สุรชาติ บำรุงสุข | หกตุลา (ภาคสอง) ยุคดิจิตอล? กลัว เกลียดชัง ป้ายสี ปราบปราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เราจะอดทนอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุทั้งปวง… เราจะดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์… เราเป็นคนไทยที่รักประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะไม่ยอมให้คนกลุ่มใดมาเนรคุณและทำร้ายชาติอีกต่อไป”

กลุ่มอาชีวะไทยใจรักษ์แผ่นดิน

บทความนี้สำรวจปัญหาความหวาดกลัวทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมไทย

ซึ่งหนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการเมืองไทยปัจจุบันที่แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว กลับเห็นความพยายามในการปลุก “กระแสขวาจัด”

การสร้างกระแสเช่นนี้ก็คือ การขับเคลื่อนการเมืองด้วยความเกลียดชัง

ที่สุดท้ายแล้ว “ขั้วการเมือง” ที่ถูกสร้างขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีทางที่จะลดความเข้มข้นลงได้เลย

และหากมองจากบทเรียนของความขัดแย้งในหลายประเทศแล้ว ความเป็นขั้วการเมืองอย่างสุดโต่งที่มีความเกลียดชังเป็นพื้นฐานอย่างไม่มีจุดจบเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมือง และหากรัฐเข้าสู่กับดักสงครามเช่นนี้แล้ว ลำดับต่อไปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือสภาวะ “รัฐล้มเหลว” (failed states)

ว่าที่จริงบทเรียนในอดีตของไทยก็เกือบเดินเข้าสู่สภาวะเช่นนั้นมาแล้ว

ดังจะเห็นจากบทเรียนสำคัญเมื่อการเมืองถูกครอบงำด้วยความเกลียดชัง จนนำไปสู่การล้อมปราบครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฉะนั้น วันนี้จึงหวังว่าความกลัวที่ขับเคลื่อน “การเมืองแห่งความเกลียดชัง” ของกลุ่มปีกขวาหรือฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ใช่การปูทางไปสู่การปราบปราม จนกลายเป็น “หกตุลาภาคสอง” ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็อาจจะต้องเรียกให้สอดคล้องกับยุคสมัยว่าเป็น “หกตุลา ยุคดิจิตอล”

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการเมืองด้วยความเกลียดชังเช่นนี้ก็คือภาพสะท้อนของปัญหา “ความกลัว” ที่ก่อตัวขึ้นในหมู่ผู้นำสายอนุรักษนิยมและรวมถึงมวลชนของพวกเขา ที่ไม่สามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

และหวังที่จะหมุนการเมืองกลับสู่จุดที่ทุกอย่างยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาเช่นในอดีต

หรืออีกนัยหนึ่งพวกเขาเหล่านี้ฝันถึงโลกเก่าที่ไม่มีวันหวนกลับคืนมา

แต่ก็หวาดกลัวต่อการก้าวสู่อนาคต

เพราะอำนาจการควบคุมในอนาคตไม่ได้เป็นเช่นเดิมอีกต่อไปแล้ว

(วารสาร Bulletin of Concerned Asian Scholars ฉบับ ๖ ตุลาฯ )

บริบทการเมืองไทย

การเมืองไทยในความเป็นจริงยังคงเป็นเช่นการเมืองในประเทศโลกที่สามทั่วไป

ที่แม้ประเทศจะก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วยการพัฒนาเพียงใดก็ตาม แต่การเมืองก็ยังคงในมือของกลุ่มผู้นำสายอนุรักษนิยม ที่คุมอำนาจในโครงสร้างของรัฐทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร อำนาจเช่นนี้อยู่ในแบบทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ว่าที่จริงแล้วการคงอยู่ของกลุ่มนี้ก็คือ การสร้าง “โครงข่าย” ของสายสัมพันธ์แห่งอำนาจของบรรดาผู้นำปีกขวาที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนในการนำพาประเทศไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเขาต้องการควบคุมประเทศไทยให้เดินไปบนเส้นทางสายอนุรักษนิยมเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเผชิญกับความท้าทายมาโดยตลอดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การเมืองเปิดกว้างมากขึ้น อันทำให้เกิดการขยายตัวของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

แต่การเปิดการเมืองเช่นนี้ก็ยุติลงด้วยรัฐประหารในปี 2490 ความท้าทายที่เกิดขึ้นถูกควบคุมด้วยความสำเร็จในการสร้างพันธมิตรทางการเมืองที่สำคัญระหว่างผู้นำสายอนุรักษนิยมกับเสนานิยม อันทำให้เกิดการผสมผสานกำลังทางการเมืองแบบ “ไตรภาคี” อันได้แก่ การสนธิกำลังอำนาจระหว่างอนุรักษนิยม จารีตนิยม และเสนานิยม ซึ่งการผสมผสานพลังทั้งสามส่วนนี้เข้าด้วยกัน ทำให้กลุ่มปีกขวาไทยมีอำนาจในการควบคุมทางการเมืองมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน

ในอีกด้านของการต่อสู้ทางการเมือง กลุ่มอนุรักษนิยมไทยที่มีอีกด้านเป็นกลุ่มจารีตนิยมในตัวเองไม่ได้มีพลังมากในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย

ผลจากรัฐประหารทำให้เห็นความชัดเจนว่า ชัยชนะของกลุ่มเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยพลังของกลุ่มเสนานิยม ที่เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมกำลังรบของกองทัพไทย

เพราะพลังอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมไม่มากพอที่จะเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ทางการเมือง

แต่ด้วยพลังของกลุ่มเสนานิยม พวกเขาสามารถเปลี่ยนการเมืองได้ตามต้องการ หรือสามารถล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

จนรัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือหลักสำหรับฝ่ายขวาในการเอาชนะทางการเมือง จนพวกเขาแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเลือกตั้ง

บดขยี้ความท้าทาย

ถ้าความท้าทายที่เกิดหลังจากการมาของการเมืองชุดใหม่ในปี 2475 ถูกทำลายด้วยความสำเร็จของการรัฐประหาร 2490 แล้ว

การเมืองหลังปี 2490 แม้จะมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจของหลายกลุ่มการเมือง แต่ก็เป็นดังช่วงเวลาที่พิสูจน์ว่าความเป็น “ไตรภาคี” ของกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มจารีตนิยม และกลุ่มเสนานิยมยังจะต้องดำเนินต่อไป

แม้ตัวบุคคลในระดับนโยบายบางคนจะถูกเปลี่ยนออกไป แต่ทิศทางของพันธมิตรของสามกลุ่มจะไม่เปลี่ยนไปเป็นอื่น

หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ทิศทางเช่นนี้ยังจะต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความท้าทายชุดใหม่มาพร้อมกับโลกสงครามเย็น อันมีความกลัวอย่างสำคัญว่าแล้ววันหนึ่งสงครามคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้นในไทย

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2508 เกิดเหตุการณ์ “เสียงปืนแตก” ซึ่งเป็นการเปิดการโจมตีด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเช่นนี้เป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อการคงอยู่ของรัฐไทย เพราะหากเป็นฝ่ายแพ้ มิใช่หมายถึงเพียงการล่มสลายของรัฐไทยเท่านั้น หากยังหมายถึงการสิ้นสุดของสถาบันแห่งชาติและอุดมการณ์อนุรักษนิยม-จารีตนิยมไทยอีกด้วย

ฉะนั้น การต่อสู้ในสงครามคอมมิวนิสต์จึงทำให้ต้องสร้างคำขวัญเพื่อเป็นเข็มมุ่งทางอุดมการณ์ และให้เกิดความชัดเจนในทิศทางการต่อสู้ อันทำให้มีการชูแนวคิดเรื่อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นคำขวัญหลักของพลังไตรภาคีในการรวมใจผู้คนในสังคมให้เข้าร่วมการต่อสู้ อีกทั้งเพื่อบ่งบอกถึงสิ่งที่จะต้องพิทักษ์จากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์

ความท้าทายอีกประการในยุคสงครามเย็นของไทยหลังจากการปะทะด้วยกำลังอาวุธเป็นครั้งแรกในชนบทแล้ว ในเดือนตุลาคม 2516 รัฐบาลเผด็จการทหารก็ถูกโค่นล้มจากพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่ระบอบทหารล้มลงไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร แต่ด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน

การเมืองเปลี่ยนไปจากยุคทหารอย่างมาก และขณะเดียวกันการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในชนชั้นต่างๆ ก็มีมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อีกทั้งยังนำไปสู่การขยายตัวอย่างมากของอุดมการณ์สังคมนิยมในไทย

และเห็นได้ชัดถึง “การปะทะทางอุดมการณ์” (The Clash of Ideologies) จนต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงในปี 2516 เป็นความน่ากลัวทางการเมืองสำหรับกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยม

ความน่ากลัวปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อรัฐบาลนิยมตะวันตกพ่ายแพ้สงครามในเดือนเมษายน 2518 กล่าวคือทั้งกัมพูชาและเวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์

และในสิ้นปีเดียวกันนั้นลาวก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความพ่ายแพ้เช่นนี้เป็นดังการล้มลงของ “หมากโดมิโน” ตามทฤษฎีที่มีชื่อเดียวกันจากการนำเสนอของนักความมั่นคงอเมริกันว่า ถ้าโดมิโนเริ่มล้มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จะนำมาซึ่งการล้มตามกัน และในขณะนั้นโดมิโนล้มถึงสามตัวแล้ว รอเพียงการทดสอบทางทฤษฎีว่าโดมิโนตัวที่สี่ที่กรุงเทพฯ จะล้มตามด้วยหรือไม่

การต่อสู้ที่เข้มข้นสำหรับรัฐไทยจึงมิได้มีเพียงการต่อสู้ในทางทหารเท่านั้น หากการต่อสู้ของอุดมการณ์การเมืองก็เป็นอีกแนวรบที่สำคัญ การชูคำขวัญสามประการที่เป็นดัง “ตรีเอกานุภาพ” (Trinity) ของอุดมการณ์ขวาไทยจึงถูกนำมาใช้เพื่อการโฆษณาทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และจำเป็นต้องผนึกกำลังของ “ไตรภาคี” ให้เข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่

ในแนวรบของการโฆษณาทางการเมืองย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” เข้ามาเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ และสำหรับฝ่ายทหาร ฝ่ายตรงข้ามมีสถานะเป็น “ข้าศึก” แม้พวกเขาเหล่านี้จะอยู่ในประเทศก็ตาม

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะต้องทำให้ภาพของฝ่ายตรงข้ามเป็นลบ และยิ่งทำให้เป็นลบได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งชนะได้เร็วเท่านั้น

การสร้าง “วาทกรรมของความเกลียดชัง” ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีต่อขบวนการนักศึกษาที่เป็นพลังใหม่ในขณะนั้นดำเนินไปด้วยเป้าหมายหลักประการเดียวคือ การมุ่งทำลายทางการเมือง และเมื่อการทำลายทางการเมืองเดินมาถึงจุดสูงสุดแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ การทำลายทางกายภาพ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง

ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 สะท้อนให้เห็นถึง “บันไดสี่ขั้น” ของฝ่ายขวาคือ หวาดกลัว-เกลียดชัง-ป้ายสี-ปราบปราม

แต่ผลในองค์รวมกลับไม่เป็นไปตามความความหวัง ความกลัวที่จบลงด้วยการปราบปรามนั้น กลับทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ขยายตัวมากขึ้นในชนบทไทย

และยิ่งพวกเขาดำเนินนโยบายขวาจัดมากเท่าใด ฝ่ายตรงข้ามรัฐก็ยิ่งเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากขึ้นเท่านั้น

คำถามจึงเหลือเพียงประการเดียว จะต่อสู้ด้วยนโยบายเก่าและแพ้ หรือจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่และชนะ

แต่การจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ได้นั้น กลุ่มขวาจะต้อง “เลิกกลัวและเลิกเกลียดชัง” เพื่อยุติแรงผลักดันในการปราบปราม จนสุดท้ายแล้วปีกขวาไทยยอมที่จะปรับนโยบาย และสลายความเกลียดชังที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ความสำเร็จเช่นนี้นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ และเป็นโอกาสของการนำพาสังคมกลับสู่ภาวะปกติ… สงครามจบลงด้วยเพลงของ “คนในป่า” ถูกนำมาร้องเล่นในเมืองอย่างไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุม พร้อมการกลับคืนสู่สังคมของชาวพรรคคอมมิวนิสต์โดยไม่ต้องกลัวการถูกล่าสังหาร และสงครามสิ้นสุดลงด้วยการก้าวสู่ความสมานฉันท์และปิดฉากความแตกแยกทางอุดมการณ์ในไทย

บทเรียนของการยุติสงครามและการสร้างความสมานฉันท์ในยุคสงครามเย็นอาจจะหายไปพร้อมกับกาลเวลา และเหลือเพียงความทรงจำที่ลางเลือน

ความกลัวในยุคปัจจุบัน

แม้สงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงนานแล้ว แต่ความท้าทายสำหรับปีกขวาไม่ได้สิ้นไปกับยุคสมัย เพราะในการเมืองปัจจุบันที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์ ความท้าทายชุดใหม่ก็เกิดขึ้นอีก แต่ครั้งนี้มาจากกระแสประชาธิปไตย การต่อสู้ครั้งใหม่จึงเป็นเรื่องระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม-จารีตนิยม-เสนานิยม

การต่อสู้ครั้งนี้ในด้านหนึ่งมีการใช้พลังเสนานิยมในการโค่นล้มรัฐบาลเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2549 และ 2557 แต่ก็เห็นได้ชัดถึงความล้มเหลวของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายอนุรักษนิยม

เพราะชัยชนะจากการรัฐประหารเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และชี้ให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษนิยม (หลังการรัฐประหารทั้งสองครั้ง) ไม่สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งได้

สถานการณ์กลับพลิกมากในการเลือกตั้งปัจจุบัน เมื่อพรรคคนรุ่นใหม่ชนะเป็นลำดับสามและพรรคปีกขวาชนะเป็นลำดับสอง

ในสภาวะเช่นนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมจึงพยายามที่จะใช้การทำลายล้างที่ไม่แตกต่างจากปี 2519 มากนัก โดยอาศัยวาทกรรมของความเกลียดชังมาเป็นปัจจัยในการป้ายสี… ความกลัวของกลุ่มปีกขวากำลังกลับมามีบทบาทในการเมืองไทยอีกครั้ง

และความกลัวเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โอกาสของการสร้างความสมานฉันท์เกิดไม่ได้ในสังคม เพราะอำนาจที่จะปรับทิศทางสังคมการเมืองยังอยู่ในมือของกลุ่มไตรภาคีที่ยืนอยู่ท่ามกลางความกลัว และความกลัวเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของความรุนแรง

การขับเคลื่อนของกลุ่มขวาไทยในปัจจุบันเป็นไปตามยุคสมัยที่อาศัยสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือ ความเกลียดชังและการป้ายสีถูกสร้างและบรรจุลงในโลกออนไลน์ในแบบของปฏิบัติการจิตวิทยา ที่หวังให้คนส่วนใหญ่เชื่อ และมีพลังที่ดึงเอาผู้คนในสังคมให้เข้าร่วมการต่อสู้เหมือนเมื่อครั้งที่ฝ่ายขวาอาศัยความกลัวคอมมิวนิสต์เป็นแรงขับเคลื่อนในการปราบปรามในปี 2519

แต่สังคมไทยมีบทเรียนมาแล้วจากการสร้างวาทกรรมของความเกลียดชังที่จบด้วยการขยายตัวของความขัดแย้ง จนสุดท้ายต้องหายุทธศาสตร์ใหม่เพื่อพาประเทศไทยออกจากสงคราม

จึงหวังว่าบทเรียนปี 2519 จะยังมีมรดกทางความคิดเหลืออยู่ให้ตระหนักว่า ถ้ายังดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อไปอย่างสุดโต่งแล้ว

ปลายทางอาจจบลงด้วยการเป็นรัฐล้มเหลว ดังเช่นหลายประเทศในแอฟริกา!