อภิญญา ตะวันออก : “ฮุนเซนโมเดล” ในความเหมือน-ต่างของการเมืองไทย

อภิญญา ตะวันออก

จู่ๆ ฉันก็พบว่าเลือกตั้งใหญ่ “62 ของไทยปีนี้ ดูๆ ไปมีบางอย่างคล้ายกับเลือกตั้งกัมพูชาปีกลาย อย่างไรอย่างนั้น

อะไรๆ หลายอย่างในที่นี้ รวมทั้งความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมเด็จฯ พลเอกฮุน บุคคลที่มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำในหลูบโมเดลเดียวกัน นั่นคือมีความคิดที่ตั้งมั่นต่อการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ และมั่นคงต่อระบอบที่ตนยึดมั่น อย่างไรอย่างนั้น

ราวกับเคาะเชิงกันมา

อา…ใครจะไปคิดว่า อะไรๆ ที่คิดกันว่า ไม่มีวันที่ระบอบการเมืองของไทยจะไปมีโมเดลเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งเป็นกัมพูชาด้วยแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้

ทว่านับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหารเป็นต้นมา ความต่างที่ว่า ก็ดูจะมีความเหมือนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับ “ฮุนเซนโมเดล”

โดยเฉพาะในหมวด “ก่อน-หลัง” เลือกตั้ง “62 ของไทย

 

ฮุน เซนนั้นเติบโตมากับการเป็นทหารบ้าน นักรบจเรประเภทโจมตีหนีเข้าป่า ตั้งแต่สมัยลอน นอล-เขมรแดง-เวียดกงและมีความทะเยอทะยานมากในชัยชนะ ตั้งแต่กองทัพเขมรแดง และทำรัฐประหารสำเร็จถึง 2 ครั้ง สมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (แปนโส วัน) และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (นโรดม รณฤทธิ์)

นั่นคือการเมืองภายในประเทศ

ได้ชื่อว่า เบื้องหลังของการตายหลายชีวิต ทั้งที่ปิดบังและถูกขุดคุ้ย

แต่วันเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสำเร็จแบบ “ฮุนเซนโมเดล” นี้ มีความน่าพิสมัย

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-นายกรัฐมนตรีไทยนั้นก็เติบโตมั่นคงจากกองทัพ ช่วงรอยต่อการห้ำหั่นของฝ่ายเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์

แม้ชั่วโมงบินการเมืองจะห่างชั้นจากฮุน เซน แต่วิสัยทหารแล้ว ทั้ง 2 มีบุคลิกแข็งกร้าวที่ฉายออกมาทางบุคลิกไม่น้อยหน้ากัน

นอกจากนี้ นอกจากชอบแต่งโคลงกลอนใส่ทำนองเพลงเหมือนกันแล้ว ยังมีรสนิยมแสดงความเกรงใจภรรยาต่อหน้าสาธารณชนอย่างเนืองๆ อีกด้วย

บุคลิกผู้นำที่พ้องกันในท่าที “บุรุษผู้แข็งกร้าว” แบบนี้ ในบางครั้งบางที การแสดงออกในเชิง “บอง-โอน/พี่-น้อง” ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ่อนอาวุโสกว่า 2 ปี บ่งถึงมิตรไมตรีที่ยากจะพบเห็นจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

เริ่มจาก ก่อนและครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 (ระหว่างปี 2549-2551) และนั่นคือจุดเริ่มของการรู้เชิงเศรษฐศาสตร์การปกครอง โดยเฉพาะปัญหาทับซ้อนด้านความมั่นคงและกองทัพระหว่างไทย-กัมพูชา

ว่ากันว่าสัมพันธ์ของ “บองโยเธียไทย” กับ “ปโอนโยเธียแขฺมร์” และนายกรัฐมนตรีนั้น มาจากภารกิจฮุน เซน ที่ต้องการเก็บผู้นำเขมรแดงคนสำคัญ และเป็นผู้มีอิทธิพลบริเวณรอยต่อชายแดนไทย

ขณะนั้น ฮุน เซน ยึดอัลลองแวงอาณาจักรสุดท้ายของเขมรแดงพล พต แต่เหล่าบริวารจำนวนหนึ่งยังอาศัยซ่อนตัวไปๆ มาๆ ในเขตไทย

เรียกว่าถ้าฝ่ายไทยไม่เปิดทางเสียแล้ว อย่าว่าแต่ตาม็อกเลย เขมรแดงสักคนเดียว พนมเปญก็อย่าหวังจะจับตัวได้

นัยที ก่อนหน้านั้น สมัยกลุ่มนายทหารของฟุนซินเปกและเขมรเสรีมุดหนีตายมาพึ่งพา กองทัพไทยก็อุปถัมภ์กันไปตามนโยบายเหรียญ 2 หน้า

แต่ฮุน เซน เดินเกมเจรจากับกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งแม่ทัพขณะนั้นมีนามว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา

และการ “ดีล” จากนั้นเรื่อยมา ทำให้ “บอง” แม่ทัพไทยคนนี้ อยู่ในใจ “ปโอน” นายกรัฐมนตรีเขมรคนนั้น

กล่าวกันนัยที สมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นนักการเมือง “แฟนคลับ” คนแรกๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์

หากใครจำได้ นับแต่ปี พ.ศ.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นับแต่นั้นมานายกรัฐมนตรีกัมพูชานอกจากจะแสดงท่าทีตอบสนองนโยบายรัฐบาล คสช.อย่างเป็นทางการแล้ว

ยังแสดงออกถึงความปลื้มปริ่มทุกคราเวลาที่พบปะกันบนเวทีผู้นำระหว่างประเทศ

 

ความเด็ดขาดของ “ฮุนเซนโมเดล” ในที่นี้ คือหนึ่ง-ควบคุม “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. อย่างเบ็ดเสร็จและทั้งหมดมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 2013 ที่พรรคซีพีพีเสียท่าพรรคสงเคราะห์ชาติ และแม้จะโกงเลือกตั้ง

กว่าจะรวบรวม ส.ส.พรรคเล็กๆ จัดสรรโควต้าปาร์ตี้ลิสต์อย่างชิงความได้เปรียบ รับมือกับเหตุการณ์ประท้วง ร้องเรียนการนับคะแนน การนับแบ่งโควต้าปาร์ตี้ลิสต์ ตลอดจนการช้อนซื้อ ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามมาเป็นฝ่ายตน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาร่วม 3 เดือนกว่าจะประกาศผลรัฐบาล และเปิดประชุมรัฐสภาอย่างทุลักทุเล

ตลอดระยะ 5 ปีที่ยากลำบากในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำครั้งนั้น ฮุน เซน เล็งเห็นวิธีกำจัด กกต.ชุด 2013 โดยใช้ศาลสูงเป็นเครื่องมือ เริ่มจากปี 2016 ที่อดีต กกต.บางคนต้องติดคุก และถูกปล่อยตัวราวปลายปี 2018 บ้างลี้ภัยออกนอกประเทศ

อย่างไร บทเรียนเลือกตั้ง “2013 นี้ยังไม่ยุติ ตราบใดที่พรรคฝ่ายค้านยังเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ดังนี้ “ฮุนเซนโมเดล” จึงผลิตแผนอันเด็ดขาด

เริ่มจากตั้งข้อหานายสัม รังสี หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ตามมาด้วยข้อหายุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ทำให้สมาชิกทุกคนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ก่อนหน้านั้นมีการจับกุมเขม สกขา รองหัวหน้าพรรค ในข้อหากบฏเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลถูกสั่งขัง 10 เดือนและถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพัก

และเพื่อให้สำเร็จสะเด็ดน้ำ การกำจัด “สื่อมวลชนและเอ็นจีโอ” ตามสูตรฮุนเซนโมเดล ซึ่งหากเก็บได้หมดตามนี้ รับรองไม่มีใครเหลือรอด

 

“พฤฒิสภา”

นับแต่หลังการเลือกตั้ง 1998/2531 รัฐธรรมนูญกัมพูชาเปิดให้มีการสรรหาสมาชิก “พฤฒิสภา” หรือสภาสูง จุดประสงค์คือ เพื่อจัดสรรโควต้าแก่สมาชิกอาวุโสในพรรค โดยมีระบบโควต้าตามสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรค

บทบาท “ส.พ.แขฺมร์” เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เชิงอำนาจ ทั้งการอุปถัมภ์รัฐบาลในสภาล่าง รวมทั้งเป็นการช่วยกระจายอำนาจคณะบุคคลภายในพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาชนกัมพูชา ที่จำลองโมเดลมาจากคณะกรรมาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พัฒนาไปเป็นเชิงศักดินา บรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จฯ ชั้นออกญา เจ้าหน้าที่กลาโหมและมหาดไทยระดับสูง

การแจกตำแหน่ง “สมาชิกพฤฒิสภา” แก่กองทัพและข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ในลักษณะธุรกิจการเมือง มิพักต้องกล่าวว่า ส.พ.เขมรจึงมีสิทธิ์ที่จะควบตำแหน่ง “รัฐมนตรี” อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ก็พบว่ากรณีข้าราชการทหาร-ตำรวจเขมร ที่นอกจากจะกินตำแหน่งสมาชิกพฤฒิสภาแล้ว บางรายถูกปลดมาเป็น “ข้าราชการพลเรือน” ซึ่งเหมือนกับที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทย

เช่นเดียวกับ “สมาชิกวุฒิสภา” (ส.ว.) เดิม ซึ่งให้ชื่อใหม่ว่า “สมาชิกพฤฒิสภา” (ส.พ.) แบบเดียวกับกัมพูชานั้น

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกต คำว่าสมาชิกวุฒิสภายังถูกใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นทางการมากกว่า “พฤฒิสภา”

 

ใน “ฮุนเซนโมเดล” ที่เด่นอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีแสดงออกถึงศักดานุภาพทางอำนาจ แม้จะไม่ถึงขั้นเอารถถังมาวิ่งบนถนนให้ประชาชนตกใจ

แต่ถึงช่วงเลือกตั้งทีไรสมเด็จฯ ฮุน เซน จะเตือนว่า “ถ้าตนแพ้เลือกตั้ง ประเทศจะไม่สงบ”

และแม้จะไม่เคยเอารถถังออกมาวิ่งกลางเมือง แต่เคลื่อนกองกำลังทั่วกรุงพนมเปญหลังเลือกตั้ง 2013 หนึ่งวันก็เคยทำมาแล้ว

นอกจากนี้ วิธีทำลาย “ความทรงจำต่อระบอบประชาธิปไตย” ในแบบต่างๆ ก็เป็น 1 ในความชำนาญของ “ฮุนเซนโมเดล”

เริ่มจาก “ความทรงจำอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ” หรือ “อนุสัญญาปารีส” (Paris Agreement) แม่บท “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ของกัมพูชา ที่ผ่านการลงนามจากนานาประเทศนับแต่ปี ค.ศ.1991 จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1993 จากนั้น ตั้งแต่เลือกตั้ง 2003 เป็นต้นมา “รัฐธรรมนูญ” ฉบับนี้ก็ถูกกระทำชำเรา จน “วันเสรีภาพประชาธิปไตย” ในเขมร ซึ่งเดิมที่เป็นวันหยุดราชการ มีการฉลองลัทธิประชาธิปไตยอย่างยิ่งใหญ่ หมดความสำคัญและความทรงจำของชาวเขมร

เช่นเดียวกับ 10 ธันวาคม “วันรัฐธรรมนูญ” ที่แม้ยังอยู่ในปฏิทินไทย แต่ “รัฐธรรมนูญ” ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาที่มีผู้อยากแก้ไข