อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อำนาจนิยม ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

จากการศึกษาของธีระ นุชเปี่ยม (ธีระ นุชเปี่ยม “มุมมองทางทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจนิยม” ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ชนชั้นนำและแรงงานสัมพันธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว. 2019)

อำนาจนิยมในเอเชียเป็นประเด็นโดดเด่นประการหนึ่งในการศึกษาการเมืองของภูมิภาคนี้

ประเด็นซึ่งเคยได้รับความสนใจอย่างมาก (หรือยังคงเป็น “ประเด็น” ในการศึกษาวิเคราะห์จนถึงทุกวันนี้) คือ อำนาจนิยมเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียบางประเทศเพียงใด (1)

ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของ “ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่” (newly industrializing economies – NIEs) โดยเฉพาะ “สี่เสือเศรษฐกิจ” (ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 เป็นผลอย่างสำคัญมาจากแนวทางที่เรียกว่า “พัฒนานิยม” (developmentalism) (2) ซึ่งอาศัยการควบคุมกำกับโดยภาครัฐของดินแดนเหล่านี้ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้ระบอบปกครองอำนาจนิยมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง คือ อินโดนีเซีย ในช่วงระยะใกล้เคียงกัน ก็อยู่ในช่วงอำนาจนิยมของ “ระเบียบใหม่” (New Order) ของซูฮาร์โต (Suharto)

แม้ว่าอำนาจนิยมในบางดินแดน โดยเฉพาะเกาหลีใต้และไต้หวัน จะเสื่อมคลายไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 (ในประเทศไทยพัฒนาการด้านประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษนี้จนถึงครึ่งแรกของทศวรรษต่อมา) และวิกฤตการเงินเอเชีย (Asian Financial Crisis) ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้อำนาจนิยมซูฮาร์โตล่มสลายลงในช่วงปลายทศวรรษ

แต่หลังจากนั้นไม่นานอำนาจนิยมก็เริ่มหวนกลับมาใหม่ โดยที่วาทกรรม “ธรรมาภิบาล” (good governance) ที่แพร่ขยายภายหลังวิกฤตครั้งนั้น ซึ่งมุ่งหมายที่จะจัดการกับระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง (crony capitalism) ที่เฟื่องฟูภายใต้อำนาจนิยมและมีส่วนในการก่อให้เกิดวิกฤตดังกล่าว

กลับมิได้มีผลเท่าใดนักที่จะทำให้อำนาจนิยมเสื่อมคลายไปโดยสิ้นเชิง (3)

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะนั้น อำนาจนิยมเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นกระแสหลักทางการเมืองในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด

ประเทศซึ่งดูเหมือนจะมีรูปแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเนื้อแท้แล้วมีความเป็นอำนาจนิยมอย่างมาก

ฟิลิปปินส์ซึ่งมีการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราช ตกอยู่ภายใต้เผด็จการมาร์กอส (Ferdinand E. Marcos) เกือบ 2 ทศวรรษตั้งแต่ต้นทศรรษ 1970

อินโดนีเซีย เมียนมา และประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเป็นเวลายาวนาน

บรูไนอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งอดีตจวบจนปัจจุบัน

กัมพูชาอยู่ภายใต้ระบอบเอกาธิปไตย (autocracy) ของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ (Sihanouk) ก่อนจะตกอยู่ภายใต้สภาพสงครามกลางเมืองและเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบรุนแรงโหดร้ายของเขมรแดง (Khmer Rouge)

ขณะที่ลาวและเวียดนามภายหลังสงครามกลางเมืองก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มาจนทุกวันนี้

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีช่วงสมัยที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน แต่ก็ต้องสดุดหรือหยุดชะงักลง

ประเทศไทยภายหลังการโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาสในเดือนตุลาคม 1973 ประสบการยึดอำนาจโดยคณะทหารอีกหลายต่อหลายครั้งโดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 นี่เอง กัมพูชาได้รับการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่โดยสหประชาชาติในช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่เมื่อถึงประมาณต้นทศวรรษต่อมาก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมของฮุน เซน และภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 กัมพูชาก็กลายเป็นระบบการเมืองพรรคเดียว (เพราะพรรครัฐบาลกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปทั้งหมด)

ในฟิลิปปินส์ประชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟูภายหลังระบบเผด็จการมาร์กอสถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชนใน ค.ศ.1986 แต่ลักษณะการใช้อำนาจของดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ที่มาจากการเลือกตั้งใน ค.ศ.2016 ก็ดูจะมีผลคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน อย่างสำคัญ

ประชาธิปไตยในเมียนมาได้รับการฟื้นฟูในช่วงระยะใกล้เคียงกัน แต่ปฏิบัติการปิดกั้นเสรีภาพอันรวมไปถึงการจับกุมสื่อมวลชน อันเป็นผลมาจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา (Rohingya) โดยกองทัพเมียนมาในเดือนสิงหาคม 2017 [ประชาคมโลกโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติเรียกปฏิบัติการต่อประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมากลุ่มนี้ซึ่งเคยมีมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายครั้งว่า เป็นการ “ล้างเผ่าพันธุ์” (ethnic cleansing)] โอกาสที่ประเทศจะก้าวหน้าต่อไปในทิศทางนี้ก็เริ่มเป็นที่น่าสงสัย

แม้กระทั่งในอินโดนีเซียกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อถึงขณะนี้ก็เผชิญกับอิทธิพลของการเมืองทางศาสนาและเชื้อชาติ ซึ่งส่งผลไปถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

แนวโน้มเช่นนี้เห็นได้จากกรณีการจำคุกอดีตนายกเทศมนตรีจาการ์ตาซึ่งเป็นคริสเตียนเชื้อสายจีนในความผิดดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

 

เมื่อถึงปลายทศวรรษที่ 2 ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ก็ปรากฏรายงานและบทวิเคราะห์โดยทั้งนักสังเกตการณ์และนักวิชาการที่มองว่า “ระบอบปกครองอำนาจนิยมกำลังแพร่ขยายในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้” (4)

เมื่อมองไปข้างหน้าใน ค.ศ.2018 ก็จะเห็นว่า “อำนาจนิยมกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว” ในภูมิภาคนี้ (5)

หากมองจากปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องหรือได้รับอิทธิพลจากความเปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น “ตัวแบบของจีนกำลังประสบชัยชนะขณะที่ค่านิยมเสรีนิยมเป็นฝ่ายสูญเสีย”

นั่นคือ “การปรากฏอย่างน่าหวาดหวั่นของอำนาจนิยมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้รับการหนุนเสริมอย่างสำคัญยิ่งโดยระบบการควบคุมจากส่วนกลางประกอบกับพลวัตทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จของจีน” (6)

หากมองกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากนักว่า “ภายใต้เงาของการก้าวขึ้นมาโดดเด่นของจีนเมื่อไม่นานมานี้นั้น ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ศาลที่เป็นอิสระ หลักนิติธรรม ขันติธรรมทางศาสนา และการปกป้องชนกลุ่มน้อยกำลังถูกคุกคามหรือถูกขจัดไปเลยในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (7)

เราอาจมองได้แม้กระทั่งว่า กระแสอำนาจนิยมกำลังขยายตัวในลักษณะลุกลามจากชาติหนึ่งไปยังอีกชาติหนึ่ง

“เมื่อถึง ค.ศ.1990 ขณะที่ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปทั่วโลกในฐานะระบบเศรษฐกิจจากมอสโกไปถึงปักกิ่ง ปรากฏการณ์เบอร์ลินตะวันออก และอินโดจีนนั้น เวียดนามและพันธมิตรกัมพูชาและลาวได้รักษาระบบอำนาจนิยมให้คงอยู่เป็นศูนย์กลางระบบการเมืองของตน และสิ่งนี้ก็กำลังแพร่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” (8)

ระบอบปกครองอำนาจนิยมที่เข้มแข็ง เหนียวแน่น ยืดหยุ่น และขยายตัวเช่นของเวียดนาม ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่พันธมิตรสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ให้ปิดกั้นสื่อ จำกัดประชาธิปไตย และขจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างความกระอักกระอ่วนแก่ผู้มีอำนาจ” (9)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 อำนาจนิยมจะกระจายตัวไปทั่วหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่า จุดกำเนิดใหม่ พัฒนาการ โครงสร้างและการปรับเปลี่ยนของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน

ดังนั้น เราจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเป็นเชิงเปรียบเทียบต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อๆ ไป

——————————————————————————————————————
(1) Youssef Cohen, “The Impact of Bureaucratic-Authoritarian Rule on Economic Growth”, Comparative Political Studies, Vol. 18 (1), April 1985 available at https://www.researchgate.net/publication/247899029_The_Impact_of_Bureaucratic-Authoritarian_Rule_on_Economic_Growth และโปรดดู Tim Kelsall, Authoritarianism, Democracy and Development [Birmingham : The Development Leadership Program (DLP), November 2014] available at http://publications.dlprog.org/SOTA3.pdf

(2) Erik S. Reinart, Developmentalism (Tallinn: Working Papers in Technology, Governance and Economic Dynamics No. 34, The Other Canon Foundation, Norway, December 2010 available at http://hum.ttu.ll/wp/paper34.pdf

(3) Mark R. Thompson, “Pacific Asia after “Asian Values” : Authoritarianism, Democracy, and Good Governance”, Third World Quarterly, Vol. 25, No. 6 (2004), pp. 1079-1080

(4) Ben Barber, “Authoritarianism Gains in Southeast Asia”, Foreign Service Journal, May 2018 http://www.afsa.org/sites/default/files/flipping_book/0518/52/

(5) Thitinan Pongsudhirak, “Looking ahead 2018 : Authoritarianism Is Accelerating in Southeast Asia”, Nikkei Asian Review, 1 January 2018 https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Looking-ahead-2018/Authoritarianism-is-accelerating-in-Southeast-Asia

(6) เรื่องเดียวกัน

(7) Barber, “Authoritarianism Gains in Southeast Asia”

(8) เรื่องเดียวกัน

(9) เรื่องเดียวกัน