นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความฝันบรรลุได้ต้องตื่นก่อน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผลการสอบ “พีซ่า” ของนักเรียนไทยในคราวนี้สร้างความตระหนกให้แก่คนไทยพอสมควร ผมจึงอยากปลอบใจว่าอย่าตกใจเสียใจไปเลยครับ ผลการสอบของนักเรียนไทยถึงเคยดีกว่านี้ ก็อยู่ในขั้นแย่มาตลอด เราจึงเพียงแต่แย่ลงในขั้นแย่ๆ เท่านั้น

ผมได้ยินนักการศึกษาบางท่านให้ความเห็นว่า เด็กไทยถูกบังคับให้เรียนหลายวิชาเกินไป ใครเป็นใหญ่ขึ้นมาก็มักบังคับให้เด็กไทยต้องเรียนโน่นเรียนนี่ที่ตัวคิดว่าสำคัญ จนมีวิชาพอกหางหลักสูตรเต็มไปหมด

อันที่จริงความรู้นั้นแบ่งออกเป็น “วิชา” ไม่ได้ เพราะมันเชื่อมโยงกันและทุกเรื่องย่อมมีมิติที่มากกว่าหนึ่งเสมอ (การดูดกันของขั้วแม่เหล็กที่ต่างกัน เอาไปผลิตไฟฟ้าก็ได้ ผลิตชิ้นงานศิลปะก็ได้) แต่สมัยหนึ่ง เมื่อเริ่มการศึกษาแผนใหม่ขึ้น นักการศึกษา (ฝรั่ง) สมัยนั้นคิดว่า แบ่งความรู้ออกเป็น “วิชา” หลักๆ แล้วสอนเด็กทั้งหมด ก็จะทำให้ได้ความรู้ที่เป็นองค์รวมมาเอง

คล้ายกับนักภาษาศาสตร์ล่ะครับ ให้บรรยายว่าภาษา ก.ไก่ เป็นอย่างไร ก็ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร จึงแบ่งภาษาออกเป็นส่วนๆ เช่น เสียง, ความสัมพันธ์ระหว่างคำ, ความหมาย, ฯลฯ แล้วก็บอกว่าภาษา ก.ไก่ คือส่วนๆ ต่อไปนี้ แต่ที่จริงรู้ส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็ใช้ภาษานั้นไม่ได้

 

สามหมวดของความรู้ที่พีซ่าใช้เพื่อทดสอบเด็กก็เหมือนกันครับ คือไม่ใช่ “วิชา” สามวิชา แต่เป็นมิติสามด้านของความรู้ต่างหาก วิทยาศาสตร์สอนวิธีคิดที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ วิธีคิดอย่างนี้มีประโยชน์เพราะเป็นพื้นฐานการคิดของความรู้และประสบการณ์สมัยใหม่ทั้งหมด เช่น ใครบอกว่าน้ำจากภาคกลางไหลไปท่วมภาคใต้ เราก็ได้แต่ยิ้มด้วยความสมเพช เพราะมันขัดกับความเป็นไปได้ของภูมิประเทศ

ความสามารถในการอ่านก็ไม่ใช่อ่านคล่องเพียงอย่างเดียว แต่เพราะการอ่านเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการหาความรู้ แม้ในโลกดิจิตอลปัจจุบัน ความสามารถด้านนี้จึงหมายถึงศักยภาพที่จะมีข้อมูลและความคิดเห็นที่ประมวลมาในเรื่องที่อยากรู้ได้กว้างขวาง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการจะมีความรู้ ไม่ว่าเรียนสำเร็จถึงชั้นไหนก็ตาม

เด็กไทยส่วนใหญ่อ่านคล่อง แต่จับประเด็นไม่เป็น จึงทำคะแนนด้านนี้ให้ได้ดีในการสอบไม่ได้ ไม่ใช่อ่านน้อยอย่างเดียว แต่อ่านอะไรก็ไม่เกินแบบเรียนเร็ว คือไม่มีประเด็นให้จับ

ส่วนคณิตศาสตร์ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวกับจำนวน (จริงหรือสมมติ) เสมอไป คณิตศาสตร์สอนวิธีคิดที่เป็นเหตุผล ซึ่งทำได้หลายอย่าง เช่น บวกเลขได้คล่องๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องท่องสูตรคูณ แต่ก็ได้ผลเท่ากัน เอาการคิดแบบคณิตศาสตร์หรือแบบที่มีเหตุผลไปใช้กับอะไรก็ได้ เช่น โจทย์ว่ายึดอำนาจเป็นเผด็จการเพื่อสร้างประชาธิปไตยถาวร เป็นโจทย์ที่พิสูจน์ด้วยเหตุผลได้หรือไม่ เป็นต้น

ดังนั้น อยากสอนประวัติศาสตร์ (แม้แต่เรื่องเขาอัลไต), วรรณคดี, ราชาศัพท์, หรือค่านิยมสิบสองประการ ฯลฯ ก็สอนเลยครับ แต่สอนอย่างไร สอนบนพื้นฐานของมิติการหาความรู้ทั้งสามด้านที่พีซ่าใช้ในการทดสอบ หรือสอนเพื่อให้จำนนต่ออำนาจโดยไม่ต้องใช้เหตุผลและข้อมูลใดๆ

สอนอย่างไรคือประเด็น ส่วนสอนอะไรอยู่นอกประเด็น

ใครที่อ่านถึงตรงนี้และเห็นด้วยกับผม ก็คงนึกออกทันทีว่า การปรับปรุงการศึกษาไทยเพื่อให้เด็กทำได้ดีขึ้นในการทดสอบของพีซ่า ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ ให้เทวดามาเป็น รมต.ศึกษาฯ ก็ทำไม่ได้ ตราบเท่าที่ส่วนหลักๆ ของสังคมไทยไม่พร้อมจะเปลี่ยน

อันที่จริงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนักก็ได้ ใครที่สนใจประวัติการศึกษาก็คงเข้าใจอยู่แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม (จนถึงการเปลี่ยนรูปของสังคม) กำหนดวิธีที่เราจัดการศึกษาอย่างยิ่ง การศึกษาในแบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ ทั้งในโลกและในเมืองไทย ก็ล้วนเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผมยังอยากชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคการจัดการศึกษาที่ “ดี” (ในทัศนะของพีซ่า) ย่อมแฝงอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างไร เพื่อให้เราคิดอะไรให้พ้นจากเทคนิคการสอน ที่คิดว่าไปเที่ยวลอกเลียนสิงคโปร์หรือฟินแลนด์มาแล้วทุกอย่างจะดีเอง เทคนิคการสอนก็สำคัญนะครับ แต่เทคนิคการสอนอะไรก็เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาอะไร เอาเทคนิคของเป้าหมายหนึ่งไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายอีกอย่างหนึ่ง จึงไม่บังเกิดผล

ไม่ใช่ปืนนะครับ ยิงโจรหรือนักบุญได้เท่ากัน (แต่ยิงไกลหรือใกล้ ยังต้องใช้ปืนต่างชนิดกันเลย)

 

แม้เราลอกการศึกษามวลชนและเนื้อหาการศึกษาของฝรั่งมา แต่เรายังยึดถือกระบวนการหาความรู้ในการศึกษาเหมือนการศึกษาทางศาสนาของเรา นั่นคือเรียนรู้ความจริงที่หยุดนิ่งตายตัว เราให้ความสำคัญแก่กระบวนการที่จะทำให้บรรลุความจริงนั้นน้อย (ในศาสนา กระบวนการถูกกำหนดไว้ตายตัวแต่ต้นแล้ว) แต่ในวิทยาการสมัยใหม่ กระบวนการที่จะค้นหาและบรรลุความจริง สำคัญกว่าตัวความจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา

โจทย์คำนวณนั้น มีวิธีที่จะแก้ได้หลายอย่าง แต่ก็ล้วนได้คำตอบเดียวกัน ดังนั้นวิธีแก้โจทย์จึงสำคัญกว่าคำตอบ อันที่จริงได้คำตอบผิด แต่ใช้วิธีการที่น่าสนใจ (แต่บังเอิญใช้ผิดที่) ก็ยังควรสอบได้มากกว่าสอบตก ยิ่งถ้าใช้วิธีที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อนเลย แต่ใส่เลขผิดไปที่หนึ่ง เลยได้คำตอบผิด น่าจะได้ท็อปด้วยซ้ำ แต่เราสอนคณิตศาสตร์ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยเพื่อเอาคำตอบที่ถูกเพียงอย่างเดียว เด็กไทยจึงขาดสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่าประสิทธิภาพในการคิด คือคิดได้หลายทาง มองอะไรทื่อๆ เสียจนถูกเขาหลอกทางการเมืองเรื่อยมา

อันที่จริงพระพุทธศาสนาไทยก็ถูก “ปฏิรูป” หรือเปลี่ยนการตีความ ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในยุโรปเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่ว่า ฝ่าย “ปฏิรูป” ได้อำนาจทางการเมืองเร็วไป ทำให้กระแสความคิดที่ต่อต้านคัดค้าน หรือตีความแข่งในทางอื่นไม่อาจทำได้อย่างเปิดเผยในวงกว้าง ความคิดใดๆ ที่ต้องทำอย่างซ่อนเร้น แอบแฝงหรือซ่อนรูป ย่อมพัฒนาต่อไปได้ยาก

วิธีคิดใหม่ที่ยืนอยู่บนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์, เป็นเหตุผล และรอบรู้ จึงไม่เกิดในสังคมไทย ทุกเรื่องมีคำตอบที่ถูกต้องตายตัวอยู่แล้ว เรียนรู้คำตอบเหล่านั้นได้ก็จบ … แม้ในสังคมอาณานิคม การต่อสู้กันทางความคิดเกี่ยวกับศาสนายังมีชีวิตชีวากว่าในสังคมไทยเสียอีก

 

หากเป้าหมายของการศึกษาคือวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์, มีเหตุผล และรอบรู้ การเรียนไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็คือการต่อยอดความรู้ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนที่หัวสมองว่างเปล่าโดยสิ้นเชิง การเรียนคือการทำให้ความรู้ที่มีอยู่งอกเงยออกไปในแนวที่เป็นวิทยาศาสตร์, มีเหตุผล และรอบรู้นั่นเอง

การเรียนแบบ problem based คือเอาคำถามหรือปัญหาที่เราอยากหาคำตอบเป็นตัวตั้ง จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเรียกร้องความใฝ่ใจได้ตั้งแต่แรก ฝึกให้ค้นคว้าหาข้อมูล ไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทดลองใช้ไปตามความคิดและการวิเคราะห์ของตนเอง ตรวจสอบผลที่ได้รับว่าใช้ได้หรือไม่ จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น เช่น ครู, เพื่อนนักเรียน, หรือคนรอบข้าง

โลกดิจิตอลทำให้ “พี่กู” (เกิล) ช่วยในด้านข้อมูลได้มาก การถามหาข้อมูลกับ “พี่กู” ไม่ใช่ความผิดบกพร่องอะไร และทุกคนควรได้เรียนรู้การค้นหาข้อมูลจาก “พี่กู” ด้วยตนเอง ตั้งแต่อนุบาลเลยด้วยซ้ำ แต่จะจัดการให้ข้อมูลเหล่านั้นกลายเป็นความรู้ของตนเองได้อย่างไรต่างหากที่เป็นเป้าหมายสำคัญกว่า

นักเรียนที่ “ตัดแปะ” ข้อความออนไลน์มาส่งนั้น ไม่ได้ผิดที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นหาข้อมูล แต่ผิดที่ไม่พยายามสร้างความรู้ของตนเองต่างหาก

ผมควรจะย้ำเตือนไว้ด้วยว่า แม้เพียงทำความเข้าใจความคิดที่เกิดจากชุดข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนอื่นได้คิดไว้แล้ว… ไม่ใช่เพียงเข้าใจว่าเขาคิดอะไร แต่เข้าใจด้วยว่า ทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเข้าใจกระบวนการรวบรวม, วิเคราะห์ และหาข้อสรุปในการคิดของเขา… นั่นก็เป็นการสร้างสรรค์ความรู้แล้ว แม้ไม่ใช่การสร้างสรรค์ที่สุดยอด แต่ก็เป็นการสร้างสรรค์แน่ และความรู้ที่ได้มานั้น คือความรู้ของตนเอง

นี่แหละครับ เรียนอย่างไรสำคัญกว่าเรียนอะไร

 

ถึงที่สุดจริงๆ แล้ว มนุษย์เราเรียนรู้ด้วยตนเองเสมอ ครูทำแทนไม่ได้ แต่ในโลกสมัยโบราณที่เข้าถึงข้อมูลได้ยาก, ไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้จริง, ไม่มีช่องทางเข้าสู่อาชีพและการยอมรับของสังคม ครูย่อมมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ ครูจึงเป็นพรหม นอกจากสร้างคนที่ไม่มีความรู้ให้กลายเป็นคนใหม่ที่มีความรู้แล้ว ครูยังสร้างสมาชิกใหม่ในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง โดยการนำศิษย์เข้าสู่วงการ แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว บทบาทส่วนใหญ่ของครูโบราณหมดความจำเป็นไป

ครูก็ยังมีความสำคัญ ไม่ใช่ในฐานะผู้ “สอน” แต่ในฐานะผู้จัดให้กระบวนการเรียนรู้ของศิษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครูดีในการศึกษาปัจจุบันอาจแตกต่างจากครูดีในการศึกษาโบราณหลายอย่าง จนแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสงสัยว่า เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ในเมื่อครูเองก็ยังไม่เคยเรียนรู้ด้วยตนเองมาก่อน มิต้องรื้อการฝึกหัดครูกันใหม่ทั้งหมดหรือ

 

รื้อและปรับปรุงนั้นควรทำแน่ แต่ไม่ถึงกับทั้งหมดหรอกครับ ผมเชื่อว่าครูประจำการในปัจจุบันสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ครูก็เหมือนมนุษย์ทั่วไปนะครับ ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ได้ เช่น หากผู้บริหารรู้จักวางระบบล่อใจให้ครูปรับเปลี่ยนไปในแนวนี้ รวมทั้งสร้างกลไกสนับสนุนให้เปลี่ยนต่างๆ นับตั้งแต่การฝึกอบรม, ไม่ใช้วุฒิการศึกษาเป็นเครื่องส่งเสริมวิทยฐานะของครู แต่ใช้ความสำเร็จในการเรียนรู้ของเด็กเป็นข้อพิสูจน์แทน, ทำให้สังคมผู้ปกครองเข้าใจว่า การศึกษาที่ดีคือการทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น กลายเป็นเงื่อนไขทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยทั้งกดดันและส่งเสริมให้ครูปรับตัวไปสั่งสมความสามารถที่ตรงกับการศึกษาสมัยใหม่ ฯลฯ

แม้เพียงแค่ปฏิรูปการศึกษา ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถยกเอาการศึกษามาปัดฝุ่นและปะผุเป็นชิ้นๆ ที่แยกออกจากส่วนอื่นของสังคมได้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือความล้าหลังไม่ได้อยู่ที่การศึกษาไทยอย่างเดียว แต่อยู่ที่ทุกส่วนของสังคมไทยเลยทีเดียว

ตราบเท่าที่เรายังไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมอย่างจริงจัง การศึกษาจะแปลกปลอมอยู่โดดๆ ในสังคมไปได้อย่างไร

เราควรยอมรับเสียทีว่า การปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น แม้เป็นการกระทำที่ชาญฉลาดในการแก้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ แต่ก็ให้ผลดีบางประการแก่ประเทศด้วย (เช่น หากไม่มีการปฏิรูปเลย เราคงต้องผ่านการนองเลือดไม่น้อย กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่) อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งนั้นตอบโจทย์ในสมัยนั้นได้ แต่ไม่อาจตอบโจทย์ของบ้านเมืองในปัจจุบันได้เสียแล้ว ยิ่งยึดแนวทางอย่างนั้นอย่างไม่ยอมปล่อย ก็ยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ ขมวดปมเข้ามาจนแก้เป็นเปลาะๆ ไม่ได้แล้ว

ถ้าเราฝันถึงบ้านเมืองว่าจะมีอนาคตอันสดใส และรุ่งเรืองเหมือนประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือตื่นเสียที