สุรชาติ บำรุงสุข ฤดูใบไม้ผลิที่ซูดานมาช้า : คลื่นอาหรับสปริงลูกที่สอง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“กระแสประชาธิปไตยที่ปรับเปลี่ยนรัฐบาลส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาและในเอเชียตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ 1980 และในยุโรปตะวันออก และส่วนใหญ่ในอเมริกากลางในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 นั้น ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นกับรัฐอาหรับ การขาดแคลนเสรีภาพเช่นนี้ทำลายการพัฒนามนุษย์ และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความล้าหลังในการพัฒนาการเมือง”

Arab Human Development Report, 2002

ในปี 2010 มีการประชุมของผู้นำสูงสุดของโลกอาหรับ การประชุมนี้จึงเป็นดังการรวม “ผู้นำเผด็จการอาหรับ” ที่จะได้ถ่ายภาพร่วมกัน และแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของพวกเขา

แต่ก็แทบจะไม่มีใครตระหนักว่าการประชุมครั้งนี้อาจจะเป็นการรวมผู้นำเผด็จการครั้งสุดท้าย

เพราะหลังจากการประชุมสิ้นสุดลงไม่นาน ผู้นำเผด็จการของสี่ประเทศได้ถูกโค่นล้มจากปรากฏการณ์การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ ได้แก่ ประธานาธิบดีตูนิเซีย (Zine El Abidine Ben Ali) เป็นรายแรกในช่วงปลายปี 2010

และตามมาด้วยอีกสามประเทศในปี 2011 ประธานาธิบดีเยเมน (Ali Abdullah Saleh) ประธานาธิบดีลิเบีย (Muammar Qaddafi) และประธานาธิบดีอียิปต์ (Hosni Mubarak)

แต่ก็เหลืออีกสองเผด็จการคือ ประธานาธิบดีแอลจีเรีย (Abdelaziz Boutflika) และประธานาธิบดีซูดาน (Omar al-Bashir)

แล้ววันนี้สองเผด็จการก็ถูกโค่นล้มลง…

ภาพถ่ายของหกผู้นำเผด็จการกลายเป็นอดีตไปแล้ว

ระบอบเผด็จการที่แม้จะเข้มแข็งและสามารถอยู่ได้อย่างยาวนานเพียงใด ในที่สุดแล้วจุดจบของผู้นำรัฐบาลในระบอบเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน

นั่นคือการถูกโค่นล้มจากพลังประชาชน

ดังเช่นที่เกิดล่าสุดในซูดาน จนถูกเปรียบว่าเป็นการมาถึงของ “ฤดูใบไม้ผลิ” ครั้งใหม่ของโลกอาหรับ

หลังจากที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี

ระบอบอำนาจนิยมที่คงทน

การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โอกาสที่การลุกขึ้นสู้เช่นนี้จะประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย จนมีการกล่าวเปรียบเทียบว่ารัฐอาหรับมีสภาวะเป็น “รัฐในหลุมดำ” (black-hole states)

หมายถึงการมีรัฐบาลที่มีอำนาจมาก จนสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมทางสังคมให้มีลักษณะหยุดนิ่ง คือไม่มีอะไรที่จะเคลื่อนการเมืองไปข้างหน้าได้ เท่าๆ กับที่ไม่มีอะไรหนีออกไปได้จากระบอบการปกครองนี้

ความเป็นรัฐอำนาจนิยมเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดจากการควบคุมพรรคการเมืองอย่างเข้มงวด และขณะเดียวกันก็จำกัดการมีเสรีภาพในสังคมอย่างเข้มงวดไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น แม้จะมีการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้น แต่ฝ่ายค้านตลอดรวมถึงฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ และมักจะจบลงด้วยการสลายฝูงชน

จนมีคำเรียกรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับว่าเป็น “ระบอบอำนาจนิยมที่คงทน” (durable authoritarianism)

กล่าวคือ แม้การประท้วงชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะเกิดขึ้นมากเท่าใด แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ เช่นที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลในโลกอาหรับยังมีคำประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมทางสังคมและการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน

ดังจะเห็นได้ว่าซีเรียประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ปี 1963 อียิปต์ตั้งแต่ปี 1981 แอลจีเรียตั้งแต่ปี 1992 อิรักตั้งแต่ปี 2004 ปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 2007 และซูดานตั้งแต่ปี 2008 (เว้นในพื้นที่ดาฟูร์มีการประกาศตั้งแต่ปี 2005 อันเป็นผลจากสงคราม)

ซึ่งประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นนี้มีส่วนโดยตรงในการควบคุมการมีและใช้เสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

อีกทั้งการประกาศเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” พร้อมกันนี้ก็เป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลขยายอำนาจทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง

และยังนำไปสู่การระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับใช้ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ

หรือหากมีคำสัญญาในเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า และไม่เคยได้รับการค้ำประกันทางด้านสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด หรือในบางรัฐใช้วิธีการทำให้รัฐธรรมนูญมีความกำกวม

แต่ถ้าต้องตีความ ฝ่ายรัฐบาลก็จะเป็นผู้รับประโยชน์จากการตีความนั้น หรือบางรัฐก็ร่างรัฐธรรมนูญให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์แห่งรัฐ เป็นต้น

การคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมอาหรับมีเครื่องมือสำคัญอีกประการคือ การใช้ศาลพิเศษหรือ “ศาลความมั่นคงแห่งรัฐ” (State Security Courts) ที่ขอบเขตของอำนาจศาลไม่มีความชัดเจน ทิศทางการดำเนินการไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่มีองค์กรใดที่มีอำนาจตรวจสอบ

สิบเอ็ดรัฐอาหรับใช้ศาลนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (บาห์เรน อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน ลิเบีย มอริทาเนีย ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน ซีเรีย ตูนิเซีย เยเมน)

อันส่งผลให้มีการจองจำโดยการใช้อำนาจพิเศษ หรือเป็นการจับกุมคุมขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และทั้งยังมีการทรมานนักโทษอีกด้วย ซึ่งว่าที่จริงก็เป็นลักษณะทั่วไปของระบอบอำนาจนิยมที่พบเห็นได้ทั่วโลก

ซูดานสปริง

การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับซึ่งดูว่าเป็นไปไม่ได้นั้น แต่เมื่อเกิด “อาหรับสปริง” ที่เริ่มขึ้นในตูนิเซียตอนปลายปี 2010

และตามมาด้วยการล้มลงอย่างมีนัยสำคัญของระบอบทหารในอียิปต์ช่วงต้นปี 2011 แล้ว

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยดูจะมีความเป็นจริง มากกว่าจะเป็นเพียงความฝันเช่นในอดีต

ตามมาด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชนอาหรับในสี่ประเทศที่สำคัญคือ บาห์เรน ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน

น่าสนใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประสบความสำเร็จในสี่ประเทศเช่นนี้ กลับเป็นปัจจัยที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองในสามประเทศ (ลิเบีย ซีเรีย เยเมน)

และชัยชนะที่เกิดขึ้น เหลือแต่เพียงความสำเร็จในตูนิเซียเท่านั้นที่ยังเห็นการอยู่รอดของประชาธิปไตย

แต่ในอีกด้านเห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในซูดานและในแอลจีเรีย ในปี 2011 แต่การชุมนุมบนท้องถนนในทั้งสองกรณีไม่ขยายตัว และการประท้วงมีลักษณะที่ค่อนข้างจำกัด และมักจบลงด้วยการสลายม็อบ

ฉะนั้น ผู้ประท้วงในทั้งสองกรณีจึงพยายามเรียนรู้จากบทเรียนของตัวเองและบทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านในโลกอาหรับ การประท้วงจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นระยะๆ

จนผู้นำแอลจีเรียยอมที่จะลงจากอำนาจในเวลาต่อมา (ประธานาธิบดี Boutefika ลาออก)

แต่ผู้นำซูดานยังสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อไป โดยความสนับสนุนของฝ่ายทหาร

หลังจากปี 2011 การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีบาเชียร์ในซูดานยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การนำของพรรคการเมืองและกลุ่มกบฏ เมื่อการต่อสู้ในทิศทางแบบเดิมไม่ประสบความสำเร็จ

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงหันมาเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้วยการขยายการประท้วงไปยังกลุ่มนักศึกษา อันส่งผลให้เกิดผู้นำคนรุ่นใหม่ แทนผู้นำรุ่นเก่าที่มาจากพรรคการเมืองหรือมาจากฝ่ายกบฏ การประท้วงในช่วงต่อมาจึงมีศูนย์กลางอยู่ในมหาวิทยาลัยและในชุมชนของชนชั้นกลาง

เพราะชนชั้นกลางเองเริ่มมีความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองของรัฐบาลมากขึ้น อันเป็นผลโดยตรงจากการตกต่ำและภาวะที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจของประเทศ

แม้การต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมจะไม่ประสบความสำเร็จ นักเคลื่อนไหวและแกนนำหลายคนถูกจับ ถูกคุมขังและทรมาน และบางส่วนตัดสินใจลี้ภัย แต่การประท้วงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในอีกหลายปีถัดมา

การต่อสู้ในปี 2019 มีความแตกต่างออกไป สมาคมวิชาชีพแห่งซูดาน (The Sudanese Professionals Association : SPA) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานอิสระตัดสินใจนำการประท้วง สมาชิกของกลุ่มมาจากหลากหลายสาขาอาชีพและสังกัดกลุ่มการเมืองหลากหลายด้วย

จุดเด่นของสมาคมนี้คือการไม่เป็นองค์กรการเมืองโดยตรง และไม่มีความเป็นอุดมการณ์การเมืองมาก อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมได้ง่าย และพวกเขาอาศัยเงื่อนไขเช่นนี้สร้างเอกภาพในการประท้วง เพราะตระหนักดีว่าเอกภาพเป็นปัจจัยสำคัญของชัยชนะในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ… ขบวนประชาธิปไตยที่ไร้เอกภาพ ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการได้เลย

นอกจากการดึงเอานักศึกษาและชนชั้นกลางเข้าร่วมเป็นพลังแล้ว กลุ่มสตรีเป็นพลังสำคัญอีกส่วนของการต่อสู้ในครั้งนี้

แม้เราจะกล่าวเสมอว่าสังคมอาหรับเป็นโลกของผู้ชาย ไม่ว่าจะมองผ่านครอบครัว สังคม หรือรัฐ จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายเป็นใหญ่

แต่การประท้วงในการเมืองอาหรับปัจจุบันกลับเห็นถึงบทบาทของกลุ่มผู้หญิงที่มากขึ้น

กลุ่มผู้หญิงในซูดานขนานนามตัวเองว่า “แคนดาคัส” (Kandakas) อันเป็นตำแหน่งของราชินีซูดานในยุคโบราณ

การมีบทบาทของกลุ่มสตรีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในโลกอาหรับ ที่สัดส่วนของจำนวนผู้หญิงมีมากขึ้น

อย่างน้อยภาพถ่ายของ Alaa Salah นักเคลื่อนไหวหญิงที่ยืนเด่นบนรถนำการประท้วง และถูกบันทึกไว้โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่ออกไปนั้น ทำให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองของสตรีในโลกอาหรับที่ชัดเจน

มากกว่าจะเชื่อในแบบเดิมว่าผู้หญิงมีบทบาทที่ต้องอยู่ใต้ผู้ชาย

จุดจบเผด็จการ!

ในอีกด้านหนึ่งของการต่อสู้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลเสมอ

ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำมากเท่าใด รัฐบาลก็สูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นเท่านั้น…

เศรษฐกิจถดถอยเท่าใด รัฐบาลก็ยิ่งสูญเสียความสนับสนุนจากประชาชนมากเท่านั้นด้วย

และสภาวะเช่นนี้ในโลกอาหรับยังเห็นได้จากราคาสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาขนมปัง หรือราคาอาหารในตลาด ตลอดรวมถึงราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเช่นกันด้วย ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงเช่นนี้ ใช่ว่าจะกระทบต่อชีวิตของชนชั้นล่างที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้วเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อชีวิตชนชั้นกลางโดยทั่วไปอีกด้วย และปัญหาเช่นนี้มีคำตอบแต่เพียงประการเดียวว่า รัฐบาลเผด็จการไม่มีขีดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศและควรออกไป

เมื่อปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจผนวกเข้ากับความขาดแคลนเสรีภาพแล้ว เสียงเรียกร้องที่ดังมากขึ้นก็พร้อมที่0tออกมาแสดงพลังบนถนน การประท้วงเริ่มจากเมืองอัตบารา (Atbara) ทางภาคเหนือในตอนปลายปี 2018 เมืองนี้เป็นฐานทางการเมืองหลักของประธานาธิบดีบาเชียร์ นักเรียนมัธยมปลายเปิดการประท้วงรัฐบาลจากราคาขนมปังที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่า แล้วจากนี้ไปการประท้วงก็ขยายไปยังหมู่บ้านและเมืองต่างๆ และเมื่อการประท้วงเริ่มขึ้นจากเมืองที่เป็นฐานเสียงหลักของรัฐบาล ก็เท่ากับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เอารัฐบาลแล้ว

ในที่สุดเมื่อผู้นำทหารตัดสินใจชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่สนับสนุนระบอบเดิม เผด็จการซูดานที่ดำรงอยู่นาน 29 ปีได้ด้วยการค้ำประกันจากกองทัพก็เดินมาถึงจุดจบในเดือนเมษายน 2019

มุมมองเปรียบเทียบ

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการล้มเผด็จการซูดานนั้น มีความคล้ายคลึงกับชัยชนะของอาหรับสปริงไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซีย อียิปต์ และแอลจีเรีย ที่สื่อสังคมหรือสื่อใหม่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย

และยังเห็นถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่มีความถนัด (หรือความสามารถ) ในการใช้เครื่องมือของสื่อใหม่ให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับระบอบเก่า

ดังที่นักเคลื่อนไหวชาวแอลจีเรียสรุปว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อนั้น ทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบในการใช้เครื่องมือนี้

แต่ที่ซูดานมีความแตกต่างออกไป เพราะนักเคลื่อนไหวต้องระวังเรื่อง “ความมั่นคงดิจิตอล” (digital security) เช่น รัฐบาลพยายามแทรกแซงและควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ต หรือพวกเขาถูกเตือนว่า “อ่านแล้วลบ” หรือให้ใช้ “วีพีเอ็น” (virtual private network) เพื่อป้องกันการติดตามทางไซเบอร์ เป็นต้น

เมื่อผู้นำทหารตัดสินใจเข้าแทรกแซงด้วยการควบคุมประธานาธิบดี ทำให้เกิดความกังวลว่าการเปลี่ยนผ่านอาจอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร แต่เหล่านักเคลื่อนไหวตระหนักดีว่า พวกเขาจะต้องไม่เดินย้อนรอยอียิปต์ ที่จบลงด้วยการรัฐประหารในปี 2013

ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามผลักดันการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน และยอมรับว่ารัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่านจะรวมทุกกลุ่มการเมืองเข้ามา ซึ่งรวมกองทัพด้วย แต่พวกเขาก็มีความชัดเจนว่า กองทัพจะไม่ใช่ผู้นำในการเมืองชุดนี้

แม้ฤดูใบไม้ผลิที่ซูดานจะมาช้า (Late Arab Spring) แต่อย่างน้อยเราก็มีโอกาสเห็นฤดูใบไม้ผลิเกิดขึ้นอีกครั้งในโลกอาหรับอย่างน่าชื่นชม ในขณะที่ฤดูหนาวในไทยยังไม่ผ่านพ้นเสียที!