เพ็ญสุภา สุขคตะ : ยักษ์ ผู้หญิง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดิฉันเคยเขียนเรื่อง “ผู้หญิงห้ามขึ้น ผู้หญิงห้ามเข้า” ในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดีมาแล้วตั้งแต่ปี 2553 เหตุที่เราได้พบป้ายปักตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาที่สะท้อนนัยยะแห่ง “การกีดกันทางเพศระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย”

ในทำนองว่า มีเพียงเฉพาะบุรุษเพศเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในอุโบสถได้ หรือเข้าประชิดองค์พระบรมธาตุได้ รวมไปถึงเข้าใกล้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้

บทความชิ้นนี้ ดิฉันจะยกตัวอย่างของอีกหนึ่งกรณีศึกษา “การไม่อนุญาตให้สตรีล้านนามีสิทธิ์เข้าไปตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำทิพย์” จากนั้นตอนท้ายบทความจักวิเคราะห์ให้เห็นถึงเหตุและผล เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย

 

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์
กับกฎเกณฑ์การนำน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ

พลอากาศตรี เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน หรือที่ชาวลำพูนเรียกว่า “เจ้าเปี๊ยก” ทายาทผู้สืบสกุลนครลำพูน ได้ส่งไฟล์เอกสารให้แก่ดิฉันเป็นเรื่อง ประกาศของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ (ท่านคือเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัยปี 2486) ว่าด้วยวิธีหรือกฎเกณฑ์การขึ้นไปนำน้ำทิพย์จากดอยขะม้อมาสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชย เป็นเอกสารลายมือเขียน 4 แผ่น เขียนขึ้นในปี 2462 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6

ต่อมาเอกสารชุดนี้ได้รับการเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง

ดิฉันขอคัดลอกเนื้อความดังกล่าวนำมาลงตีพิมพ์อย่างละเอียด เนื่องจากไฟล์เอกสารเป็นลายมือเขียนที่อ่านยากสักหน่อย อีกทั้งการสะกดคำศัพท์ก็เขียนต่างรูป (แต่พ้องเสียง) จากศัพท์ปัจจุบันอยู่หลายคำ

ในที่นี้ดิฉันจักขอคงไว้ตามเดิม และจะช่วยใส่คำศัพท์ที่เราเข้าใจในภาษาปัจจุบันไว้ในวงเล็บต่อท้ายบ้างในบางกรณี

ประกาศ

ของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองจังหวัดลำพูน

ด้วยเรื่องวิธีขึ้นเอาน้ำทิพที่ “เขาจิม่อ” (ปกติเรียกว่า “ดอยขะม้อ” – ส่วนคำว่า “จิ” แปลว่า แตะหรือจับ) ลงมาสงค์ (สรง) พระเจดีย์ธาตุหะริภุชไชย (หริภุญไชย) ตามที่เปนมาแล้วทุกๆ ปี ได้สังเกตดู หาเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนดังเช่นปู่ย่าตายาย และประเภณีของบ้านเมืองซึ่งเคยปฏิบัติมาแต่โบราณกาญเก่าไม่

สืบได้ความว่าไม่ว่าเวลาใด ราษฎรใครอยากได้น้ำทิพที่ว่านี้ ก็ลงไปตักเอาตามชอบใจ และแม่ย่าผู้หญิงก็ขึ้นไปดูและถึงปากน้ำบ่อทิพด้วย อีกประการหนึ่ง กำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรตำบลมะเขือแจ้ ท้าวบุหลงเชื่อนับถือนายสมบ้านป่าสักตำบลเหมืองง่า ซึ่งเปนคนเปนลมบ้า ว่าเปนผู้อิทธิฤทธิ์อันหนึ่ง พร้อมกันมาขอเชิญนายสมผู้ที่ว่านี้ขึ้นไปบนยอดเขาจิม่อ หวังผลประโยชน์นำฟ้าสายฝน หาได้ร่ำเรียนบ้านเมืองไม่ แต่นายสมขึ้นไปก็เอาแม่ย่าคุณหญิงขึ้นไปด้วย

ประการที่ 2 ราษฎรไปเที่ยวป่าล่าเถื่อน ก็ลงตักเอาน้ำบ่อทิพที่ว่านี้มาบริโภคตามชอบใจ, ได้ความดังนี้จึงเห็นว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรยังไม่รู้จักขนบธรรมเนียม พากันทำไปด้วยไม่เป็นหนทางเคารพนับถือน้ำบ่อทิพ ซึ่งเป็นของวิเศษแห่งพระพุทธองค์ท่านได้ทรงอธิถาน (อธิษฐาน) เอาได้โดยเดชสมภารแห่งท่าน, ได้บัญญัติไว้แต่เช่นพระพุทธองค์ทรงดำเนินโปรดบันณ (บรรดา) สัตว์ทั้งหลาย ดังจะได้อธิบายเรื่องน้ำบ่อทิพให้ทราบทั่วกันต่อไปนี้

คือพระพุทธองค์ท่านเสด็จมาประทับอยู่บนยอดเขานี้ แล้วจะขึ้นเขา จึงใช้ให้พระมหาอะนันทะเอาบาตร์ไปตักน้ำแม่ละมึง (ระมิงค์) คือน้ำแม่ปิงมานั้น กับถ้ามะหาอะนันทะไปหาเอาน้ำไปได้น้ำขุ่นหมดทั้งลำแม่น้ำละมึง โดยเหตุพ่อค้าเกวียน 500 เล่ม ได้ไล่เกวียนโคลงน้ำแม่ละมึงขุ่นหมด มะหาอะนันทะจึงเอาบาตร์เปล่ากลับมาทูลพระพุทธองค์ๆ จึงเทสนาการให้กับมหาอะนันทะฟังว่า,

ปางก่อนพระพุทธองค์ก็ได้เป็นพ่อค้าเกวียน, ได้เอากะทอ (?) คลุมปดา (บรรดา) โคไม่ให้โคกินน้ำกินหญ้าได้ กำ (กรรม) วิบากอันนั้นได้นำมาถึงพระพุทธองค์เดี๋ยวนี้ ทันใดพระพุทธองค์ก็เอาศีรษะแม่มือ (นิ้วหัวแม่โป้ง) เต๊กหลังเขาซุกลงไป นาคราชหรือพระยานาครู้สึกจึงเสกน้ำขึ้นมาส่งถวายให้พระพุทธองค์ๆ ได้ฉันน้ำในบ่อทิพนี้ด้วยทันที

ขะนะนั้นมีมหายักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งแอบติดตามพระพุทธองค์ จะหาเวลาเมื่อพระพุทธองค์เผลอ ก็จะเข้ากระทำร้ายพระพุทธองค์แล้วกินเสีย เมื่อมหายักษ์เห็นพระพุทธองค์เต้กหลังเขานี้ได้กินน้ำ มหายักษ์เลยกลัวพระพุทธองค์มาก จึงน้อมเกล้าเข้ามาหาขอเป็นลูกศิษของพระพุทธองค์ๆ ก็สอนสิกขา 5 ประการให้แก่มหายักษ์ๆ รับเอาศีล 5 จากพระพุทธองค์แล้ว เขี้ยวฟันอันใหญ่ของมหายักษ์ก็กระเด็นจากปากมหายักษ์ๆ ยิ่งกลัวพระพุทธองค์หนักขึ้น พระพุทธองค์จึงสั่งให้มหายักษ์รักษาน้ำบ่อทิพนี้ไว้ อย่าให้คนทั้งหลายมาทำอันตราย เหตุพระพุทธองค์ได้ไว้เกษาธาตุประจุไว้ที่กลางเมืองหะริภุชไชย ต่อเมื่อลูกศิษของพระพุทธองค์ได้เป็นเจ้าเมืองเมื่อใดแล้ว เขาจะมาเอาน้ำบ่อทิพนี้ไปสง (สรง) เขตธาตุของพระองค์ แล้วให้สมอ (?) แก่มหายักษ์ 1 อัน จึงทำนายไว้ว่าภายหน้าท่านมหายักษ์ก็จะได้ตรัจ (ตรัสรู้) เป็นพระองค์หนึ่งเหมือนกัน มหายักษ์ก็รับรักษาน้ำบ่อทิพที่ว่านี้ต่อมา

2 ห้ามไม่ให้คนผู้หญิงขึ้นดูน้ำบ่อทิพถึงบนยอดเขาเป็นอันขาด

3 ห้ามไม่ให้คนหนึ่งคนใดมาขอนายสมคนเสียจริต ขึ้นไปบนยอดเขาที่บ่อทิพเป็นอันขาด

4 ถ้าถึงประเภณีจะขึ้นเอาน้ำบ่อทิพมาสงค์พระมหาเจดีย์ธาตุแล้ว ต้องให้คนพวกลูกน้องของมหายักษ์ล่ม (?) ขาว ซึ่งเคยนุ่งขาวห่มขาวรับศีล 5 ตามเดิมนั้นลงตักเอาเองให้เป็นระเบียบของประเภณีบ้านเมืองต่อๆ ไป

ประกาศมา ณ วันที่ กรกฎาคม

พระพุทธศักราช 2462

ลงนาม

ข้อความในเอกสารมีแต่เพียงเท่านี้ หากไม่มีการวิเคราะห์ถึงเนื้อหาเชิงคติชนวิทยา ว่าด้วยสัญลักษณ์ของการเสด็จมาของพระเจ้าเลียบโลก ยักษ์ นาค สตรี แล้วไซร้ เนื้อหาดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรไปจากการกดขี่ข่มเหง “เพศแม่” ให้ต่ำต้อยกว่า “เพศพ่อ”

 

เลือดประจำเดือน ปฏิปักษ์กับยักษ์
หาใช่ศัตรูต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เราควรตั้งคำถามกันว่า เอาเข้าจริงแล้ว เลือดประจำเดือนสตรีนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งใดกันแน่ ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (พระธาตุเจดีย์, บ่อน้ำทิพย์, พระอุโบสถ ฯลฯ) กับผู้เฝ้าสถานที่ (ยักษ์, กุมภัณฑ์, ท้าวโลกบาล, หุ่นพยนต์ ฯลฯ)?

หากเลือกคำตอบแรก ว่าระดูแห่งสตรีเป็นของแสลงต่อพระบรมสารีริกธาตุหรือบ่อน้ำทิพย์ ก็เห็นจะเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์เสียแล้ว ซ้ำยิ่งตอกย้ำให้เห็นความงมงายของผู้กำหนดกฎเกณฑ์ว่าช่างไร้เหตุและผล ขาดตรรกะ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย

ส่วนคำตอบหลังนั้นเล่า พวกยักษ์ แทตย์ ทวารบาล ผู้ถูกสั่งให้เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือแท้จริงแล้วกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเลือดประจำเดือนจนถึงกับต้องประกาศห้ามด้วยป้ายว่า “ผู้หญิงห้ามเข้า ผู้หญิงห้ามขึ้น”

การนำยักษ์ก็ดี นาคก็ดี หรือท้าวทวารบาลต่างๆ มาทำหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัฒนธรรมล้านนานั้น นิยมนำมาเฝ้าทั้งหมดสี่ทิศ พร้อมมีการเสกคาถาอาคมแบบไสยศาสตร์ให้ Guardian ผู้นั้นมีอิทธิฤทธิ์เพิ่มยิ่งขึ้น ด้วยการรวมธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ มาไว้ในตัวทวารบาลนั้น เรียกว่า “ฝังหุ่นพยนต์”

สิ่งเดียวที่จะทำให้หุ่นพยนต์คลายความขลังได้ ก็คือการอยู่ใกล้ของเสีย ของบูดเน่า ซากศพ รวมทั้งเลือดประจำเดือนสตรี

ดังนั้น การห้ามผู้หญิงไม่ให้เยื้องกรายเฉียดเข้าใกล้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ความหมายดั้งเดิมจริงๆ โบราณาจารย์กำหนดไว้เพียงเพื่อต้องการป้องกันมิให้พลังอำนาจของหุ่นพยนต์นั้นถูกทำลาย เพราะมิเช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จักไม่มีผู้คอยพิทักษ์รักษา

ในขณะที่คนยุคปัจจุบันเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน คิดว่าข้อห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าใกล้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นการเหยียดย่ำเพศแม่และยกย่องเพศพ่อ

ปัญหาทั้งหมดเกิดมาจากการไร้คำอธิบายของผู้คนในสังคมล้านนาให้กระจะกระจ่าง โปรดทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เหตุผลที่แท้จริงของการไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าใกล้เขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น หาใช่เกิดจากความ “รังเกียจหรือเหยียดหยามเพศแม่” ไม่

ทว่าเกิดจาก “ความเกรงกลัวในอำนาจแห่งระดูของเหล่านารี” ต่างหากที่อาจจู่โจมทำลายเหล่า Guardian ให้ปลาสนาการได้ และตราบที่ไม่มียักษาทวารบาลคอยเฝ้าองค์พระธาตุหรือบ่อน้ำทิพย์ก็อาจตกอยู่ในภยันตราย

ใส่สมการได้ดังนี้ เลือดประจำเดือนสตรีไม่ใช่ศัตรูที่จะทำให้พระธาตุเจดีย์เสื่อม (ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว พระธาตุเจดีย์ไม่มีการปลุกเสกไสยศาสตร์ จึงไม่ต้องกลัวเสื่อม) แต่เลือดประจำเดือนเป็นปฏิปักษ์ต่อหุ่นพยนต์ต่างหาก

ให้เผอิญว่าศาสนาพุทธในดินแดนล้านนา จำเป็นต้องใช้ไสยศาสตร์ (ยักษ์ หุ่นพยนต์) มาเป็น Guardian ช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจสิ่งอัปมงคลมิให้กล้ำกรายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น โบราณาจารย์จึงมองว่า หุ่นพยนต์ยักษาก็มีความสำคัญและไม่ควรถูกทำลายเช่นกัน