ควรตระหนักไว้เสมอว่า ทุกการกระทำย่อมมีผลตามมา อันนี้เป็นหลักเหตุและผลง่ายๆ ที่รับรู้กันทั่วไป ดังสุภาษิตที่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

ดังนั้น เมื่อตัดสินใจทำสิ่งใดลงไปแล้ว แปลว่าคุณตัดสินใจที่จะรับผลของมันแล้ว

อันดับต่อมา ต้องมองตามความเป็นจริงว่า ดารา คนดัง มีสถานะทางสังคมที่ไม่ได้เป็น “มนุษย์ธรรมดา” แต่มีความเป็น “คนพิเศษ” ที่ได้รับการยกสถานะความพิเศษนั้นมาจากประชาชน จะพิเศษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความนิยม

เมื่อดารา คนดัง เป็นคนที่จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากคนจำนวนมาก ดังนั้น หากไม่อยากสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนในสังคม จึงต้องระวังตัวไม่ทำอะไรทำร้ายความรู้สึกของสังคมหรือทำให้สังคมไม่พอใจ ต้องพยายามเซ็นเซอร์ตัวเอง งดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือแสดงความเห็นอย่างระมัดระวัง เพราะการลงโทษทางสังคมนั้นมีอยู่เสมอในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมที่เจริญแล้ว

กรณีการแสดงความเห็นทางการเมืองของปั้นจั่นและการแสดงความเห็นทางการเมืองของดีเจอั๋น สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า สังคมให้สิทธิเสรีภาพ ไม่ได้ห้าม-ไม่ได้มีปัญหากับการที่ดาราและคนดังแสดงความเห็นทางการเมือง แต่มีปัญหากับเนื้อหาสาระของความเห็นที่แสดงออกมา ความเห็นของคนดังที่สังคมเห็นว่าไม่เข้าท่าจึงได้รับปฏิกิริยาตอบกลับแบบหนึ่ง

ส่วนความเห็นของคนดังที่สังคมเห็นว่าเข้าท่านั้นก็ได้รับปฏิกิริยาตอบกลับอีกแบบหนึ่ง

คำตอบของคำถามที่ว่า ดารา คนดัง แสดงความเห็นทางการเมืองได้ไหม ได้มากน้อยแค่ไหน? จึงไม่สามารถตอบได้ด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าพูดเรื่องสิทธิ แน่นอนว่า “ได้” แต่ได้มากหรือน้อยแค่ไหนนั้นอยู่ที่วิจารณญาณของคนดังแต่ละคนเองว่าคุณพร้อมรับผลที่ตามมามากหรือน้อยแค่ไหน

ถ้าพร้อมรับผลเสียอย่างเต็มที่ ก็แสดงออกเต็มที่ได้เลย