สิ้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับการสานต่อนโยบาย 66/2523 เพื่อดับไฟใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

26 พฤษภาคม 2562 ผู้เขียน คนจะนะ จังหวัดสงขลา ได้รับข่าวเศร้าสองเรื่องด้วยกัน

หนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คนสงขลา ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม

สอง ระเบิดที่จะนะบ้านผู้เขียน

เรื่องที่หนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวัยย่าง 99 ปีได้ถึงแก่อสัญกรรมนั้น ในโลกโซเชียลส่วนใหญ่มีการแสดงความเสียใจ นอกจากบางคนที่มีความคิดเห็นต่างด้านการเมืองกับท่านเพราะช่วงท้ายชีวิต ตลอดวิกฤตการเมืองไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มากบารมีหรืออยู่เบื้องหลังปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งต่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีดราม่าจากฝั่งที่อ้างประชาธิปไตยบางท่าน (จริงๆ) ระหว่าง จะเสียใจ หรือจะประณามดี

สำหรับผู้เขียนแล้วเราควรแสดงความเสียใจ หรืออย่างน้อยที่สุดนิ่งเงียบไม่แสดงความคิดเห็นต่อการเสียชีวิตของท่าน

กล่าวคือ เราต้องแยกแยะว่า “เหมาะสมหรือไม่อย่างไรในช่วงเวลามีใครเสียชีวิต เพราะพอมีคนลาโลกนี้ไปไม่ได้แปลว่าความผิดพลาดของเขานั้นห้ามพูดถึง พูดถึงได้ แต่ขอให้ผ่านพ้นช่วงของการเศร้าเสียใจของผู้คนโดยเฉพาะอดีตผู้นำประเทศที่มีประชาชนมากมายเช่นกันกำลังเสียใจ”

ถึงแม้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับท่านหลายประการ เช่น เรื่องประชาธิปไตยและเรื่องที่ท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้เบรกแนวคิดภาษามลายูเป็นภาษาทำงานที่จะใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

แต่สำหรับนโยบาย 66/2523 ของท่านต้องยอมรับว่าเป็นที่มาของ “การเมืองนำการทหารเพื่อดับไฟใต้”

ความเป็นจริง นโยบาย 66/2523 มันคือสูตรสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้การเมืองนำการทหาร “ยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์” โดยใช้วิธีทางการเมืองนำการทหาร ขจัดการขยายแนวร่วม พคท.ในเมือง

พร้อมเสนอว่า รัฐบาลจะขจัดความไม่เป็นธรรม สนับสนุนประชาธิปไตย ปฏิบัติต่อผู้เข้ามอบตัวอย่าง “เพื่อนประชาชนร่วมชาติ”

แล้วถูกปรับมาใช้ในนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ “รุกทางการเมือง”

นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” นี้มีสาระสำคัญเป็นแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร 4 เรื่อง คือ

1. สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าพี่น้องไทยพุทธหรือมุสลิมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกำลังของรัฐบาลให้ปลอดภัยจากการคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มโจรต่างๆ

2. ทำพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสถาปนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น และยกระดับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทย-มาเลเซียให้สูงขึ้น

3. กำจัดอำนาจเผด็จการ อิทธิพล และอำนาจมืดที่ครอบงำบรรยากาศอยู่ทั่วไปให้หมดสิ้น โดยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองกับราษฎรผู้ถูกปกครอง และขจัดความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรให้หมดสิ้นไป

การดำเนินการของกองทัพภาคที่ 4 ตามนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ทั้งทางการเมืองและการรุกทางการทหารตามแผนยุทธการต่างๆ สามารถปราบปรามยึดฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสาขาภาคใต้ ขจัดอิทธิพลของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มโจรก่อการร้ายต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้

ส่งผลให้ผู้หลงผิดจำนวนมากเข้ามอบตัวในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

หลังจากความสำเร็จของนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” ภายใต้การผลักดัน ขับเคลื่อนของ “แม่ทัพ พล.อ.หาญ ลีนานนท์” (1 ตุลาคม พ.ศ.2524 – 30 กันยายน พ.ศ.2526) หลังจากนั้น พล.อ.กิตติ รัตนฉายา (2 เมษายน พ.ศ.2534 – 30 กันยายน พ.ศ.2537) ก็สานต่อ

หลังเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 นโยบาย 66/2523 ก็ถูกปัดฝุ่นเข้ามาใช้อีกครั้งภายใต้สโลแกน “การเมืองนำการทหาร” ควบคู่กับยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา

มีการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หลังจากที่ได้ถูกยุบไปในปี 2545 สมัยการบริหารของนายทักษิณ ชินวัตร และตราเป็นพระราชบัญญัติในปี 2551 โดยโครงสร้างให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่พระราชบัญญัตินี้ประชาธิปัตย์เป็นคนร่างก็จริง (“ภาณุ อุทัยรัตน์” คนของพรรคประชาธิปัตย์บริหารไม่นาน) แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับได้ใช้งานอย่างเต็มที่มากกว่า โดยส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ (2554-2557) จนการบริหารได้รับความไว้วางใจจากมวลชนคนชายแดนใต้มากที่สุด

สโลแกน “การเมืองนำการทหาร” ภายใต้นโยบาย 66/23 นี้ ส่งผลต่อการเกิดกระบวนพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่าง

และที่สำคัญ เกิดเป็นนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2560-2562 ที่ให้ความสำคัญการเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและเน้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและชีวิตของผู้คน ระบุด้วยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องต่อเนื่องและต้องมียุทธศาสตร์รองรับนโยบาย

อย่างไรก็แล้วแต่ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จภายใน 5 ปีนี้ ปรากฏว่าในเชิงประจักษ์ “การเมืองนำการทหาร” กลับไปเป็น “ทหารนำการเมือง”

เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้ใช้ให้ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นหน่วยงานนำ บังคับบัญชาและกำกับดูแลหน่วยงานราชการทุกแห่งใน จชต. รวมทั้ง ศอ.บต.

อีกทั้งส่งนายทหารเข้าไปเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบันและตำแหน่งสำคัญๆ ทำให้มีเสียงสะท้อนที่ไม่ค่อยดีจากประชาสังคมและชาวบ้านว่าในองค์กรนี้ เป็นการควบคุมเบ็ดเสร็จ ทั้งคนและงบประมาณ

ดังนั้น หลังจากได้รัฐบาลใหม่ นโยบาย 66/23 ที่ พล.อ.เปรมเคยฝากไว้จะไม่ประสบความสำเร็จหากในแง่ปฏิบัติ ยังไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ ของนโยบายนี้ ในขณะเดียวกันวิธีการอาจต้องรีบปฏิรูปหรือปรับให้ทันสถานการณ์

รัฐบาลใหม่ต้องรีบนำพา จชต.กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ แต่ละพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจากพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยต้องร่วมผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงและมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน

รวมทั้งใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ยกเลิกนโยบาย “ทหารนำการเมือง” คืนอำนาจและบทบาท ศอ.บต. ตามพระราชบัญญัติที่ตราโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

(แม้แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาชาติก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันเพราะมันเป็นประเด็นร่วม)

การใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ควรนำไปสู่การปรับปรุงการใช้กฎหมาย โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิบัติและมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” อย่างเป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนที่ชัดเจน

ในอนาคตควรทำให้ ศอ.บต.มีความเป็นอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตย และยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่

ยกเลิกการนำ ศอ.บต.ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.4 โดยให้ กอ.รมน.4 กำกับดูแลเฉพาะหน่วยกำลัง เพื่อรักษาความสงบ และให้ กอ.รมน. ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับ จชต. ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ส่งผ่าน ศอ.บต.เท่านั้น

ปรับปรุงคณะเจรจา/พูดคุย โดยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะ เปิดการพูดคุย/การเจรจาสันติภาพกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างจริงจังโดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระในการทำงานรวมทั้งชาวพุทธและมุสลิมกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน

พิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากการจำกัดและตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น

และดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วในที่สุด

สําหรับเรื่องที่สองระเบิดที่จะนะบ้านผู้เขียน กล่าวคือ เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 สภ.จะนะ รับแจ้งเหตุว่ามีคนร้ายยังไม่ทราบชื่อและจำนวนลอบวางระเบิดในพื้นที่หลังสถานีรถไฟจะนะ พื้นที่ ม.3 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เบื้องต้น จนท.ตร.สภ.จะนะ (ชป.รปภ.สถานีรถไฟ) เสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

(โปรดดูคลิปเหตุการณ์ระเบิดใน https://www.facebook.com/1245604111/posts/10219502908863779?s=1245604111&sfns=mo)

#ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยครับ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) อันมีเกียรติและ (คาดว่า) วันที่ 4 มิถุนายน 2562 จะถึงวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีฮิจเราะห์ศักราช 1440

จึงขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสุขความเจริญและสันติสุขกลับมาสู่ภาคใต้และประเทศไทย (ดูบทความผู้เขียนเรื่องวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีใน https://prachatai.com/journal/2008/09/18369)

ยินดีต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่แม้จะถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ แต่อย่างน้อยต่อไปนี้ต้องใช้สภาผู้แทนราษฎรเข้าแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองและบ้านเมืองมากขึ้น (หลังจากห่างหายมา 5 ปี)

สาระสำคัญของคำสั่ง 66/2523

1.ช่วงแรกกล่าวถึงสถานการณ์ในบริบทโลกว่า การเผชิญหน้าในรูปแบบของสงครามเย็นอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยดำรงเจตนาอันแน่วแน่ทำสงครามปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐ โดยใช้เงื่อนไขประชาชาติประชาธิปไตยเป็นหลักและใช้เงื่อนไขอื่นๆ

2. รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเคร่งครัด รัฐบาลถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญและเร่งด่วนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อันเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งในการบั่นทอนความมั่นคง

3. รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะบริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชน ยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติ ปลูกฝังให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน และให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4. นิยามบทบาทของกองทัพใหม่คือ ให้กองทัพมีบทบาทและหน้าที่สำคัญคือป้องกันประเทศและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. คำสั่ง 66/2523 กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปปฏิบัติว่า “ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ

ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลาง และขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติ”

6.ในขั้นการปฏิบัติระบุว่าให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการยืดเยื้อ ต้องเอาชนะอย่างรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง ใช้งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ

7. ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

8. กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้น

9. ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

10. สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้นๆ อันพึงจะมี อย่างไรก็ตาม เตือนให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตย กับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงประชาธิปไตยนำหน้า

11.ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลายกองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง

12. ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัวหรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

13. ขจัดการจัดตั้งและขยายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ หรือสถานการณ์ที่นำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ

14. การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน

15. สำหรับโครงสร้างการบริหาร กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับผิดชอบในการเสนอคณะรัฐมนตรี ในเรื่องอันเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นกองอำนวยการเฉพาะกิจ

หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก

1. การเมืองนำประชาธิปัตย์ https://deepsouthwatch.org/th/node/92

2. อาลัยเจ้าของนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” พล.อ.หาญ https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/63493-harn.html