สุรชาติ บำรุงสุข | ฤดูใบไม้ผลิที่ซูดาน : แล้วเผด็จการก็ล้มลง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“หลังจากรอคอยการล้มลงของเผด็จการบาเชียร์มาเกือบสามสิบปี ประชาชนชาวซูดานส่วนใหญ่กล่าวว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะต่อสู้จนสุดทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

รายงานข่าวของ “France 24”

ภูมิหลังของระบอบเผด็จการ

ซูดานเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนาน อาจถือว่าการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ เป็นจุดเริ่มต้นของเผด็จการร่วมสมัยของซูดาน การก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 1989 แม้จะเป็นรัฐประหารที่ไร้การนองเลือด แต่ก็คือจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการซูดานปัจจุบัน

และเป็นหนึ่งในเผด็จการแอฟริกาที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน

เมื่อประธานาธิบดีบาเชียร์เริ่มเข้าคุมอำนาจได้แล้ว เขากระทำการในสิ่งที่เผด็จการทั้งหลายทำเสมอมาคือการล้มระบบพรรคการเมืองในปี 1990 และห้ามการมีกิจกรรมของพรรคต่างๆ

และต่อมาในปี 1993 ก็ประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดี แล้วระบอบเผด็จการที่คาร์ทูม (ชื่อเมืองหลวงของซูดาน) ก็ทวีความเข้มแข็งขึ้น และทั้งยังได้รับความสนับสนุนจากกองทัพซูดานด้วย

แม้ในเวลาต่อมาจะมีความพยายามสร้างภาพให้เห็นถึงการแข่งขันทางการเมืองเช่นในประเทศเสรีด้วยการเปิดการเลือกตั้งในปี 1996 แต่เขาก็เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงคนเดียว

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงเครื่องมือใช้เพื่อสร้างภาพให้เกิดความชอบธรรมทางการเมือง แต่ก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นนั้น “ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม”

อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันทั้งจากภายในและภายนอกว่าระบอบการปกครองของบาเชียร์เป็น “เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ” (totalitarian system) โดยพรรคคองเกรสแห่งชาติ (The National Congress Party) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของรัฐบาลจะทำหน้าที่ในการควบคุมสถาบันทั้งสามคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ไม่ใช่การตรวจสอบและถ่วงดุลตามหลักการสากลของวิชารัฐศาสตร์

เพื่อให้อำนาจในการควบคุมของรัฐบาลเผด็จการมีความเข้มแข็ง องค์กรข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ (The National Intelligence and Security Service) จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

หรือองค์กรนี้ทำหน้าที่เป็น “ตำรวจลับ” ในการจัดการกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในปี 2008 ประธานาธิบดีบาเชียร์จะถูกศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) ตั้งข้อหาในความผิดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ (Darfur) อันเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

แต่รัฐบาลซูดานก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และหาทางออกด้วยการระบุว่า ข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของซูดาน และรัฐบาลซูดานไม่จำเป็นต้องยอมรับอำนาจของศาลระหว่างประเทศจากข้อกล่าวหาดังกล่าว

แต่สถานะของรัฐบาลเผด็จการถูกท้าทายอย่างมากจากปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการสูญเสียรายได้น้ำมัน

เมื่อซูดานใต้ได้แยกตัวออกเป็นประเทศเอกราชใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2011

ผลจากการแยกตัวอาจทำให้บ่อน้ำมันดิบ 3 ใน 4 นั้นอยู่ในพื้นที่ของซูดานใต้

การแยกตัวเช่นนี้ทำให้ซูดานเหนือประสบความยากลำบากในทางเศรษฐกิจอย่างมาก อันเป็นผลจากปัญหาการขาดรายได้ของประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ ตลอดรวมถึงปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก

สภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้รัฐบาลเผด็จการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และปัญหาเช่นนี้ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมลงอย่างมาก

แม้รัฐบาลซูดานพยายามออกมาตรการที่สำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2012 ได้แก่ การขึ้นภาษีสินค้าอุปโภคบริโภค การปรับลดจำนวนข้าราชการ การปรับลดเงินเดือนข้าราชการ การขึ้นราคาพลังงาน และรัฐบาลประกาศยกเลิกกองทุนอุดหนุนราคาน้ำมัน

นโยบายดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนมากนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่านโยบายนี้จะทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการเพิ่มของต้นทุนค่าขนส่ง และส่งผลโดยตรงให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นด้วย

การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเช่นนี้คล้ายกับจุดเริ่มต้นความไม่พอใจของผู้คนในโลกอาหรับ ที่นำไปสู่การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจนเป็นปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” เช่นที่เกิดในตูนิเซียและอียิปต์มาแล้ว

ราคาอาหารเป็นหนึ่งในปัญหาพื้นฐานของการต่อต้านรัฐบาลเสมอ

อิทธิพลจากอาหรับสปริง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “กระแสอาหรับสปริง” ที่ก่อตัวจากตูนิเซียในช่วงปลายปี 2010 และตามมาด้วยเหตุการณ์ในอียิปต์ช่วงต้นปี 2011 ได้กลายเป็นกระแสการเมืองชุดสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA)

และกระแสดังกล่าวได้พัดพาความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ซูดานด้วย

แม้กระแสนี้จะมาไม่นานหลังจากการลงประชามติเพื่อแยกซูดานใต้ออกเป็นประเทศเอกราช (ในเดือนมกราคม 2011) ก็ตาม และคล้ายกับกรณีของตูนิเซียที่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้องมาจากการตัดสินใจเผาตัวเองของผู้ประท้วงในวันที่ 17 ธันวาคม 2010

และในวันที่ 23 มกราคม 2011 ผู้ประท้วงในซูดานได้มีการเผาตัวเองเช่นกัน อันเป็นดังจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่

การประท้วงในซูดานเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2011 และไม่แตกต่างกับในหลายๆ ที่ ที่เมื่อการประท้วงรัฐบาลเริ่มก่อตัวขึ้นก็จะตามมาด้วยการปะทะกับตำรวจ กลุ่มผู้ประท้วงในซูดานพยายามที่จะเดินตามบทเรียนความสำเร็จของตูนิเซีย ด้วยการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ และอาศัยสื่อสังคมเป็นเครื่องมือของการต่อสู้

การประท้วงที่เกิดขึ้นที่คาร์ทูมนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับผลของการลงประชามติที่ประชาชนชาวซูดานใต้ร้อยละ 99 ต้องการแยกตัวเองออกเป็นประเทศเอกราช

การประท้วงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และการปะทะกับตำรวจก็เริ่มมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้พวกเขาตะโกนว่า “ตูนิเซีย อียิปต์ ซูดาน ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อบ่งบอกถึงทิศทางที่พวกเขาต้องการ

นอกจากการประท้วงที่เมืองหลวงแล้ว การต่อต้านรัฐบาลเกิดในเมืองอื่นๆ เช่น ที่เมือง Al-Ubayyid นั้น การประท้วงเริ่มขึ้นที่ตลาด และนักศึกษา-ประชาชนได้เข้าร่วมการประท้วงด้วยในหลายเมือง

สภาพเช่นนี้ทำให้การต่อต้านรัฐบาลบาเชียร์ขยายตัวออกไป แม้หลายๆ ฝ่ายอาจจะมองคล้ายกับสถานการณ์ก่อนการล้มรัฐบาลมูบารัคของอียิปต์ว่า แม้จะมีการต่อต้านอย่างไร แต่รัฐบาลยังสามารถอยู่รอดได้ คือเป็น “เผด็จการที่คงทน”

มีการประท้วงตลอดปี 2511 ในซูดาน มีผู้นำนักศึกษาและนักศึกษาหลายคนถูกจับกุมจากการปะทะกับตำรวจ จนเกิดการเรียกร้องให้ขบวนนักศึกษาเข้าร่วมการปฏิวัติกับแนวร่วมปฏิวัติซูดาน (The Sudan Revolutionary Front)

และการประท้วงในช่วงปลายปีทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลจากการขยายตัวของการต่อต้านรัฐบาลทำให้การประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องในอีกหลายปีที่ผ่านมา

การประท้วงไม่ใช่เป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว เช่น การประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในเดือนมิถุนายน 2012 เป็นเรื่องของราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

และการประท้วงที่มีศูนย์กลางกับเรื่องทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวไปสู่เรื่องทางการเมือง เช่น ในช่วงต้นของการประท้วงครั้งนี้ เริ่มด้วยคำขวัญว่า “ไม่เอาราคาสินค้าที่สูงขึ้น” และขยับไปสู่ข้อเรียกร้องว่า “ประชาชนต้องการล้มรัฐบาล”

และการประท้วงขยายไปสู่เมืองต่างๆ ของประเทศ แต่รัฐบาลก็ใช้ตำรวจปราบจลาจลเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ประท้วง แม้รัฐบาลจะสามารถอยู่รอดได้ แต่เสียงเรียกร้องในสังคมให้โค่นล้มรัฐบาลก็ขยายตัวออกไปในวงกว้าง และการประท้วงไม่ได้จำกัดการนำอยู่กับนักศึกษาเท่านั้น และขณะเดียวกันการเสียชีวิตของนักศึกษาจากการประท้วงนี้เริ่มปรากฏเป็นข่าวมากขึ้น

นับจากปี 2011 เป็นต้นมาเห็นได้ชัดว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเมืองซูดาน

และในปี 2013 มีผู้เข้าร่วมการประท้วงมากขึ้น เสียงตะโกนบนท้องถนนมีสองประการที่ชัดเจนคือ “บาเชียร์ออกไป” และ “ประชาชนต้องการล้มรัฐบาล”

ยิ่งในตอนกลางปี เมื่อราคาพลังงานและแก๊สหุงต้มขยับตัวขึ้น เสียงต่อต้านรัฐบาลก็ดังมากขึ้น… การประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้น ก็มีความรุนแรงมากขึ้นตามมาจากการปราบปรามของฝ่ายรัฐ

และคำขวัญของการต่อสู้มีแต่เพียงประการเดียวว่า “ล้มรัฐบาล”

เมื่อประชาชนตัดสินใจชัดเจนแล้ว อนาคตของเผด็จการก็ดูจะริบหรี่ลง

จุดไคลแมกซ์

ในปีต่อๆ มาไม่แตกต่างกันคือมีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลจากการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลเผด็จการ ทำให้โลกตะวันตกตัดสินใจปิดล้อมทางเศรษฐกิจ (sanction) อันส่งผลให้เศรษฐกิจของซูดานประสบปัญหามากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น แม้รัฐบาลจะออกมาตรการทางเศรษฐกิจอันนำไปสู่การลดค่าเงิน อันส่งผลกระทบอย่างมากกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและราคาอาหาร ซึ่งก็ยิ่งทำให้การประท้วงขยายตัว

แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกการแซงก์ชั่นส่วนใหญ่ในปี 2017 แต่ก็ไม่สามารถกู้สภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียบ่อน้ำมัน หลังจากการแยกซูดานออกเป็นประเทศเอกราชในปี 2011 ซึ่งการขาดรายได้น้ำมันเป็นหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

ดังที่กล่าวแล้วว่าการประท้วงเริ่มขึ้นด้วยปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับชนทุกกลุ่มในสังคมซูดาน ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีบาเชียร์ครองอำนาจมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี มีลักษณะของการใช้อำนาจในการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ จึงทำให้การประท้วงที่เริ่มด้วยเรื่องทางเศรษฐกิจ ได้ขยายตัวไปสู่การเป็นประเด็นการเมืองในการต่อต้านรัฐบาล

และการประท้วงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2019 เป็นดัง “จุดไคลแมกซ์” ของการต่อสู้ เพราะวันนี้เป็นวันครบรอบการต่อสู้อย่างสันติของประชาชนชาวซูดานที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการเดิมของประธานาธิบดี Jaafar Nimeiri ในปี 1985

ซึ่งในวันนี้ประชาชนได้รวมตัวกันที่หน้ากองบัญชาการของกองทัพซูดาน และมีความชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่ยอมลุกออกไปจากที่นั่งของการประท้วง!

ผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้คนในทุกสาขาอาชีพและจากทุกชนชั้นตัดสินใจเดินลงสู่ท้องถนนเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

กลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ สมาคมวิชาชีพซูดาน (The Sudanese Professional Association : SPA) ซึ่งเป็นการวมตัวของหมอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทนายความ และทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหว

และในขณะเดียวกันมีสตรีเป็นจำนวนมากเข้าร่วมการประท้วง ประมาณว่าร้อยละ 70 ของผู้ประท้วงเป็นสตรีจากหลากหลายภูมิหลังและหลากหลายอายุด้วย นอกจากนี้ที่น่าสนใจผู้ประท้วงเป็น “คนรุ่นใหม่” จากหลายอาชีพ อันสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ แต่ว่าที่จริงแล้วผู้ประท้วงมีทุกวัย

แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ กองทัพเฝ้าดูอย่างเงียบๆ และไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำทหารจะตัดสินใจได้อย่างง่ายๆ เพราะประชาชนเป็นจำนวนมากบนถนนได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการประท้วงรัฐบาล คำถามสำคัญก็คือ กองทัพจะยังยืนยันที่จะสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหรือไม่ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาล

แต่ท่าทีของฝ่ายทหารเริ่มเปลี่ยนในช่วงเดือนธันวาคม 2018 ที่ทหารบางส่วนได้แสดงความเห็นใจผู้ประท้วง และช่วยปกป้องการทำร้ายประชาชนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล

ฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้ว!

ในที่สุดแล้วทหารส่วนหนึ่งตัดสินใจคุมตัวประธานาธิบดีบาเชียร์ในวันที่ 11 เมษายน 2019 และจัดตั้งสภาทหารขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยพลโท Awad Ibn Auf ได้ประกาศว่าจะมีภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน และหลังจากนั้นอีก 2 ปีจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่จะโอนถ่ายอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือน…

รัฐบาลเผด็จการของบาเชียร์ล้มลงแล้ว และประธานาธิบดีถูกคุมขังโดยฝ่ายทหาร

ฤดูใบไม้ผลิก็เบ่งบานที่ซูดาน คงต้องเรียกว่า “The Sudanese Spring” และไม่น่าเชื่อว่าการประท้วงใหญ่ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 6 จะปิดฉากรัฐบาลเผด็จการได้ในวันที่ 11 เมษายน

ภาพของความสำเร็จครั้งนี้ไม่แตกต่างกับอาหรับสปริงที่ตูนิเซียและอียิปต์ ซึ่งเป็นความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้งที่เห็นถึงความสำเร็จของการล้มเผด็จการ

ส่วนการเมืองซูดานจะเดินไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้จริงเพียงใด ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในอนาคต

แต่อย่างน้อยเราได้เห็นฤดูใบไม้ผลิเกิดในซูดานที่เผด็จการครองอำนาจนานถึง 29 ปี!