มนัส สัตยารักษ์ | น้าหงา อาเนาว์

ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว (พ.ต.อ.) เป็นคนจุดความน่าสนใจของ สุรชัย จันทิมาธร หรือ “หงา คาราวาน” ในการเขียนเรื่องสั้น ผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นผมกับหงาได้รู้จักตัวจริงกันแล้วหรือยัง จำได้แต่ว่าหลังจากฟังการวิเคราะห์วิจารณ์ของพี่กรณ์แล้ว ผมก็หาเรื่องสั้นเรื่องนั้นมาอ่าน

เป็นเรื่องของเด็กในวัยบริสุทธิ์ตามแม่ไป “ทำงาน” ในโรงแรม งานที่แม่ทำนั้นก็คือขายตัวตามอาชีพโสเภณีระดับล่างของสังคมเมือง หลังจากเสร็จสิ้นการ “ทำงาน” แม่ก็ออกจากห้องทำงานมาหาลูกที่ถูกปล่อยไว้ตามลำพัง ผู้ชายที่เป็นลูกค้าเดินผ่านมา ถือวิสาสะจับแก้ม (หรือโอบเอว หรือแตะนม-ผมจำไม่ได้) อย่างเคยชินในฐานะผู้ที่ซื้อกับผู้ขายในตลาดกามารมณ์

คล้อยหลังไปสักครู่ เด็กน้อยพูดกับแม่ว่า “ใครน่ะแม่…ทะลึ่งจัง!”

ผมเล่าตามที่จำได้… ที่หงาเขียนนั้นสร้างจินตนาการได้ราบรื่นและแนบเนียนกว่านี้ แต่ความสำคัญของประเด็นอยู่ที่ว่า ผมรู้สึกสะเทือนใจเช่นเดียวกับที่พี่กรณ์รู้สึก

งานเขียนทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น หรือกวีนิพนธ์ก็ตาม เป็นงานที่โดดเดี่ยว คิดเองเขียนเอง ของใครของมัน คนอื่นจะช่วยได้ก็เพียงช่วยหา “ข้อมูล” มันเป็นงานที่ถูกเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์หรือ creative

ผมเคยพูดถึงตัวเองว่าเป็น “คนนอก” ที่เข้ามาเดินบนเส้นทางนักเขียน และพบว่าในสังคมของนักเขียนนั้นต่างเคารพนับถือในความคิดความอ่านของเพื่อนนักเขียนด้วยกัน และที่ผมเขียนเรื่องสั้นก็ไม่ได้หวังมากไปกว่าความบันเทิงอย่างมีวรรณศิลป์ (ในฐานะที่เป็นนักอ่าน) แรงจูงใจสำคัญของการเขียนน่าจะเหมือนกับศิลปินทั่วไป

หงาพบว่าผมต้องทำอะไรเองทุกอย่างแม้กระทั่งเขียนภาพประกอบและปก ผมเขียนภาพปกโดยสเกตซ์เอาจากภาพถ่ายแล้วนำมา compose ครั้งหนึ่งหงาจับได้ว่าผมลอกหรือเลียนแบบภาพประกอบเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งมาจากพ็อกเก็ตบุ๊กต่างประเทศ ภาพนั้นเป็นภาพของคนพายเรือในคลอง อันเป็นภาพที่คุ้นตาผมมาตั้งแต่ครั้งนั่งเรืออยู่ในคลองของอำเภอระโนด เป็นภาพลายเส้นขาว-ดำอย่างเซลลูเอ็ต

หงาพูดกับผมเพียงว่า “พี่นัสนี่ร้าย…ร้ายจริงๆ” ความหมายก็คือ ผมรู้วิธีเอาตัวรอดเขียนภาพแบบไม่ต้อง creative นั่นเอง หลังจากนั้นเขาก็ช่วยเขียนให้บ้างเมื่ออยากหรือมีจินตนาการ

เมื่อสถานีวิทยุ “เสียงสามยอด” ของกองปราบปราม ทำนิตยสาร “สามยอด” รายเดือน ผมได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการ ผมไม่มีลูกน้องในแผนกที่ผมเป็นรองสารวัตร และผมยังอยู่ในยุคที่เพื่อนตำรวจไม่อยากยุ่งด้วย (ถูกหาว่าเขียนหนังสือด่านาย)

ผมเลือกหงาเป็นผู้ช่วยเพราะเขา “ครบเครื่อง” ทำได้หลายอย่างในตัวคนเดียว เราได้รับความร่วมมือจากนักเขียนและศิลปินคนดังหลายคน เรามีปกด้วยภาพของช่วง มูลพินิจ ประยุทธ ฟักผล ฯฯลฯ มีข้อเขียนของตั๊ก วงศ์รัฐฯ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ประเสริฐ จันดำ วิสา คัญทัพ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนและรักหงา

ผมไม่ได้เป็น “ลูกพี่” ของหงา เราเป็นเพียง “ญาติน้ำหมึก” ซึ่งบังเอิญร่วมทุกข์กันมาในช่วงเวลาหนึ่ง

ความแตกต่างทาง “จุดยืน” ของหงา-ที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 กับผม-นายตำรวจกองปราบปราม ไม่ได้บั่นทอนหรือเปลี่ยนแปลงความรักใคร่ผูกพันกันแต่อย่างใด

ผมรู้จักเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทีหลังหงา ทั้งๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน (ผมแก่กว่าราว 4 ปี) แต่มาสนิทสนมกันมากขึ้นเมื่อไปเป็นสารวัตรใหญ่ สน.คันนายาว เพราะบ้านของอาเนาว์อยู่ริมถนนทางเข้าโรงพัก ตรงข้ามบ้านเป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ชื่อ “ห้องสมุดคุณยาย” เป็นที่อ่านหนังสือ เป็นที่ซ้อมดนตรีของเด็กๆ อีกมุมหนึ่งเป็นครัวทำของกินแปลกๆ อร่อยมากสำหรับผู้ใหญ่

ตำรวจโรงพักคันนายาวกับครอบครัวล้วนเป็นพวกหรือแฟนคลับของอาเนาว์ หรืออีกนัยยะหนึ่งอาเนาว์เป็นพวกของตำรวจ

ผมเห็นว่าอาเนาว์เป็นคนที่มุ่งมั่นทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น ด้วยสารพัดข้อเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทกวี เพลง หรือบทความในคอลัมน์ต่างๆ รวมทั้งการบรรยาย เขาอ้างถึงคำสอนของท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ คนห่างวัดได้อ่านแล้วจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าถ่องแท้ขึ้น

เมื่อครั้งที่ลูกชายของผมพูดเข้าหูผมว่า “ไม่รู้จะนับถือศาสนาอะไรดี?” ผมรู้ว่าเขาบ่นเพราะรำคาญพิธีกรรมของพวกที่ไม่ใช่พุทธแท้ ผมไม่ซักถาม ไม่ชวนโต้เถียง แต่แอบไปกระซิบบอกอาเนาว์ จนกระทั่งมีเวลาหนึ่งที่เหมาะสม อาเนาว์ชวนลูกชายผมคุยด้วย

หลังจากนั้นลูกไม่บ่นถึงความผิดเพี้ยนของคนถือพุทธ ลูกรู้จักซื้อหาหนังสือดีๆ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) มาอ่าน

เมื่ออธิการบดี ม.หาดใหญ่ (ผู้เป็นหลาน) อยากได้เพลงประจำมหาวิทยาลัย ในท่วงทำนองและคำร้องที่ “แตกต่าง” ไปจากเพลงไทยทั่วไป ผมนึกถึงเพลงของ “แพ็ต” จิระไชย ศิวรักษ์ อดีตมือเปียโนของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ซึ่งเคยแต่งเพลงเก็บไว้ โดยไม่คิดจะนำสู่ตลาด เพราะเพลงของแพ็ต “แตกต่าง” กับเพลงในตลาดนั่นเอง

ผมนำทำนองเพลงของแพ็ตไปให้อาเนาว์ใส่คำร้อง อาเนาว์รับทำให้ทันที หลังจากนั้นเราก็ได้เพลงในจังหวะและท่วงทำนองที่แตกต่าง

เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไปหลายเพลง

หลังทำบายพาสหัวใจไม่นาน ผมเกิดอาการปวดเอวร้าวไปถึงขาเพราะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นอาการเดียวกับที่อาเนาว์เคยเป็นและอวดกับผมว่า “ไปพบหมอคนหนึ่งไม่ต้องผ่าตัด” เขาเอ่ยชื่อแพทย์ท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลสมิติเวช ซอยทองหล่อ

หลังจากพยาบาลจากโรงพยาบาลตำรวจได้ฉีดยาบรรเทาอาการปวดจนอาเจียนออกมาแล้ว ผมก็โทรศัพท์ขอชื่อแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวชจากอาเนาว์อีกครั้ง

เมื่อผมเดินทางไปถึงโรงพยาบาลสมิติเวช ฝ่ายระเบียนของโรงพยาบาลแจ้งว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้แจ้งชื่อผมเป็นคนไข้ของนายแพทย์ท่านนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว!

ลองทบทวนความคิดกันดู?… ถ้า สุชาติ สวัสดิ์ศรี “ชวนทะเลาะ” กับนักเขียนคนอื่นใน FB ที่ไม่ใช่น้าหงาหรืออาเนาว์ ซึ่งมี “ความผูกพัน” กับผม ผมจะ unfriend ไหม?…

ผมตอบได้ว่า ก็คงจะ unfriend ด้วยแหละ เพราะในวันเวลาเหล่านั้นผมยังไม่ตระหนักในพิษร้ายของฟังก์ชั่น unfriend ในเฟซบุ๊ก

ประกอบกับก่อนเกษียณอายุ ผมอยู่ในตำแหน่งที่อยู่กลาง “วิวาทะ” ของนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว และผมคงเป็นโรคภูมิแพ้ “วิวาทะ” แม้จะเกษียณอายุมานานแล้วก็ตาม