โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อห้อง พุทธสโร วัดช่องลม จ.ราชบุรี

หลวงพ่อห้อง พุทธสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญหล่อโบราณ

หลวงพ่อห้อง พุทธสโร

วัดช่องลม จ.ราชบุรี

“หลวงพ่อห้อง พุทธสโร” หรือ “พระครูอินทเขมาจารย์” วัดช่องลม จ.ราชบุรี พระเกจิผู้ปรากฏเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมาแต่ครั้งอดีต วัตถุมงคลล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเหรียญหล่อโบราณ

ด้านวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมานั้น ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ “เหรียญหล่อหลวงพ่อห้องรุ่นแรก”

เหรียญดังกล่าวมีลักษณะคล้ายเหรียญหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร เนื่องเพราะรูปพรรณสัณฐานเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง มากกว่าเหรียญหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ซึ่งค่อนข้างจะพบเห็นยาก

อีกทั้งอายุของทั้งสองเหรียญไล่เลี่ยกัน

ในปี พ.ศ.2465 อนุญาตให้สร้างเหรียญรูปเหมือนตามที่คณะศิษย์ได้ขออนุญาต โดยมีทั้งเหรียญหล่อและเหรียญปั๊ม เป็นอิริยาบถนั่งสมาธิเต็มองค์ทั้งสองแบบ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว แบบหูขวาง

ด้านหน้า ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนนั่งสมาธิเต็มรูป พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระขอมว่า “พุทธะสังมิ”

ด้านหลังเหรียญปรากฏอักขระขอมเต็มด้านหลัง อ่านได้ว่า “อะ สัง วิ สุ โล อุ สะ พุ ภะ” อันเป็นหัวใจนวหรคุณ ในแถวล่างสุดอ่านได้ว่า “มะ อะ อุ” อันเป็นหัวใจพระรัตนตรัย

ในส่วนของหูเหรียญ ด้านหลังมีลักษณะคล้ายปากปลิง

หล่อด้วยเนื้อทองผสม มีลักษณะสีสันออกทางเหลืองอมเขียว และเหลืองอมแดง

นับเป็นเหรียญหล่อโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเหรียญหนึ่งของจังหวัดราชบุรี

ปัจจุบันหาของแท้ยาก สนนราคาค่อนข้างสูง

เหรียญหลวงพ่อห้องรุ่นแรก

 

หลวงพ่อห้อง เกิดที่บ้านหน้าเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2388

ครั้นเมื่อท่านอายุครบบวช ตรงกับปี พ.ศ.2409 เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดช่องลม จ.ราชบุรี มีพระอธิการวัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูธรรมเสนา (จันทร์) วัดพญาไม้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอินทเขมา (เรือง) วัดท้ายเมือง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อายุได้ 36 ปี พรรษา 15 ในปี พ.ศ.2424 พระครูอินทเขมาจารย์ (เรือง) เห็นถึงความอุตสาหวิริยะหมั่นเพียร และเอาใจใส่ในธุระของการศาสนา จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระปลัด

ต่อมาในปี พ.ศ.2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูอินทเขมา ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

พ.ศ.2455 ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส ได้ช่วยระงับอธิกรณ์น้อยใหญ่ และบริหารคณะสงฆ์ด้วยดีเสมอมา

นอกจากนี้ ยังได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดช่องลมให้เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

 

วัดช่องลม ตั้งอยู่บนถนนไกรเพชร ต.บ้านเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี แต่เดิมวัดชื่อ ช้างล้ม ในอดีตบริเวณวัดเป็นป่าไผ่ มีโขลงช้างมาอาศัยหากินอยู่บริเวณนั้น เมื่อช้างเกิดป่วย เจ็บ และล้มตาย ก็จะตายบริเวณนั้น จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นขนานนามว่า “วัดช้างล้ม”

ต่อมา พ.ศ.2457 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ได้ประทับ ณ วัดนี้ ด้วยเหตุวัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นเหตุให้บริเวณในวัดมีอากาศร่มรื่นเย็นสบาย มีต้นไม้ใหญ่น้อยหนาแน่นมาก บริเวณวัดสะอาด และมีลมพัดเย็นตลอดเวลา

จึงตรัสขึ้นด้วยความสบายใจว่า “วัดนี้อากาศเย็นสบายเหมือนวัดช่องลม มีลมพัดผ่านตลอดเวลาทุกฤดูกาล”

เมื่อเสด็จกลับแล้ว พระครูอินทเขมาจารย์ (ห้อง) ได้จดจำคำว่า วัดช่องลม ตามที่ตรัสไว้ จึงได้ปรึกษากับพระภิกษุ-สามเณร ไวยาวัจกรวัดและชาวบ้านรอบวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดช่องลม” ตามพระดำรัสในครั้งนั้น

แม้ในปีหลังอาพาธใกล้มรณภาพ ก็ยังมีผู้ปรารถนาจะให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งก็รับหน้าที่บวชให้ตามที่ร้องขอ

 

ด้านวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมานั้น ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อห้อง เป็นเหรียญหล่อที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

ร่ำลือกันว่า ในอดีต เสือแป้นหรือเสือฮุย ซึ่งเป็นจอมโจรที่ชื่อเสียงว่าหนังเหนียว เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อห้อง เมื่อเสือแป้นถูกจับและถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ในวันเข้าสู่แดนประหาร คมมีดของเพชฌฆาตไม่สามารถทำอันตรายเสือแป้นได้เลย

จนกระทั่งเสือแป้นยอมเอาเหรียญหล่อโบราณของหลวงพ่อห้องออกจากร่างกาย พร้อมก้มลงกราบลาผู้เป็นแม่ พร้อมสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไป ศีรษะของเสือร้ายก็หลุดกระเด็นออกจากร่างกายของเสือร้ายทันที ชดใช้เวรกรรมที่ก่อไว้ในอดีต

ราวปี พ.ศ.2469 ต้นเดือนพฤษภาคม เริ่มอาพาธหนักขึ้น แพทย์เยียวยารักษาแนะนำให้ท่านฉันอาหารในเวลาเย็น เพื่อจะได้ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ด้วยเคร่งครัดในพระธรรมวินัยจึงไม่ได้ทำตาม

ท่านบอกกับลูกศิษย์ที่เฝ้าดูแลท่านว่า “ถึงแม้จะถึงชีวิตก็จะไม่ขอล่วงพระธรรมวินัยแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็จะไม่ยอม” ในที่สุดการอาพาธในครั้งนั้นก็เป็นวาระสุดท้าย

วันที่ 29 มิถุนายน 2469 มรณภาพ เวลาตี 4 กับ 55 นาที ขณะนั่งสมาธิ

สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61