ยูเอ็นยื่นจม.เตือนถอนสนับสนุน หากพม่าดึงดันใช้นโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติชาวโรฮิงญา

วันที่ 17 มิถุนายน 2562 เว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษรายงานว่า หน่วยงานบรรเทาทุกข์ของยูเอ็นได้ออกมาเตือนรัฐบาลพม่าว่า อาจตัดสินใจถอนการสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลพม่าที่กำลังดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “แบ่งแยกเชื้อชาติ” กับชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยนายคนุต ออสบี้ ผู้ประสานงานด้านที่พักพิงขององค์การสหประชาชาติ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลพม่าว่า ยูเอ็นและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆจะชะลอการตัดสินใจในการสนับสนุนผู้ช่วยเหลือดูแลชีวิตเพิ่มเติมในค่ายสำหรับผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศที่กำลังปิดตัวลงโดยรัฐบาลพม่า ยกเว้นจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขภายหลัง

เนื้อหาในจดหมายซึ่งระบุไว้วันที่ 6 มิถุนายน เขียนว่า นับจากนี้ไป หน่วยงานช่วยเหลือของยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือต่อเมื่อเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าที่จับต้องได้ในประเด็นพื้นฐานของเสรีภาพในการเดินทาง พร้อมระบุว่า รัฐบาลพม่าดำเนินนโยบายที่เสี่ยงในการจัดตั้งหลักแบ่งแยกจากกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะเริ่มปิดค่ายผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศ ซึ่งมีชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวคะมานที่นับถืออิสลาม ถูกบังคับให้อยู่ในสภาพที่เลวร้าย ไม่ถูกสุขลักษณะ อีกทั้งเสรีภาพในการเดินทางยังถูกจำกัดหลังพวกเขาต้องทิ้งบ้านซึ่งถูกทำลายจากเหตุรุนแรงทางศาสนาเมื่อปี 2555

แม้ต่อมารัฐบาลพม่าจะเห็นชอบในการดำเนินตามข้อแนะนำของคณะกรรมการเฉพาะกิจนำโดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นผู้ล่วงลับ ที่เรียกร้องว่าผู้ไร้ที่อยู่จะต้องได้รับบ้านใหม่ด้วยความสมัครใจและจากการปรึกษา ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะใกล้กับที่อยู่เดิมซึ่งเข้าถึงการทำมาหากินได้ อย่างไรก็ตาม รายงานหลายชิ้นของยูเอ็นและหน่วยงานมนุษยธรรมในพื้นที่กลับเปิดสภาพความเป็นจริงที่ถูกปิดซ่อนไว้นั้นคือ สภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญากลับยังคงย่ำแย่และแทบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินทางและเข้าถึงพื้นที่ทำกิน ถูกปฏิเสธเกือบทั้งหมด

ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารของยูเอ็นที่รายงานสถานการณ์ในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้วว่า สถานการณ์เดียวที่ถูกเปิดเผยต่อสายตาเราคือการนำนโยบายการแบ่งแยกเชื้อชาติโดยแยกมุสลิมออกจากกันอย่างถาวรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติในรัฐยะไข่ กลยุทธ์ในปัจจุบันของรัฐบาลพม่าจะถูกทำให้เป็นรูปธรรมและยึดถือระบบการแบ่งแยก ซึ่งจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นไปในอีกหลายปีข้างหน้า

ขณะที่ นายโซ ออง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์และการตั้งถิ่นฐานใหม่ของพม่า ระบุยังไม่ได้รับจดหมายของออสบี้ และยังกล่าวด้วยว่า หน่วยงานของยูเอ็นและหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การกลับคืนสู่พื้นที่ค่ายที่ปิดตัวด้วยความเต็มใจและเพียบพร้อม หน่วยงานของยูเอ็นในพม่าและกระทรวงของเราสื่อสารอย่างใกล้ชิดและเราคุยกันอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับความร่วมมือในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม สันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนา