ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระยาพิชัย รบจนดาบหักจริงหรือ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พระยาพิชัยดาบหัก ถูกจดจำในฐานะของขุนศึกผู้จงรักภักดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เป็นนายทองดี ฟันขาว ยอดอัจฉริยะเชิงมวย ที่มีฝีมือขนาดปราบครูมวยผู้ติดตามของพระเจ้าตาก เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นเจ้าเมืองตากลงได้

และในเมื่อเก่งจริง ดีจริงขนาดนี้แล้ว พระเจ้าตากสินจึงได้รับเข้ามาใช้งานนับแต่วันนั้น

ส่วนนายทองดีเองก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ผิดหวังหรอกนะครับ เพราะนอกจากจะตีฝ่าวงล้อมหนีออกนอกกรุงศรีอยุธยามาพร้อมกับพระเจ้าตากสิน ก็ยังได้ทำความดีความชอบอยู่เนืองๆ จนได้เลื่อนยศอยู่เรื่อยๆ

จนกระทั่งได้เป็นเจ้าเมืองพิชัย ซึ่งก็คือเมืองสำคัญในเขต จ.อุตรดิตถ์ อันเป็นถิ่นย่านบ้านเกิดของนายทองดีเองในที่สุด

วีรกรรมที่สำคัญของนายทองดี เมื่อครั้งที่เป็นพระยาพิชัยแล้ว เป็นเรื่องของการรบกับทัพของฝ่ายอังวะ (สมัยนั้นยังไม่เป็นประเทศพม่า) ที่นำทัพโดย “โปสุพลา” ถึงสองหน หนแรกคือปี พ.ศ.2315 ซึ่งฝ่ายของพระยาพิชัยรบชนะ ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปีถัดมาคือ พ.ศ.2316 ซึ่งก็รบชนะอีกหน

และก็เป็นครั้งนี้เอง ที่มีประวัติเล่าว่า พระยาพิชัยถือดาบทั้งสองมือและต่อสู้กับทัพของศัตรูจนดาบในมือหักไปหนึ่งเล่ม อันเป็นที่มาของชื่อ “พระยาพิชัยดาบหัก”

แถม “โปสุพลา” ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่แม่ทัพฝีมืออ่อนหัดที่ไหน แต่คือ “เนเมียวสีหบดี” (เอกสารฝ่ายพม่าเรียก เนมโยสีหปเต๊ะ) แม่ทัพใหญ่ของอังวะที่นำทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 เสียด้วย

ดังนั้น ชื่อเสียงในการรบของพระยาพิชัยดาบหัก จึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

แต่ที่ได้ใจแม่ยกยิ่งกว่าวีรกรรมครั้งอื่นๆ ก็น่าจะเป็นฉากสุดท้ายในชีวิตของพระพิชัย ซึ่งเล่ากันว่า เมื่อมีการปราบดาภิเษกแล้ว รัชกาลที่ 1 ก็ทรงให้พระยาพิชัยรับใช้ราชสำนักต่อ แต่พระยาพิชัยได้ปฏิเสธไปและ “จะขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตาก”

ดังนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ประหารชีวิตพระยาพิชัยลง เมื่อสิริรวมอายุได้ 41 ปี

 

ฟังดูเรื่องก็โรแมนติกดีนะครับ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ประวัติของพระยาพิชัยดาบหักที่มักจะเข้าใจกัน อย่างที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มาจากหลักฐานร่วมสมัยอย่างพงศาวดาร หรือจดหมายรายวันทัพ แต่มาจากเอกสารที่มีชื่อว่า “ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก” ที่ถูกเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2466 หรือหลังจากที่การตายของพระยาพิชัยถึง 141 ปี

“ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก” ที่ว่านี้ ถูกเรียบเรียงขึ้นโดยพระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ซึ่งเป็นชาวเมืองพิชัยโดยกำเนิด และท่านได้ระบุเอาไว้เองว่า ต้นสกุลของท่านคือ พระยาสุริยราชาไชย (สังข์) ผู้เป็นเจ้าเมืองพิชัยรุ่นที่ 3 นับจากพระยาพิชัยดาบหัก แถมลูกสาวคนหนึ่งของท่านคือ ราตรี ศิริปาละกะ ยังได้สมรสกับพระศรีพัฒนากร (ท้าย วิชัยขัทคะ) ทายาทรุ่นที่ 6 ของพระยาพิชัยดาบหักด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีคนนี้จะเรียบเรียงประวัติของพระยาพิชัยดาบหักขึ้นมา

วิธีการเรียบเรียงของท่านก็คือการใช้ข้อมูลจากพงศาวดาร โดยเฉพาะพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และสอบถามกับชาวเมืองพิชัยรุ่นเก่า (ซึ่งก็น่าจะหมายรวมถึงคนในตระกูลวิชัยขัทคะ) โดยเฉพาะหลวงพินิจอักษร เสมียนตรากรมการเก่าของเมืองพิชัย ซึ่งมีอายุราว 80 ปี ในขณะที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีกำลังเรียบเรียงเอกสารชิ้นนี้

แต่ข้อมูลในพงศาวดารเองก็ไม่ได้กล่าวถึงพระยาพิชัยดาบหักมากพอที่จะเรียบเรียงขึ้นมาเป็นเล่ม อย่างที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีทำ

ดังนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นการเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องเล่าต่างๆ ในเมืองพิชัย และตระกูลวิชัยขัทคะ มากกว่าอย่างอื่น

และแม้ว่า หลวงพินิจอักษรจะรับใช้เมืองพิชัยมานาน และมีอายุถึง 80 ปีแล้วในขณะนั้น แต่นั่นก็หมายความว่าเสมียนตรากรมการเก่าคนนี้ ก็ลืมตาดูโลกหลังจากพระยาพิชัยเสียชีวิตไปแล้วถึง 61 ปีทีเดียวนะครับ

พูดง่ายๆ ว่าข้อความหลายตอน และน่าจะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำที่มาจากเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นเมืองพิชัย

ซึ่งจะจริงเท็จแค่ไหนก็คงจะไม่มีใครทราบได้ แม้กระทั่งพระยาศรีสัชนาลัยบดีก็ยังเขียนไว้เองด้วยว่า

“เป็นความสัจเหตุผลที่กล่าวในประวัตินี้ ผู้เรียบเรียงก็สงสัยหนักใจจะไม่เป็นความจริงอยู่บ้าง”

 

ถึงแม้ว่า สิ่งที่พระยาศรีสัชนาลัยบดี “สงสัยหนักใจ” นั้น จะมีเฉพาะเรื่องตอนแข่งชกมวย กับตอนช่วยลูกศิษย์ของตนเอง ที่ชื่อบุญเกิดจากเสือ จนได้แทงเสือตายไป แต่อันที่จริงแล้วเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชิ้นนี้ก็ให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนจากเอกสารหลักอย่างพงศาวดารไปหลายตอน

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น ในขณะที่ในเอกสารชิ้นนี้ระบุว่า เมื่อตอนที่พระเจ้าตากสินนำคนหลบหนีออกจากรุงศรีอยุธยานั้น พระยาพิชัยมียศเป็น “หลวงพิชัยอาสา” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในพงศาวดารหลายๆ ฉบับ มีการระบุชื่อ “นายทองดี” ว่า เป็นทหารคนสนิทคนหนึ่งของพระเจ้าตากสิน ควบคู่ไปกับการเอ่ยชื่อหลวงพิชัยอาสา ในช่วงระหว่างที่หนีออกจากกรุง จนมาตีเมืองจันทบุรี

ดังนั้น ทั้งสองชื่อนี้จะเป็นคนเดียวกันไปไม่ได้แน่

แต่การที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีเลือกที่จะใช้ชื่อ “พิชัยอาสา” นั้นก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านไม่ได้ใช้ข้อมูลจากพงศาวดารฉบับที่เขียนขึ้นในช่วงร่วมสมัยกับที่พระยาพิชัยยังมีชีวิตอยู่ อย่างพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เพราะในพงศาวดารฉบับดังกล่าว เรียกชื่อคนที่หนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมพระเจ้าตากสินว่า “หลวงพิชัยราชา”

(ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่เช่นกันว่า ที่จริงแล้วหลวงคนนี้ควรจะชื่อว่าอะไรแน่ เพราะในพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่เขียนขึ้นภายหลังต่างก็เรียกว่า หลวงพิชัยอาสา เหมือนกันทั้งหมด)

ที่สำคัญก็คือ พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ว่านี้ ไม่ได้กล่าวถึงวีรกรรมในการรบจนดาบหักของพระยาพิชัยเลยนะครับ เช่นเดียวกับในพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม ที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1

และผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะเหตุการณ์ที่ดาบหักเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทั้งการรบกับโปสุพลาในปีที่ดาบหักด้วยเลยต่างหาก

 

วีรกรรมเรื่อง “ดาบหัก” ของพระยาพิชัย เพิ่งจะมาปรากฏในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ซึ่งเริ่มชำระตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่น่าจะชำระเสร็จกันเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ดังมีใจความว่า

“ครั้นถึง ณะ เดือนอ้าย ข้างขึ้น โปสุพลายกกองทับมาตีเมืองพิไชยอีก พญาพิไชยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบกลางทางยังไม่มาถึงเมือง เจ้าพญาสุรศรีก็ยกกองทับเมืองพระพิศณุโลกขึ้นไปช่วย ได้รบกับพม่าเปนสามารถ แลพญาพิไชยถือดาบสองมือ คุมพลทหารออกไล่ฆ่าฟันพม่าจนดาบหัก จึ่งฦๅชื่อปรากฏเรียกว่า พญาพิไชยดาบหัก แต่นั้นมา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความเดียวกันนี้ก็ปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 4 ในขณะที่ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ของพระยาศรีสัชนาลัยบดีกลับต่อเติมเรื่องราว และรายละเอียดให้มากยิ่งขึ้น ดังความที่ว่า

“พระยาพิชัยถือดาบ 2 มือ คาดด้ายแน่นตามเคย คุมพลทหารออกไล่ฟันแทงพม่า ในกำลังฟันแทงชุลมุนกันอยู่นั้น เท้าพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเซจะล้ม จึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อไม่ให้ล้ม ดาบหักไป 1 เล่ม”

พระยาศรีสัชนาลัยบดีอาจจะ “สงสัยหนักใจจะไม่เป็นความจริงอยู่บ้าง” ตอนเรียบเรียงประวัติพระยาพิชัยดาบหัก แต่ประวัติของพระยาพิชัยที่ท่านได้เรียบเรียงขึ้นมานั้น กลับชวนให้เราต้องสงสัยหนักใจอยู่มากขึ้นเลยทีเดียวแหละครับ