“สิงห์มอม” ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ แล้วมาจากไหน?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในวัฒนธรรมล้านนา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ได้มีการรับเอาอิทธิพลการทำรูป “สิงห์มอม” จากจีน ผ่านมาทางกลุ่มชนชาติพันธุ์ “ไท” เผ่าต่างๆ ที่มีการเลื่อนไหลถ่ายเท อพยพโยกย้ายประชากรจากรัฐฉานก็ดี สิบสองปันนาก็ดี เข้ามาฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาที่เคยล่มสลายไป เมื่อราว 210-220 ปีที่ผ่านมา

หนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูศิลปกรรมล้านนา โดยช่างหรือสล่าที่มีเชื้อสายไทลื้อ ไทยอง ไทขึน ก็คือ ได้มีการนำรูปแบบสัตว์ในจินตนาการที่เรียกว่า “มอม” เข้ามาใช้ประดับศาสนสถานบริเวณหน้าประตูทางเข้าโบสถ์ วิหาร

ปัจจุบันเหลือรูปสิงห์ทวารบาลแบบล้านนาโบราณ ในลักษณะยืนสี่ขาเหมือนรูป “พญามิคราช” หนึ่งคู่ ดังเช่นที่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย จำนวนน้อยมาก

“มอม” หรือ “สิงห์มอม” เป็นสิงห์ผสมลิง ดูละม้ายคล้ายคลึงกับสัตว์นานาชนิด มีลักษณะผสมทั้งของสุนัข แมว ตุ๊กแก กิ่งก่า คือมีดวงตาพองโตโปน จ้องมองคนด้วยสายตาถมึงทึง ใบหน้าสามเหลี่ยมคล้ายลิง ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน มีใบหู ไม่มีขนที่แผงคอแบบสิงโตจีน หรือสิงห์เขมร ไม่สง่างามเหมือนสิงห์พม่า (ซึ่งจักกล่าวต่อไป) แต่ว่าทำท่าดุดันขึงขัง

มอม ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณเมื่อ 700-500 ปีก่อน แต่เพิ่งเข้ามาแพร่หลายปะปนกับรูปสัตว์หิมพานต์อื่นๆ เช่น หงส์ กิเลน เงือก นหัสดีลิงค์ ในงานศิลปกรรมยุคหลังไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง

ชาวจีนได้รับคติการทำรูปสิงห์มอม รวมทั้งสิงโตจีนคาบแก้ว (เป็นสิงห์อีกประเภทหนึ่ง ประเภทหลังนี้มีขนปุกปุย แต่ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มชนสิบสองปันนาและล้านนา) จากอินเดียตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยเมื่อมีการติดต่อรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามา

แต่เมื่อนำเรื่องสิงห์มาอธิบาย ชาวจีนกลับอธิบายในเวอร์ชั่นใหม่ ที่มีเหตุผลเป็นของตัวเอง นั่นคือ กล่าวว่าสิงห์เป็นสัตว์พิเศษ ที่มีความสามารถในการขับไล่ภูตผีปีศาจ (จะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิงห์แห่งศากยวงศ์แต่อย่างใด)

ข้อสำคัญ การที่ชาวจีนนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เน้นการบูชาพระโพธิสัตว์หลายพระองค์ หนึ่งในนั้นมี “พระโพธิสัตว์มัญชุศรี” รวมอยู่ด้วย พระโพธิสัตว์องค์นี้มีสิงห์เป็นพาหนะ

ดังนั้น การนำรูปสิงห์มาประยุกต์ใช้ของชาวจีน สิงห์จึงเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี

โดยเฉพาะชาวจีนยุคราชวงศ์ชิงหรือเช็ง ให้ความเคารพต่อพระโพธิสัตว์มัญชุศรีมากเป็นพิเศษ เนื่องจากคำว่า “มัญชุศรี” นั้นคือคำเดียวกันกับคำว่า “แมนจู” ตามที่เราทราบกันดีว่า ชาวจีนราชวงศ์ชิงคือราชวงศ์สุดท้าย ที่โกนหัวไว้ผมเปียเพราะมีเชื้อสายชาวแมนจู