ไซเบอร์ วอทช์เมน : การเมืองไทยหลังยุค คสช. หลุดพ้นหรือติดวังวนต่อ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสุดจากอำนาจเมื่อมีรัฐบาลใหม่ และเป็นวาระครบรอบ 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นำคณะบุคคลเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง พร้อมกับเสนอตัวเข้ามาทำให้ประเทศไทยสงบเรียบร้อย และคำมั่นสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนชาวไทย

หลังจากรอคอยคำมั่นสัญญามานานหลายปี การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็เกิดขึ้น หลายคนเชื่อว่า คสช.กำลังออกไป อะไรก็จะดีขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาที่ขอเวลาอีกไม่นาน กลับถูกเลื่อนนานพร้อมกับเวลาการบริหารของ คสช.ที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 4 ปี

ความสงบที่ถูกชูเป็นธงหลักในการเข้ายึดอำนาจ กลับเป็นความสงบด้วยการปราบปรามและจำกัดสิทธิ

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กลับทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมากขึ้น คนชายขอบได้รับผลกระทบ ช่องทางทำมาหากินไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน

และการเลือกตั้งที่ผ่านมา กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรมเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับ คสช.ได้ครองอำนาจต่อโดยอาศัยกลไกและสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

ประชาชนและสังคมไทยหลังยุค คสช.จะเป็นยังไงต่อ?

 

การสลายความขัดแย้ง
ในนามความสงบเรียบร้อย

คสช.เข้ามาพร้อมกับบทบาทในฐานะผู้กอบกู้ความสงบและสร้างความปรองดอง สลายความแตกแยกทางความคิด ซึ่งเป็นผลจากการเมืองเหลือง-แดง หลังการรัฐประหาร 2549

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่อยู่ใน คสช.หรือเครือข่ายทางการเมืองของ คสช. มีไม่น้อยที่เป็นคู่ขัดแย้งกับอีกฝ่าย โดยเฉพาะนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมมือเปล่าและในจำนวนนี้ มี 6 ศพถูกสังหารในพื้นที่วัดปทุมวนารามซึ่งเป็นเขตอภัยทาน

การเข้ามามีอำนาจด้วยการใช้กำลังทหาร แม้จะมีการอ้างว่าเป็นการรัฐประหารไม่เสียเลือดเนื้อ

แต่กระนั้น คสช.ยังคงถูกมองจากประชาชนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น

แม้แต่คำว่า “เผด็จการทหาร” ก็กลายเป็นคำแสลงใจ คสช. และด้วยที่มาอันไม่ชอบธรรมนี้ ก็ทำให้เกิดผู้ต่อต้านขึ้น ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยทั้งบนโลกปกติและสร้างตัวตนเคลื่อนไหวบนโลกเสมือนจริง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในวิสัยของ คสช.ขัดการสร้างความปรองดองและความสงบเรียบร้อย

ทำให้ตลอด 5 ปีมานี้ มีนักการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ทนาย สื่อและประชาชนธรรมดาจำนวนนับพันคนถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืนคำสั่งที่เป็นเผด็จการ หลายคนถูกจับ ถูกจำคุก ถูกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ผิดปกติ ถูกอุ้มสูญหาย ถูกบังคับให้ต้องเลือกลี้ภัยทางการเมือง ถูกตามติดและเข้าพูดคุยจนถึงขั้นข่มขู่

เวทีวิชาการ งานเสวนาต่างๆ มีทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เก็บข้อมูลแบบมากผิดปกติ หนักเข้าถูกสั่งห้ามจัดหรือแทรกแซงการจัดกิจกรรมไม่ว่า เปลี่ยนหัวข้อ เปลี่ยนผู้เสวนา โดยอ้างว่าคำสั่งผู้ใหญ่หรือกฎหมาย

สื่อมวลชนก็ได้รับผลกระทบ การตรวจสอบการบริหารรัฐบาลเป็นไปอย่างจำกัด นักข่าว คอลัมนิสต์ถูกจำกัดการแสดงออก

ยิ่งนักข่าวภาคสนามที่ทำข่าวกับคณะรัฐบาล คสช. แม้ถูกปฏิบัติอย่างเกินเลยทั้งปากล้วยใส่ ด่าทอหรือกระทำล่วงเกินต่อร่างกาย

แต่ก็น่าตลกที่นักข่าวที่ถูกกระทำหรือเห็นการกระทำเหล่านี้ กลับยิ้มแย้มหัวเราะและแก้ตัวแทนแค่เป็นการแสดงความเป็นกันเอง นักข่าวหลายคนอยู่ในสภาพ “อยู่เป็น” ทั้งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างก็หายไป ทั้งหมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญหรือหมุดคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ

การใช้กฎหมายหรือใช้กลไกหน่วยงานเพื่อควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพและปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หรือการใช้ตัวกฎหมายทั้ง ม.112 และ ม.116 การตั้งศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก การใช้กำลังตำรวจและทหารในการเข้ากดดันประชาชนที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.หรือสอดแนม ติดตามผู้เห็นต่าง

ตัวอย่างเหล่านี้ คือสิ่งสะท้อนตลอด 5 ปีที่ คสช.ใช้ความกลัวกดข่มใครก็ตามที่ต่อต้าน เพียงเพื่อให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย

 

การเมืองไทยต่อจากนี้

รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดประชุมรัฐสภา นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลผสมเหล่านี้ไม่ว่าจะออกมายังไง พรรคนำที่จัดตั้งรัฐบาล คือพรรคที่ คสช.กรุยทางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะทั้งกลไกอำนาจรัฐ กฎหมายหรือสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูก คสช.กำหนดไว้หมดแล้ว เพื่อรับประกันการอยู่ในอำนาจต่อไป

แม้ก่อนหน้านี้จะวุ่นวายเพราะจัดสรรว่าพรรคไหนได้กระทรวงอะไร ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ควรทำเพื่อให้ประชาชนได้สิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตกลับคืนมา กลับกลายเป็นการแบ่งสรร ปันส่วนอำนาจทางการเมืองของคนที่อยากอยู่ในอำนาจและได้ผลประโยชน์ต่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ คสช.ทำมาตลอด 5 ปี ก็เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมปกปิดเจตนาของตัวเอง และด้วยความพยายามสร้างความชอบธรรมแต่กลับได้รัฐบาลผสมหลายพรรค (มากกว่า 10 พรรค) หากประคับประคองไม่ดี ก็ส่อแววจะได้สภาอ่อนแอและรัฐบาลที่แตกกระจาย

กลายเป็นความโกลาหลทางการเมือง (Political Pandemonium) เกิดขึ้นตามมา

และผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ประชาชนทุกคน และเมื่อประชาชนรับรู้ ก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ หนักสุดถึงขั้นเกิดการประท้วง รัฐบาลใหม่จากมรดก คสช.จะทำยังไง ความสงบที่ คสช.พยายามกดทับไม่ให้วุ่นวาย อาจจะเป็นภาพลวงตา เพราะที่ผ่านมา คสช.พยายามแค่ไหนก็ยังเกิดการต่อต้าน คสช.ไม่สามารถรีเซ็ตสังคมไทยได้จริง แต่กลับในสิ่งตรงกันข้ามคือ กดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เติบโต

ทว่า ยิ่งกดมากและนานเท่าไหร่ ยิ่งมีแต่ปลดปล่อยออกมาหนักหน่วงและรุนแรงขึ้นเท่านั้น