สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นวัตกรรมการศึกษา ภาคีเชียงใหม่ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บรรยากาศการสาธิตการสอนทวิ/พหุภาษา สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินไปอย่างคึกคัก สนุกสนาน ได้ความรู้ ความคิดหลากหลาย ด้วยนวัตกรรมใช้ภาษาท้องถิ่นร่วมกับภาษาไทยในการจัดการเรียนรู้

ระหว่างนั้น ผอ.พิศิษฐ์พงษ์ ประธานชมรมทวิภาษาเชียงใหม่ ขอตัวนำเงินที่รวบรวมมาได้ไปร่วมบริจาคให้กับกองทุนเพื่อปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ หรือกองทุน 10 บาท ในเวทีกลาง

กลับมาถึงห้องประชุม เขาเล่าว่า ชมรมมีมูลนิธิทวิภาษาระดมเงินไปมอบภาคีขณะที่เราเองก็อยากได้รับความช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำ มีการรวมตัวของแต่ละโรงเรียน บางแห่งระดมทุนไม่ได้ จัดการศึกษาทวิ/พหุภาษาไม่ได้ หลายโรงเรียนไม่กล้าเดินต่อ เพราะเป็นภาระมาก จึงต้องฝากความหวังไว้กับผู้สนับสนุนเพราะผ่านกระบวนการแบบราชการไม่รู้จะไปได้ถึงไหน

“ตัวอย่าง งบประมาณจ้างครูท้องถิ่น กรณีที่ไม่มีครูที่รู้ภาษาของเด็ก องค์กร มูลนิธิ จ้าง 4,000-6,000 บาทต่อเดือน ส่วนครูไทยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จ่ายอัตราเงินเดือนปกติซึ่งสูงกว่า

“เราจัดการศึกษา แรกๆ ชุมชนไม่เห็นด้วย อยากให้เน้นสอนภาษาไทย แต่พอเรียนไป ภาษาถิ่นควบคู่กับภาษาไทย เด็กได้ความรู้ พฤติกรรมเปลี่ยนไป รักการอ่าน กล้าแสดงออก ผลการทดสอบคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น เลยขยายจาก 1 เป็น 9 โรง ปัญหาที่เจอมากสุด จากส่วนราชการ”

 

ขณะที่สมศักดิ์ ศรีนวล จากมูลนิธิรักไทย บอกว่า ต้องมองที่ครู กระบวนการผลิตครูควรเพิ่มการสอนแบบทวิภาษา พหุภาษา มีความหลากหลายของหลักสูตร ผลิตออกมาแบบเก่าก็จะเป็นภาระโรงเรียน ผู้บริหารย้าย โครงการนี้ย้ายตามไปด้วย

มุมมองของนักการศึกษาทั้งสองท่านสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาของโรงเรียน รอการแก้ไขและความช่วยเหลือยังดำรงอยู่

แม้นวัตกรรมการจัดการศึกษาแนวทางทวิ/พหุภาษาจะเห็นผลที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนต่อตัวเด็ก แต่การขยายให้ทั่วถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือมีบริบทใกล้เคียงกัน ยังมีความท้าทายและต้องการความช่วยเหลือ

ชมรมทวิภาษาจังหวัดเชียงใหม่และมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์จึงร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไข และสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือรวม 6 ประเด็น ตัวอย่างสักสามเรื่องหลัก อาทิ

ปัญหาไม่มีครูรู้ภาษาของเด็ก ทางแก้ 1.บรรจุครูที่รู้และพูดภาษาของเด็กเข้าไปสอนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เช่น ครูผู้รู้ภาษาม้งให้ไปบรรจุในพื้นที่ที่พูดภาษาม้ง ไม่ใช่ไปโรงเรียนที่เด็กพูดภาษากะเหรี่ยง 2.จัดจ้างครูท้องถิ่นในโรงเรียนที่ไม่มีครู ที่เป็นครูทวิภาษา (รู้ภาษาท้องถิ่น-ภาษาไทย)

ปัญหาไม่มีงบประมาณเป็นค่าจ้างครูท้องถิ่นหรือถ้ามีก็ไม่แน่นอนและไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ทางแก้ 1.จัดสรรงบประมาณเป็นค่าจ้างครูท้องถิ่น จนกว่าจะมีครูทวิภาษาประจำการเข้ามาสอนในโรงเรียน 2.สนับสนุนให้ครูท้องถิ่นที่สอนมานานในโรงเรียนนำร่องได้มีโอกาสเรียนขณะที่สอนในโรงเรียน และเมื่อเรียนจบให้ได้รับบรรจุเน้นครูในพื้นที่

ปัญหาครูและผู้บริหารการศึกษาย้ายบ่อย ทางแก้ 1.ให้สิทธิบรรจุครูที่อยู่ในพื้นที่ 2.ให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาสามารถรับและบรรจุครูที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน 3.สร้างขวัญและกำลังใจโดยให้โอกาสในการพิจารณาเลื่อนขั้นและได้รับวิทยฐานะจากการที่อยู่ในพื้นที่และได้รับผลงานเชิงประจักษ์กับตัวเด็ก 4.ครูไม่ควรมีภาระงานอย่างอื่น นอกเหนือจากการสอนเด็กและดูแลเด็กในห้องเรียนเป็นหลัก

สำหรับผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาต้องจัดอบรมให้ตระหนักในเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ก่อนจะเข้าไปในพื้นที่ใช้ภาษาชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย ต้องให้เกิดความเข้าใจการจัดการศึกษาแนวทางทวิ/พหุภาษา

“เป้าหมายของการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปอยู่ที่ตัวเด็กและผลกระทบที่เกิดกับเด็ก ไม่ใช่ผลที่เกิดกับตนเองแต่เพียงอย่างเดียว” เจ็บนะครับข้อนี้

 

ครับ เวทีปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 4 เน้นการแสดงผลงานนวัตกรรมการศึกษา จะพบว่า เชียงใหม่โชว์นวัตกรรมการหลากหลาย สะท้อนได้จากเวทีวิชาการ 17 ห้อง

แต่ที่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) คัดไว้เป็นนวัตกรรมนำร่องก่อน ได้แก่ นวัตกรรมทวิภาษาแก้ปัญหาอ่านเขียน ที่ผมเก็บเรื่องราวมารายงานนี่แหละครับ กับนวัตกรรมการศึกษาเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพ เช่นเดียวกับจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบพหุภาษา และการส่งเสริมทักษะอาชีพ

ขณะที่เขตพื้นที่นวัตกรรมนำร่องที่เหลือ ได้แก่ จ.สตูล นวัตกรรมโครงการฐานวิจัย การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ การเรียนรู้ภูมิสังคม จ.ระยอง นวัตกรรมหลักสูตรระยอง และ Rayong Teaching and Learning Academy จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ จิตศึกษา จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน, จัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน, มอเตสเซอรี่, การเรียนการสอนแบบองค์รวม, การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด, เพาะพันธุ์ปัญญา, Project Approach

เขตนวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เน้นนวัตกรรม Active Learning การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน Lesson Study & Open Approach

หลักการ แนวคิดพื้นฐานและกระบวนการปฏิบัติของแต่ละนวัตกรรม ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องอื่นๆ เป็นอย่างไร วันหน้ามีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์จะเก็บเล็กผสมน้อยมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

ก่อนเวทีสัมมนาทวิ/พหุภาษา เชียงใหม่ จะจบลง ผมคิดถึงครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนแรก พูดแซวเพื่อนครูในวงประชุมว่า

“งานเลี้ยงต้องเลิกรา สัมมนาต้องเลิกเร็ว”

 

ผมปลีกตัวออกจากห้องด้วยความรู้สึกดีใจกับโอกาสของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนใจกับปัญหาอุปสรรค ความยากลำบากที่พวกเขายังต้องเผชิญอยู่ต่อไป

แต่ก็มีความสุข อิ่มเอมใจ ชื่นชม ประทับใจ ทั้งครู ผู้บริหาร และองค์กรสนับสนุนต่างเสียสละทุ่มเทด้วยจิตใจที่สูงส่ง มีมนุษยธรรมพยายามต่อสู้ฟันฝ่า จัดการศึกษาเน้นความเป็นผู้ให้มากกว่าผู้กอบโกย เห็นแก่ตัว

ขอให้กำลังใจทุกคน ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ด้วยจิตคารวะครับ