เปิดใจ ทส.ป๋าเปรม 48 ปี ‘พล.อ.อู้ด เบื้องบน’ เบื้องหลัง “ความเป็นป๋า”

ภายหลังจาก “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรม

ทำให้มีการพูดถึงเรื่องราวของ “ป๋าเปรม” ในมิติต่างๆ ทั้งการเมืองและชีวิตของป๋าในฐานะ “ปุถุชน” คนหนึ่ง

แน่นอนว่า “ป๋าเปรม” คือประธานองคมนตรี-รัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน เป็นตำนานของประเทศ

อีกทั้งไม่มีใครจะมี “บารมี” เทียบเท่าป๋าได้อีกแล้ว

สิ่งที่ทำให้ พล.อ.เปรมเป็นตำนานย่อมผ่านเรื่องราวต่างๆ มามาก

และแต่ละเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น ต้องมีการตัดสินใจและการบริหารจัดการของ “ป๋าเปรม” ในช่วงเวลานั้นๆ

การจะหาคำตอบในเรื่องหลักคิดของ พล.อ.เปรม ก็จะต้องถามจากบุคคลใกล้ชิดป๋า ที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญกับป๋ามา ถ้าเป็นนายทหารก็จะเรียกว่า “ลูกป๋า”

หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.อู้ด เบื้องบน (ตท.6) อดีตปลัดกลาโหม ในฐานะนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม หรือที่เรียกกันว่า “ทส.ป๋าเปรม” ตั้งแต่ปี 2514 สมัย พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 มาถึงปี 2537 ที่ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กว่า 23 ปีที่ พล.อ.อู้ดได้ติดตามทำงานให้ป๋ามา

เมื่อไม่ได้เป็นนายทหารคนสนิทติดตามป๋าไปทำงาน ตั้งแต่ปี 2537 หลัง พล.อ.อู้ดต้องไปดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก รองปลัดกลาโหม และขึ้นเป็นปลัดกลาโหมก่อนเกษียณ ซึ่ง พล.อ.อู้ดก็ยังคงไปพบ พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาเทเวศร์สม่ำเสมอ

รวมทั้งนำลูกหลานไปกราบขอพรและไปพบป๋าอยู่เสมอด้วย ซึ่ง พล.อ.เปรมก็รักลูกหลานของ พล.อ.อู้ดเช่นกัน

พล.อ.อู้ดเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า จุดเริ่มต้นที่รู้จัก “ป๋าเปรม” ช่วงก่อนไปเรียนเตรียมทหารที่ค่าเทอมค่อนข้างราคาสูง ซึ่งตนมีพี่ชายเป็นทหารม้ายศชั้นประทวน

พี่ชายจึงให้ไปขอทุนเรียนจากป๋า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้พบกับ “ป๋าเปรม”

ซึ่ง พล.อ.อู้ดเป็นนักเรียนเรียนดี เมื่อจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. มาแล้ว ในช่วงปี 2514 ได้เป็นผู้บังคับหมวดรถถัง พล.อ.เปรมเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า แต่ในขณะนั้นนายทหารคนสนิทป๋าคนเดิมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

ทางศูนย์การทหารม้าจึงคัดเลือกบุคคลผู้ที่จะมาเป็นนายทหารคนสนิทแทน ซึ่งก็ให้ตนมาเป็น แต่ก็ไม่รู้หน้าที่ของ ทส. ว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งตามระเบียบการจัดกำลังของ ทบ. ระบุว่า ทส.มีหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการประจำตัว

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากป๋า มาจากการยกแฟ้มเอกสารเข้าไปในห้องทำงานป๋า แต่ไม่ได้ดูว่าจะต้องตรวจหรือเซ็นอย่างไร

จนวันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น ท่านเรียกเข้าไปก็คิดว่าป๋าเซ็นแฟ้มเสร็จแล้ว ซึ่งท่านถามตน ก็ทำให้ต้องยืนนึก ซึ่งป๋าก็พูดว่า “ไม่ต้องนึก อ่านบ้างรึเปล่า” ตนได้บอกว่า “ไม่เคยอ่าน” ป๋าก็บอกมาสั้นๆ ว่า “แย่จริงนะเรา”

ทำให้ตั้งแต่นั้นมาได้เปลี่ยนการทำงานและเป็นสิ่งที่ติดตัวมาถึงทุกวันนี้

ซึ่ง พล.อ.อู้ดได้ติดตาม พล.อ.เปรมเรื่อยมา ทำให้ได้อ่านแฟ้มทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องลับเท่านั้น แต่บางครั้งป๋าก็เล่าให้ฟัง

จนมาถึงช่วงที่ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็ยังทำหน้าที่ ทส.ตลอด

โดยช่วงที่ตนไม่ได้เป็น ทส.แล้ว ช่วงปี 2537 ต้องไปเป็นเจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหาร “ป๋าเปรม” ได้บอกกับตนว่า “ไปให้เขาเห็นว่าเราทำงานเป็น”

ทั้งนี้ พล.อ.อู้ดได้กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าถึงเหตุการณ์ก่อนถึงวันที่ป๋าถึงแก่อสัญกรรม ป๋าได้เขียนด้วยลายมือมาถึงตน 3 ข้อ

ในการ์ดให้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.วาท กุญชรานุสสรณ์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ป๋าเปรมถึงแก่อสัญกรรม จึงเป็นภารกิจสุดท้ายที่ พล.อ.เปรมมอบให้ตน

สิ่งที่ พล.อ.เปรมพูดเสมอคือผู้บังคับบัญชาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และการดูแลสวัสดิการคนรอบข้าง เพราะเขาทำงานให้เรา เราจะต้องดูแลเขาให้ดี แม้ว่าเขาจะได้รับเบี้ยเลี้ยงบุคคลตามสิทธิที่เขาพึงได้ก็ตาม

อีกทั้ง พล.อ.เปรมมีหลักการบริหารคนและงานคือการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน โดยผลงานของคนจะฟ้องถึงพฤติกรรมของคน ซึ่งคนที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งก็จะต้องปรับย้าย แล้วหาคนที่เหมาะกว่ามาลง

อย่างไรก็ตาม “ป๋าเปรม” ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่นิ่งสุขุม จนได้รับฉายาจากสื่อสมัยเป็นนายกฯ ว่า “เตมีย์ใบ้” นั้น

พล.อ.อู้ดกล่าวว่า ป๋าเคยบอกว่า หากพูดตามแก้เรื่องแรกแล้ว เรื่องที่ 2-3 จะตามมา ดังนั้น เมื่อเรื่องไม่จริงอย่างที่มีคนพูด เมื่อถึงเวลาคนอื่นก็จะทราบข้อเท็จจริง คนที่มาอ้างชื่อก็ถูกตำหนิไปเอง

เราจะสังเกตเห็นว่าท่านไม่ค่อยพูด แม้กระทั่งสื่อถามก็ตาม ท่านก็จะตอบเฉพาะในเรื่องที่เครียดหรือวิกฤตเท่านั้น

ที่ผ่านมาป๋าจะให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงแทน เพราะเรื่องบางเรื่องหากเราไปตอบโดยไม่รู้ เมื่อผิดไปแล้วก็ไม่มีคนแก้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตอบผิด เรายังแก้ไขให้ได้ แม้แต่เวลาคุยกับต่างประเทศก็จะพูดผ่านล่าม จะทำให้มีเวลาในการคิดและตอบคำถาม

โดยบุคคลที่สำคัญในยุคนั้นคือ “โฆษกสามสี” หรือ “ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” โฆษกรัฐบาลสมัย “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯ

สิ่งที่ พล.อ.อู้ดมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ “ป๋าเปรม” เป็นที่เคารพนับถือและมากบารมี คือ ยึดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ไม่ชอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตนคิดว่าด้วยความซื่อสัตย์ของ พล.อ.เปรม จึงมีคำพูดที่ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเกราะกำบังที่ใครก็ทำอะไรเราไม่ได้ เมื่อความจริงปรากฏ

พร้อมกันนี้ พล.อ.อู้ดกล่าวถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่ พล.อ.เปรมมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาศัย “บ้านหลวง” อยู่ ว่า เดิมเป็นบ้านรับรองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้ท่านผู้หญิงวิจิตราภริยาพำนัก เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ต่อมา พล.1 รอ. ได้เข้าใช้พื้นที่ และสมัย “ป๋าเปรม” เป็น ผบ.ทบ. เห็นว่าบ้านสี่เสาฯ พื้นที่กว้างขวาง ส่วนหลังบ้านมีลักษณะเป็นห้องประชุมได้ เรียก จนท.มาประชุมเรื่องเร่งด่วนได้ ซึ่งขณะนั้น “ป๋าเปรม” เป็นทั้งนายกฯ รมว.กลาโหม และ ผบ.ทบ. ช่วงปี 2521-2531

ช่วงปี 2531 หลัง “ป๋าเปรม” ไม่รับตำแหน่งนายกฯ แล้ว “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ-รมว.กลาโหมคนต่อมาได้นำความกราบบังคมทูล จากนั้นมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง พล.อ.เปรมเป็น “รัฐบุรุษ” โดยในขณะนั้นทางทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ตำแหน่งรัฐบุรุษจะต้องมีรถประจำตำแหน่ง พลขับ คนติดตาม สถานที่พักรับรอง จึงได้ใช้ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ต่อเนื่องมา

แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการสั่งการด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร

อีกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองคือ “กบฏยังเติร์ก” นำโดยกลุ่ม จปร.รุ่น 7 ช่วง 1-3 เมษายน 2524 มีความพยายามทำรัฐประหาร “ป๋าเปรม” ขณะเป็นนายกฯ ควบ ผบ.ทบ. ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการสภาปฏิวัติ” แต่สุดท้ายล้มเหลว โดยมี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รอง ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ และให้ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร รับหน้าที่เข้าพบ พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาฯ เพื่อขอให้เข้าร่วมกับคณะ

แต่ พล.อ.เปรมไม่ตอบรับและหลบหนีออกมาได้ ต่อมาคณะนายทหารที่เกี่ยวข้องก็ได้นำธูปเทียนไปขอขมา พล.อ.เปรมถึงบ้านสี่เสาฯ ยกเว้น พล.อ.สัณห์ที่หลบหนีไปยังพม่า เมื่อกลับถึงไทยก็ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ สิ่งใดทำให้ “ป๋าเปรม” ให้อภัยนายทหารเหล่านี้

พล.อ.อู้ดเปิดเผยว่า “บางส่วนของคณะที่ทำ ไม่ใช่เป็นผู้ก่อการที่แท้จริง มีแกนนำบางคนเท่านั้นที่เป็นตัวตั้งตัวตี ตอนหลังก็มีการขอพระราชทานอภัยโทษทั้งหมด ก็กลับเข้ารับราชการทหาร บางคนยศทางทหารก็คือพลเอก ในกลุ่มของคนเหล่านี้”

ทั้งนี้ พล.อ.อู้ดถือเป็นนายทหารที่อยู่กับป๋ามานานที่สุดคนหนึ่ง เปรียบป๋าเป็น “พ่อคนที่สอง” พร้อมยก พล.อ.เปรมสามารถผ่านวิกฤตการเมือง เหตุการณ์ปองร้ายมาได้จนเป็นรัฐบุรุษ จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะเป็นแบบป๋าได้อีก

เรื่องราวของ “ป๋าเปรม” ในมิติความเป็น “ปุถุชน” คนหนึ่งจึงมีความสำคัญไม่น้อยในการศึกษาผู้นำทางการเมือง ที่มีผลต่อการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ผลงานสำคัญของ “ป๋าเปรม” คือการออกคำสั่ง 66/2523 ที่ “ป๋าเปรม” มีฐานความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหวของแนวคิดคอมมิวนิสต์สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ทำให้มองโจทย์แก้ปัญหาออก โดยการใช้ “การเมืองนำการทหาร” รวมทั้งมีมอตโต้ที่โด่งดังว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

ตำนาน “ป๋า” คงอยู่ตลอดไป!!