ปิยบุตร ชี้ คดีหุ้นสื่อ“ธนาธร” เร็วผิดปกติ ลั่น ถ้าพปชร.ใช้ช่องขอศาลไต่สวน อนค.ก็เอาด้วย

“ปิยบุตร” กางไทม์ไลน์เทียบ 4 กรณีปมหุ้นสื่อ ชี้ กรณี “ธนาธร” เร็วผิดปกติ เหน็บบรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ตรงไหน ย้ำ กรณี “ธนาธร” ต่างกับ 41 ส.ส.จริง เพราะโอนหุ้นก่อนวันที่ 8 ม.ค. ลั่น หาก “พลังประชารัฐ” ใช้ช่องขอศาลรธน.ไต่สวนได้ “อนาคตใหม่”จะเอาด้วย

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่พรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) แถลงข่าวถึงมาตรฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี 41 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อ ว่า ตั้งแต่ปี 2562 แนวทางการตัดสินของศาล มี 2 กรณี ได้แก่ 1.เกณฑ์การพิจารณาว่ามีการถือหุ้นสื่อจริงหรือไม่ 2.กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยกรณีแรก มีคำพิพากษา 2 คดีหลักๆ ได้แก่ กรณีของนายภูเบศร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และกรณีนายคมสันต์ ศรีวนิชย์ ผู้สมัครส.ส.พรรคประชาชาติ ซึ่งวางแนวทางไว้แล้วว่า พิจารณาจากหนังสือบริคนห์สนธิ หากมีวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งที่ระบุว่า เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ถือว่าคนนั้นทำบริษัทสื่อจริง โดยไม่ได้ดูว่าเขาประกอบกิจการจริงหรือไม่ แต่ดูจากวัตถุประสงค์เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 ท่านก็ถูกพิพากษาว่ามีลักษณะต้องห้ามจนถูกตัดสิทธิ นี่เป็นแนวบรรทัดฐานกรณีแรก

นายปิยบุตรกล่าวว่า กรณีต่อมา คือการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งเกิดกับนายธนาธร หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำสั่งของศาลระบุว่า มีเหตุอันควรสงสัย และหากปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเกิดปัญหาทางกฎหมาย จนเป็นอุปสรรคในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองกรณีทำให้เราต้องมาไล่กันว่า กรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น จะยึดบรรทัดฐานแบบไหน ทั้งนี้ มี 4 กรณีที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ 1.กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2.กรณีอดีต 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 3.กรณีของนายธนาธร และ 4.กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกรณีนายดอนนั้น กกต.มีการยื่นคำร้องในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ใช้เวลาพิจารณา 386 วัน ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาว่าจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดอีก 70 วัน และสุดท้าย ศาลมีคำวินิจฉัยว่านายดอนไม่ผิด ส่วนกรณี 4 รัฐมนตรี มีการยื่นคำร้องต่อกกต.ในวันที่ 23 มกราคม 2561 ใช้เวลา 355 วัน ถึงส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาอีก 75 วัน วินิจฉัยว่าไม่ต้องหยุด และจนถึงตอนนี้ก็ยังรอคำวินิจฉัยอยู่ว่าผิดหรือไม่ 3.กรณีนายธนาธร มีการยื่นคำร้องต่อกกต.ในวันที่ 25 มีนาคม 2562 กกต. ใช้เวลา 51 วัน ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 7 วันพิจารณารับคำร้อง และมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว

“ด้วยเหตุบังเอิญเป็นอย่างยิ่ง สั่งให้หยุดในวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งในวันที่ 24 พฤษภาคมเป็นวันเปิดสภา และวันที่ 25 พฤษภาคมเป็นวันประชุมสภาครั้งแรก ส่วนกรณี 41 ส.ส. นั้น ได้มีการยื่นเรื่องในวันที่ 4 มิถุนายนให้ประธานสภา ประธานสภาใช้เวลา 8 วัน ก่อนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ตอนนี้ก็ยังรอคำตอบอยู่ว่า ศาลมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่ จนถึงวันนี้ผ่านไป 9 วันแล้ว ผมก็ไม่ทราบว่าจะใช้บรรทัดฐานแบบใดกันแน่ ในเมื่อข้อเท็จจริงคล้ายกันทั้ง 4 กรณี เหตุใดกรณีของนายธนาธรจึงเร็วผิดปกติ” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโต้แย้งกันว่า กรณีของนายธนาธรนั้นต่างกับกรณีอื่น ตนต้องเรียนว่า การถือหุ้นสื่อของนายธนาธร เมื่อเทียบกับกรณี 41 ส.ส. นั้นไม่เหมือนกันจริงๆ เพราะนายธนาธรโอนหุ้นหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ทำให้ไม่มีหุ้นสื่ออยู่ในมือ แต่กรณี 41 ส.ส.นั้น ยังคงมีหุ้นอยู่หลังวันที่ 8 มกราคมไปแล้วอย่างชัดเจน โดยไม่ได้มีการถกเถียงกันด้วยซ้ำว่าถือหุ้นอยู่จริงหรือไม่ แต่พยายามบอกว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้ทำสื่อ ซึ่งตนอยากถามถึงกรณีนายภูเบศร์และนายคมสันต์ ว่าตกลงประเทศนี้จะเอามาตรฐานแบบไหนกันแน่ หากยึดเอาตามมาตรฐานของศาลฎีกา อย่างไรเสีย ก็ต้องวินิจฉัยว่าอยู่ในลักษณะต้องห้าม นอกจากนี้ มีการโต้แย้งกันอีกว่า กรณีของนายธนาธรที่ใช้เวลา 7 วัน เพราะเป็นการส่งคำร้องไปโดยกกต. แต่กรณี 41 ส.ส. เป็นการเข้าชื่อกันของส.ส. ซึ่งตนต้องเรียนว่า กรณีของนายธนาธร กกต.ไปเอามาจากคำร้องของนายคนหนึ่ง ที่คัดลอกมาจากข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง โดยพิจารณาดูเพียงเอกสาร บอจ.5 และหนังสือบริคนห์สนธิ โดยไม่ได้ไต่สวนให้ละเอียด นอกจากนี้ คณะกรรมการไต่สวนของกกต. ยังไต่สวนไม่จบ แต่กกต.ทั้ง 7 คนกลับมีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากจะบอกว่า กกต. ตรวจสอบละเอียดนั้น ไม่น่าใช่ เพราะขณะที่กรณี 41 ส.ส. เราได้ค้นไปถึงว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นอยู่จริง มีพยานหลักฐานชัดเจนทั้งหมด หรืออย่าง กรณีนายคมสันต์ และนายภูเบศวร์ ทางกกต.ก็ไม่ได้เรียกทั้ง 2 คนไปให้ข้อมูลใดๆ แต่ส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งตัดสินเลย เมื่อนำมาเทียบเคียงกันดูกับกรณีของนายดอน และ 4 รัฐมนตรี ใช้เวลาเกือบปีในการตรวจสอบ พอไปถึงศาลยังใช้เวลาอีก 2 เดือนเศษ ก่อนจะบอกว่าไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้น จึงไม่เกี่ยวว่าผู้ร้องเป็น ส.ส. เข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภา หรือเป็นประชาชนที่ร้องไปยัง กกต.

นายปิยบุตรกล่าวว่า ส่วนกรณี 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ระบุว่าสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะพวกเขากำลังปฏิบัติเรื่องสำคัญอยู่ ตนต้องชี้แจงว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ระบุว่าหากให้นายธนาธรปฏิบัติหน้าที่ต่อ จะก่อให้เกิดปัญหาในสภา เนื่องจากเป็นการปฏิบัติภารกิจสำคัญ แต่ 27 ส.ส.กลับบอกว่า พวกเขากำลังทำหน้าที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ปล่อยให้พวกเขาทำหน้าที่เถอะ แล้วสุดท้ายมาตรฐานอยู่ตรงไหน หากเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ก็ต้องหยุด ไม่อย่างนั้นก็ยิ่งเสียหาย เพราะทั้ง 27 ท่านอยู่ในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีได้เลย หากใช้มาตรฐานเดียวกัน กรณี 41 ส.ส. ต้องได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า เราไม่ได้มีอำนาจไปแทรกแซงการทำงานของศาล ศาลมีอำนาจพิจารณา แต่เราก็มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่อย่างน้อยต้องกระทุ้งเตือนให้สังคมเห็นว่าทำไมเรื่องที่คล้ายกันถึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน

“ผมเรียนว่า เราไม่ได้ตั้งคำถามต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย เพียงแต่ขอให้มีมาตรฐานต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันก็ต้องได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องตั้งอยู่บนศรัทธาของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่การเขียนกฎหมาย ต่อให้คุณเขียนกฎหมายว่าทุกองค์กรต้องใช้อำนาจด้วยความยุติธรรม ก็ไม่สามารถสร้างกระบวนการยุติธรรมได้” นายปิยบุตรกล่าว

เมื่อถามถึงการรวมคำร้องของ 27 ส.ส.เข้าไปในคราวเดียวกัน ทั้งที่แต่ละกรณีอาจมีการกระทำแตกต่างกัน นายปิยบุตรกล่าวว่า ช่องทางตามมาตรา 82 เวลาเราเข้าชื่อ ต้องใช้ ส.ส. เกิน 1 ใน 10 มาเข้าชื่อ ส่วนทั้งหมดจะแตกต่างกันอย่างไรนั้น ในข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญเหมือนกัน คือเป็นกรณีที่ 1.ส.ส. ถือหุ้นหรือไม่ 2.บริษัทที่ถือหุ้นนั้นทำสื่อหรือไม่ วิธีอธิบายคำร้องที่เราส่งไปยังประธานสภาฯ ก็ชี้แจงรายละเอียดเรียงคน เราไม่ได้เขียนแบบคลุมเครือ

เมื่อถามว่า คำร้องของพรรคพลังประชารัฐอาจเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อชี้ช่องทางออกให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีความกังวลเรื่องนี้หรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตนเคารพวิธีการสู้คดีของแต่ละฝ่าย จะสู้เรื่องหยุมหยิมระหว่างเรื่องหนังสือกับคำร้องก็ไม่เป็นไร แต่มันไม่ส่งผลถึงขั้นยกฟ้อง และขอยืนยันว่าเราได้ทำเป็นคำร้องอย่างครบถ้วน

“ส่วนที่จะขอใช้วิธีการสู้คดีโดยการไต่สวน ทางเราดูกฎหมายแล้วพบว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าท่านทำได้และศาลให้ทำ ผมก็ขอทำบ้างกับกรณีของนายธนาธร” นายปิยบุตรกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายธนาธรขอขยายเวลาเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไปอีก 15 วัน นายปิยบุตร กล่าวว่า ในชั้นการพิจารณาของศาล ถือเป็นชั้นสุดท้ายแล้ว จึงต้องรอบคอบและใช้สิทธิของเราตรวจสอบเอกสารให้แม่น ชัดเจน ครบถ้วน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีไหนหรือไม่ ที่ศาลฎีกามีคำตัดสินไปแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยสร้างบรรทัดฐานใหม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ยังไม่เคยมี คดีนี้ต้องลองจับตาดูว่าจะเป็นอย่างไร

มติชนออนไลน์