วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /จากนิรโทษ 6 ตุลา ถึงย้ายทหาร

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์      

จากนิรโทษ 6 ตุลา ถึงย้ายทหาร

 

เหตุที่ “รวมประชาชาติ” ต้องหยุดออกจำหน่ายด้วยกรณี 6 ตุลา 19 ฉบับสุดท้ายคือ “กรอบแรก” วางแผงหนังสือหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น ช่วงบ่ายวันที่ 7 ตุลาคม 2519 จึงมีทั้งข่าวและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหลังเที่ยงคืนถึงช่วงสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ครบถ้วนสมบูรณ์

หลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พวกเราจึง “ตกงาน” กันถ้วนหน้า

ขณะที่ทุกคนรวมทั้งนักข่าวกลับมารวมกลุ่มที่โรงพิมพ์พิฆเณศ และออกหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ “เข็มทิศ” ต่อมาคือ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับแรก และรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี อนุญาตให้ชาวคณะรวมประชาชาติออกหนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ต่อมา ข่าวคราวผู้ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงมีการนำเสนอติดต่อกันจากนั้นตลอด

ก่อนถึงเดือนกันยายน 2521 ข่าวการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 19 มีออกมาสม่ำเสมอ รวมทั้งการพิจารณาคดีของศาลทหารระหว่างนั้น หนังสือพิมพ์มติชนติดตามนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวมาตลอด กระทั่งใกล้กลางเดือนกันยายน 2519 หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อเย็นวันอังคารที่ 12 กันยายน 2521 ที่กรมพระธรรมนูญทหารว่า

ตนถือว่าทุกคนที่ถูกจับกุมเหมือนลูกเหมือนหลาน ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า ถ้าเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีก็สั่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาหาทางออกให้คดีนี้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า เรื่องนี้อยู่ในความคิด กล่าวคือ จะให้ความยุติธรรม

“ผมมีอยู่ในความคิดคือความยุติธรรม เรื่องนี้ขอให้รอไว้ก่อน จะทำให้เซอร์ไพรส์ ตอนนี้อย่าเพิ่ง” พล.อ.เกรียงศักดิ์กล่าวพร้อมกับหัวเราะอารมณ์ดี

 

วันนั้นเป็นวันอังคารที่ 12 กันยายน 2521 มีประชุมคณะรัฐมนตรี เย็นวันเดียวกัน ชลิต กิติญาณทรัพย์ ขณะหาข่าวที่กระทรวงพาณิชย์ พบกับรัฐมนตรีท่านหนึ่ง จึงสอบถามถึงเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

รัฐมนตรีมิได้ตอบตรงไปตรงมา แต่บอกว่า เห็นมีเรื่องจะนิรโทษกรรม 6 ตุลาด้วย

เท่านั้นแหละ ชลิตรีบเข้าโรงพิมพ์ซึ่งอยู่ใกล้กระทรวงพาณิชย์ รายงานให้หัวหน้าข่าวประจำวันทราบ จากนั้นข่าวที่ชลิตได้มาพร้อมกับรายงานข่าวอีกส่วนหนึ่งถูกส่งกระจายไปยังนักข่าวแทบทุกคนว่า ให้เจาะถามรัฐมนตรีถึงเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลา โดยมิพักต้องเป็นข่าวเดี่ยว เพราะเป็นข่าวที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งในกองบรรณาธิการมีรายละเอียดบ้างแล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นจะได้ข่าวไปบ้างไม่เป็นไร

รุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์มติชนขึ้นพาดหัวข่าวใหญ่ เซอร์ไพรส์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือการนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลา 19

หนังสือพิมพ์มติชนกรอบบ่าย วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2521 พาดหัวใหญ่ กลับขาว-ดำว่า

“ด่วน! เปิดเผย ‘เซอร์ไพรสN’ ของเกรียงศักดิ์ : โปรดเกล้าฯ นิรโทษฯ 6 ตุลา ครม.ลงมติส่งสภาศุกร์นี้” พร้อมหัวข่าวย่อยว่า ทบวงคืนสภาพนักศึกษา พร้อมโปรยข่าวว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาคม ครม.ประชุมลงมติให้หัวกะทิกฎหมายร่วมกันร่างใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียว ส่งเข้าสภานิติบัญญัติ เป็นเรื่องเร่งด่วนศุกร์นี้”

ข่าววันต่อมา “นายกรัฐมนตรี” งดเดินทางลงภาคใต้ แถลงต่อสภาด้วยตัวเอง เสนอประชุมลับให้เสร็จในวันเดียว นำขึ้นทูลเกล้าฯ จันทร์นี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีนี้ว่า “…ผมจะไปอธิบายให้คนในชาติเข้าใจ ว่าเราจะมาฆ่าแกงกันทำไม ให้เด็กเรียนหนังสือ ให้สังคมเข้ารูปเข้ารอย ไม่ใช่มัวทะเลาะกัน ความคิดแตกแยกจะได้ประสานกัน ความเห็นของเด็กเหล่านี้ก็ดี เขาอยากให้บ้านเมืองพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว”

“นี่คือความหวังของรัฐบาล ทุกอย่างเรียบร้อยไปแล้วรัฐบาลจะหันมาพัฒนาเศรษฐกิจเสียที”

 

ท้ายข่าวในวันนั้น รายงานข่าวยังเปิดเผยด้วยว่า จะนำรายชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเหล่าทัพต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ในคราวเดียวกันด้วย โดยฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ข่าววันต่อมา พาดหัวว่า “19 จำเลยเต็มตื้น ‘พระมหากรุณาธิคุณ’ นายกฯ เลี้ยงข้าวต้มรับขวัญ สุธรรมนำคณะเข้าพบเช้านี้” รายงานมติชนผ่าข่าว “ข้าวต้มมื้อเช้าฝีมือนายกฯ คลุกเคล้าด้วยอิสรภาพ” พร้อมภาพการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 19 เต็มหน้า เป็นภาพแห่งความปีติยินดี ไม่หดหู่หรือน่าเวทนาเหมือนเมื่อครั้งวันที่ 6 ตุลา 19 แม้แต่น้อย

เมื่อเวลาแห่งการปล่อยตัวมาถึงหลังเสร็จพิธีการขั้นสุดท้าย เวลา 17.15 น. ผู้รับอิสรภาพเริ่มทยอยก้าวออกจากประตูด้านในเรือนจำกลางคลองเปรม ฝูงชนนับร้อยปรบมือเป็นระยะๆ ตลอดเวลาซึ่งขณะนั้นมีฝนโปรยลงมาเล็กน้อย ติดตามด้วยเสียงเพลง “พิราบขาว” เพลง “ดอกไม้” พร้อมกับเสียงปรบมือเป็นช่วงๆ ผู้ได้รับเสรีภาพใช้เวลาอีกประมาณ 15 นาที เข้าสู่อ้อมกอดของพ่อ-แม่และพวกนักข่าวช่างภาพรุมล้อมแสดงความดีใจ

นายสุธรรมได้รับเกียรติเป็นพิเศษจากเพื่อนสนิทให้ขึ้นขี่คอแบกไปมา กระทั่งทุกคนแยกย้ายกันกลับ

ดังกล่าว ท้ายข่าว “นิรโทษกรรม 6 ตุลา 19” มีรายงานข่าวพิจารณาตำแหน่งนายทหารชั้นสูงร่วมดhวย คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตำแหน่งอื่น ซึ่งมีรายงานการประชุมต่อจากนั้น

 

หนังสือพิมพ์มติชนได้ชื่อว่านำเสนอข่าวการโยกย้ายแต่งตั้งนายทหาร ซึ่งถือเป็นความลับ ไม่มีการนำเสนอข่าวก่อนการโปรดเกล้าฯ โยกย้าย ซึ่งผู้สื่อข่าวสายทหาร และผู้ใกล้ชิดกับกองทัพมักติดตามนำเสนอข่าวนี้เป็นประจำได้ละเอียดก่อนใคร

ระหว่างสัปดาห์ปลายเดือนกันยายน 2521 ซึ่งเป็นช่วงเกษียณราชการของข้าราชการ โดยเฉพาะในกองทัพบก ระหว่างนั้นมีการแจกประวัติ พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

แล้วมติชนฉบับเช้าวันที่ 29 กันยายน 2521 ขึ้นพาดหัวว่า

“เสริมยิ้มร่า รับสองตำแหน่ง เปรมพลาดรอง” ข่าวกลับเป็นอย่างหนึ่ง นี่แหละ “กิ้งกือเดินตกท่อ”