ทำไม ? หญ้าคาแยกไม่ออกจากประเพณี-วัฒนธรรม ของ “คนล้านนา” ?

อ่านว่าหย้า-คา

หมายถึงหญ้าคาซึ่งเป็นวัชพืชที่พบในที่รกร้าง กำจัดยากมาก เนื่องจากมีลำต้นใต้ดิน และสามารถแพร่กระจายได้ทั้งแบบอาศัยเพศ โดยผลปลิวตามลม และแบบไม่อาศัยเพศจากลำต้นใต้ดินที่งอกยาวและแตกแขนงถึงไหนก็งอกต้นใหม่ขึ้นมา

เราจึงมักพบหญ้าคาขึ้นเป็นทุ่งกว้าง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Imperata cylindrica Beauv.

หญ้าคาเป็นสมาชิกในวงศ์เดียวกับข้าว คือ GRAMINEAE(POACEAE) ภาษาอังกฤษเรียก Cogongrass หรือ Thatch grass

ลักษณะเป็นหญ้าอายุหลายปี ลำต้นเป็นไหลใต้ดิน เป็นเส้นสีขาวค่อนข้างกลม เห็นข้อปล้องชัดเจน ใบรูปแถบยาว ขอบใบคมปลายแหลม กอตั้งตรง สูง 40-150 ซ.ม. ดอกช่อทรงกระบอกแคบ เมื่อติดผล มีขนสีขาวเป็นประกายคล้ายไหมติดที่ปลายผล ช่วยให้ผลปลิวตามลมและกระจายพันธุ์

เครื่องยาจากหญ้าคาที่เรียกว่า “รากหญ้าคา” หากแท้จริงเป็นส่วนของลำต้นใต้ดินหรือไหล เพราะมีข้อปล้องให้เห็นชัดเจน ส่วนที่ใช้เป็นยาจึงเป็นส่วนลำต้นไม่ใช่ราก เพียงแต่ได้มาจากใต้ดิน

คนสมัยก่อนจึงเรียกว่ารากหญ้าคา

สรรพคุณทางยา รสยา มีรสหวานเย็นแก้ร้อนใน ดับอาการกระหายน้ำ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่น ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย และลดความดันโลหิต

วิธีใช้แก้อาการขัดเบา ใช้รากสดหรือแห้ง วันละ 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม แห้ง 10-15 กรัม) ต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ถ้วยชา (75 ม.ล.)

ในตำรายาพื้นบ้านล้านนา มีการใช้หญ้าคาในตำรับยาหลายขนาน

อาทิ ยาสันนิบาต ยามะเร็งคุด ยาผีเครือ ยาแก้กินผิด ยาขางพากหลวง

ตํานานของหญ้าคาสำหรับคนล้านนาเล่ากันไว้หลายเรื่อง เช่น

พระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ตรัสรู้บนบัลลังก์หญ้าคาที่มีผู้นำไปถวาย

สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ก่อนจะบรรลุโพธิญาณ ทรงสุบินว่ามีหญ้าคางอกออกมาจากพระนาภี แล้วขึ้นสูงไปหลายโยชน์ ทรงทำนายฝันว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์จะออกโปรดไม่แต่เพียงมนุษย์ แต่ยังโปรดเหล่าเทวดา อินทร์ พรหมด้วย

ในตำราของฮินดูเกี่ยวกับครุฑ กล่าวว่า ครุฑไปขโมยน้ำอมฤตของพระอินทร์ เพื่อจะเอาไปไถ่มารดาจากความเป็นทาส แล้วทำน้ำอมฤตหยดใส่หญ้าคา 2-3 หยด เมื่อพวกนาคและงูเห็นดังนั้นจึงไปแย่งกันเลียกินน้ำ งูถูกใบหญ้าคาบาดลิ้น จึงมีลิ้นเป็นสองแฉก

ผลจากน้ำอมฤตยังทำให้หญ้าคาเป็นอมตะ ฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่สิ้น

ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น คนล้านนาก็เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป ถือว่าหญ้าคาเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ และใช้หญ้าคาในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ในทางพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโบราณ ใช้กำหญ้าคาในการประพรมน้ำพระพุทธมนต์โดยจะใช้ก้านหญ้าคาจำนวน 108 ก้าน

พราหมณ์ใช้หญ้าคาปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้หนังราชสีห์ การใช้หญ้าคาถักเป็นสังวาลพรามณ์ ใช้ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงในวันบรมราชาภิเษก เพื่อให้เป็นเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติว่าทรงอยู่ในเพศที่บริสุทธิ์แล้ว และใช้ถักปนกับสายสิญจน์ โยงรอบพระมหามณเฑียรระหว่างประกอบพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร

คนล้านนามักจะเอาหญ้าคาสดมาฟั่นเชือกตาเขียว ใช้ผูกแขวนเฉลวในพิธีสืบชาตาหมู่บ้านในพิธีสืบชาตาหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยเชื่อว่าหญ้าคาจะช่วยป้องกันอันตรายทั้งปวง

ในชีวิตประจำวัน คนล้านนาใช้หญ้าคามากรองเป็นตับคา ใช้มุงหลังคา ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี และใช้เป็นวัสดุคลุมดินรักษาความชื้นบนแปลงผัก

สำหรับคนล้านนาแล้ว นับว่าหญ้าคาแยกไม่ออกจากวัฒนธรรม ประเพณี วัตรปฏิบัติทางศาสนา พิธีกรรมความเชื่อ ตลอดจนวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน