ต่างประเทศ : กม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จุดปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อจีน!

คลื่นผู้ประท้วงที่ออกมารวมตัวกันครั้งใหญ่ใจกลางเกาะฮ่องกง ศูนย์กลางการเงินแห่งเอเชียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผู้จัดชุมนุมกล่าวอ้างว่ามีผู้ประท้วงมาเข้าร่วมมากกว่า 1 ล้านคน

ซึ่งมากกว่าในช่วงเกิด “ปฏิวัติร่ม” ในปี 2014 เสียอีก

ทั้งนี้ เพื่อแสดงพลังต่อต้าน “ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ที่รัฐบาลภายใต้นางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกำลังผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบในสภานิติบัญญัติ

หากตัวเลขผู้เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวมีจำนวนมากเช่นนั้นจริง ก็ถือเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนเกาะฮ่องกงนับจากถูกส่งคืนอยู่ใต้อาณัติปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยึดนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ”

และยังกำลังแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาสะท้อนกลับของชาวฮ่องกง ที่ไม่เพียงมีต่อรัฐบาลฮ่องกงที่ถูกมองเป็นหุ่นเชิดของจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น

หากแต่ยังส่งสัญญาณต่อต้านอย่างแข็งกร้าวไปถึงรัฐบาลปักกิ่งอีกครั้ง

เหตุเพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้ฝ่ายบริหารเกาะฮ่องกงจะอ้างว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการอุดช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ในการจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ

แต่ในสายตาของฝ่ายต่อต้านมองว่าร่างกฎหมายนี้จะกัดกร่อนความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการของฮ่องกง และยังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับนักเคลื่อนไหวผู้เห็นต่างหรือต่อต้านจีน

ตลอดจนบุคคลที่เป็นที่ต้องการตัวของทางการจีน ให้ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในระบบกระบวนการยุติธรรมของจีนที่ยังคงเป็นที่น่ากังขาของชาวโลก

ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ เป็นประเด็นถกเถียงอย่างดุเดือดนับจากรัฐบาลฮ่องกงเริ่มชงเรื่องนี้ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

หลังจากเกิดคดีวัยรุ่นชาวฮ่องกง วัย 19 ปี ก่อเหตุฆ่าแฟนสาวอายุ 20 ปี ขณะเดินทางไปเที่ยวในไต้หวันแล้วบินหนีกลับมาฮ่องกง

ซึ่งแม้ผู้ก่อเหตุรายนี้จะถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมตัวได้และรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือฆ่าแฟนสาวจริง แต่ทางการฮ่องกงก็ไม่สามารถส่งตัวผู้ก่อเหตุไปดำเนินคดีในไต้หวันได้ เนื่องจากฮ่องกงและไต้หวันไม่มีข้อตกลงหรือทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

รัฐบาลฮ่องกงจึงได้เสนอให้มีการร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้น เพื่อที่จะเปิดทางให้ฮ่องกงสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศที่ไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันได้

ซึ่งนั่นหมายความว่ามีจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และมาเก๊ารวมอยู่ด้วย

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิพากษ์ว่านี่เป็นกลยุทธ์ “ม้าโทรจัน” ที่รัฐบาลฮ่องกงพยายามจะเอาใจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น!

 

หลังจากถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก รัฐบาลฮ่องกงก็ได้เสนอการแก้ไขร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ให้ครอบคลุมความผิดในคดีอาญาร้ายแรง

เช่น การฆาตกรรมและข่มขืน และคดีอาญาที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป โดยที่ยังกำหนดให้ศาลฮ่องกงจะเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้ายเองว่าจะให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามที่มีการร้องขอมาหรือไม่

และยังจะให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป

แต่ทางการฮ่องกงเน้นย้ำให้เห็นอย่างหนักแน่นว่าอำนาจของร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงการพิจารณาส่งตัวผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดคดีทางการเมืองและศาสนาไปยังประเทศอื่นแต่อย่างใด

แต่การประนีประนอมดังกล่าวของทางการฮ่องกงก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีทั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มสิทธิมนุษยชน นักธุรกิจ ทนายความ คนหนุ่มสาว นักเรียน-นักศึกษา ไปจนถึงแม่บ้าน เห็นคล้อยตามด้วยได้

โดยสิ่งที่มีการแสดงความห่วงกังวลกันมากที่สุดดังที่กล่าวมาข้างต้นคือความเป็นอิสระของอำนาจศาลฮ่องกงที่จะถูกจีนเข้ามาแทรกแซง

กลัวการถูกลิดรอนเสรีภาพ และความไม่เชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของจีน ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่ามีการทรมาน การจับกุมตามอำเภอใจ การใช้กำลังบังคับให้สารภาพ

และปัญหาการเข้าถึงทนายความในการต่อสู้คดีในจีน

 

กรณีนักหนังสือพิมพ์ชาวฮ่องกง 5 คนถูกอุ้มหายไปในปี 2015 ก่อนไปปรากฏตัวอยู่ในการควบคุมตัวของทางการจีน หรือข่าวการหายตัวไปของนายเซียว เจี้ยน หัว มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวจีน ขณะพักอยู่ในโรงแรมหรูในฮ่องกงในปี 2017 ซึ่งตามข่าวระบุว่านายเซียวถูกเจ้าหน้าที่จีนอุ้มตัวกลับประเทศไปนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวฮ่องกงผวากลัวต่อการใช้อำนาจมืดเข้าแทรกแซงของจีน

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจุดบรรยากาศความขัดแย้งในฮ่องกงให้ลุกเป็นไฟขึ้นอีกครั้ง ที่ดูท่าจะไม่สงบลงง่ายๆ

ยิ่งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงประกาศกร้าวว่าจะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไป

ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงก็นัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งในกลางสัปดาห์นี้ที่จะมีการยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ

ก็ไม่รู้ว่าปรอทความร้อนทางการเมืองในฮ่องกงจะพุ่งไปถึงระดับไหน

และยิ่งโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกโรงมาส่งเสียงหนุนรัฐบาลฮ่องกงอย่างไม่ยี่หระต่อกระแสต่อต้านของม็อบเรือนล้านแล้ว ก็คงจะต้องจับตาดูพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งนี้กันให้ดี…