คำ ผกา : ฮัลโหล นักเขียน

คำ ผกา

คนไทยคงอยู่กับการรัฐประหารและมีความคุ้นเคยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน้อยเกินไป มิหนำซ้ำ ระยะเวลาสั้นๆ ที่ได้อยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็มักจะเสียเวลาไปกับการเกลียดชังนักการเมืองเสียจนไขว้เขวในหลักการรัฐศาสตร์เบื้องตั้น – และเมื่อพูดถึงหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น คนจำนวนไม่น้อยก็ยังถูกทำให้ไขว้เขวด้วยวาทกรรม รัฐศาสตร์แบบตะวันตกไม่เหมาะกับเมืองไทย-ด้วยเหตุดังนั้น เวลาที่เราพูดว่า “รัฐบาล” เรามีแนวโน้มจะคิดว่า รัฐบาลผู้รู้ดีกว่าประชาชน มีอำนาจเหนือประชาชน ทำหน้าที่ปกครองประชาชน

เรามักมองรัฐบาลเหมือนลูกมอง “พ่อ” – นั่นคือมองว่า พ่อมีอำนาจดูแล คุ้มครองสมาชิกในบ้านให้อยู่ดีกินดี พ่อมีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในบ้าน คนในบ้านมีหน้าที่เชื่อฟังพ่อ หรือหากพ่อขาดตกบกพร่อง เราก็จะเรียกร้องว่าพ่อควรทำอย่างนั้นอย่างนี้

ใช่ – ฉันกำลังพูดถึง จดหมายเปิดผนึกของ คุณสุมิตรา จันทร์เงา ที่เขียนถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมการอ่าน พร้อมทั้งฝากความหวังเอาไว้กับรัฐบาล ว่า

“อนาคตทางด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะวรรณกรรม ทัศนศิลป์ ช่างมืดมนเสียจริง ความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่เป็นแสงริบหรี่ก็คือความช่วยเหลือจากรัฐบาลนี้ กราบเรียนมาด้วยความเคารพรักในฐานะคนเขียนหนังสือคนหนึ่ง” http://www.matichon.co.th/news/394163

 

การเขียนจดหมายโดยตรงถึงผู้นำประเทศเพื่อขอให้ผลักดันนโยบายใดนโยบายหนึ่ง ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างหนึ่ง

เช่น เราเคยเห็นข่าวเด็กอเมริกันอายุ 5 ขวบ เขียนจดหมายถึงโอบามา ขอร้องให้รับผู้อพยพเข้ามาในประเทศมากขึ้น และตัวเขายินดีจะรับผู้อพยพมาเป็นน้องหรือเป็นพี่เป็นสมาชิกของครอบครัวเขา

การเขียนจดหมายของเด็กห้าขวบนี้ ไม่ได้ทำให้โอบามาต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องผู้อพยพทันที แต่มันสร้างความสะเทือนใจ สร้างความตระหนักรู้หรือสร้างคำถามต่อสาธารณชน

ทีนี้ หากสาธารณชนเกิดเห็นตรงกันในปริมาณที่มหาศาล – ปริมาณมหาศาลของประชาชนนี้เอง จึงจะกลายเป็นแรงกดดันต่อ “รัฐบาล” ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย รับหรือไม่รับผู้อพยพ

แต่เดี๋ยว – กลไกแบบนี้แปลว่า ประเทศนั้นมีการเลือกตั้ง และนักการเมือง หากอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องหูไวตาไวกับความแรงกดดันจากพลเมือง

ทีนี้จดหมายของคุณสุมิตรา มันจะไปก่อให้เกิดผลเช่นนั้นได้อย่างไร?

สมมุติ คนอ่านจดหมายของคุณสุมิตรา แล้วตะโกนว่า “บราโว่” ถูกต้อง รัฐบาลไหนๆ ของไทยก็ไม่เคยส่งเสริมการอ่าน แย่จัง ดูสิ มีช็อปปิ้งช่วยชาติ น่าจะมีซื้อหนังสือช่วยชาติบ้าง จากนั้นสิ่งนี้กลายเป็นกระแสสังคม ถามต่อไปว่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

คำตอบคือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐบาลเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องฟังว่าคุณสุมิตราต้องการอะไร เพราะเขาไม่ได้ต้องการเสียงโหวตหนึ่งเสียงจากคุณสุมิตรา

หรือต่อให้มีอีกหนึ่งล้านโหวตก็ไม่แคร์ เพราะรัฐบาลไม่ได้มาจากการโหวต

 

การไปขอความเมตตาจากรัฐบาลนี้ว่าเป็นแสงแห่งความหวังอันริบหรี่ความหวังเดียวจึงไม่ต่างอะไรจากคนในยุคโบราณเมื่อสักพันปีที่ผ่านมา หากมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปสั่นกระดิ่ง ร้องทุกข์สายตรงหาผู้ปกครอง ส่วนผู้ปกครองจะช่วยหรือไม่ช่วยก็มานั่งลุ้นกันไป และไม่มีใครรู้ว่าเรื่องไหนจะฟลุก โดนใจได้รับความช่วยเหลือ หรือเรื่องไหนจะรอดหูรอดตาไป หรือไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนในสายตาของผู้ปกครอง ก็อดไป

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดว่า เรา “ส่งเสียง” ของเราออกไปเพื่อกดดันรัฐบาลนั้น เราต้องตระหนักด้วยว่า มีแต่รัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนเท่านั้นถึงจะแคร์ “เสียง” ที่ประชาชนกู่ร้องออกมา

และหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นก็บอกเราอยู่แล้วว่า เมื่อพูดว่า “รัฐบาล” สำหรับระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลไม่ใช่ผู้ปกครองของประชาชน แต่คือ ตัวประชาชนเองนี่แหละ ที่ส่งตัวแทนไปบริหารบ้านเมือง

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ใช่แสงความหวังหรือผู้มีญาณทิพย์ที่จะดลบันดาลความอยู่ดีกินดีหรือจะมีภาวะรู้แจ้ง ยูเรก้า ได้ฉับพลันว่า “เฮ้ยยยยยย เราต้องส่งเสริมการอ่านสิ มันเป็นเรื่องที่ดีต่อพลเมืองนะ”

ไม่นับว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงความมั่นคงของอำนาจเผด็จการคือ “ความเขลา” ของพลเมือง ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ในรัฐเผด็จการคือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มความเขลา แม้แต่การอ่านก็เป็นการอ่านเพื่อให้ความเขลาเข้มแข็งขึ้น

ในรัฐเผด็จการจึงมีกิจกรรมการอ่านการเขียนมากมาย แต่มิใช่การอ่านการเขียนที่สร้างความตื่นรู้ทางปัญญา อีกทั้งยังแน่นหน้าไปด้วยการปิดกั้นข้อมูล ข่าวสาร – เจอสองอย่างนี้ฟีเจอริ่งกันไปติดต่อยาวนานสักสามสิบปี ก็สามารถเข้าใจและมีความสุขกับประเทศเกาหลีเหนือได้

ในรัฐเผด็จการ อาจมีการตั้งกองทุนนักเขียน ส่งเสริมให้ทุนนักเขียนพิมพ์หนังสือโดยไม่ต้องแคร์ว่าใครจะซื้อหรือใครจะอ่าน คล้ายๆ กับที่กระทรวงวัฒนธรรมเคยให้ทุนนักสร้างหนังทำหนังเพื่อตอบสนองต่ออะเจนด้าของรัฐ ทำออกมาแล้วไม่มีคนดูก็เกณฑ์นักเรียนเกณฑ์ครูบาอาจารย์เหมาโรงดูกันไป – ทำยังกะว่าไม่เคยเห็น

รัฐอาจให้ทุนนักทำหนังโฆษณาสุดฮิปชิกคูลเพื่อทำหนังโปรปากานดาคูลๆ ให้สลิ่มไทยกรี๊ดสลบกี่เรื่องก็ได้ แล้วยัดคำพูดแบบศีลธรรมจรรยายั่งยืนมุ่งมั่น อะไรก็ว่าไปภายใต้เปลือกฮิปๆ เพราะกระแส “อัลเทอร์เนทีฟฮิปปี้” ฝรั่งกับกระแสพุทธๆ แบบอิงอนุรักษนิยมของไทย ถ้าดูแต่เปลือกนอกแล้วมีความคล้ายกันอยู่เยอะ

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ถ้าอำนาจรัฐเผด็จการจะดลบันดาลเงินมาสักก้อน ให้ทุนนักเขียน เขียนหนังสือ ตั้งรางวัลนักเขียนแห่งชาติ นักเขียนแห่งปี ให้ทุนทำนิตยสาร กี่ร้อยเล่มก็ได้ แต่ต้องทำให้สอดคล้องกับ “วาระ” ทางอุดมการณ์ของรัฐบาล

เชื่อสิ ถ้ามีส่งเสริมการอ่านแบบนี้ จะมีนักเขียนไม่น้อยที่ชื่นมื่นเพราะสมประโยชน์สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ตนเองอยาก endorse อยู่พอดี และเพื่อความแนบเนียนก็อาจจะแทรกๆ นักเขียนสายลิเบอรัลที่มีท่าที compormise หน่อยๆ เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่หน่อย มาเข้าโครงการหรือได้รับรางวัลอะไรกับเขาไปด้วย เพื่อสร้างแบรนด์ว่า “นี่ไง ฉันส่งเสริมทางปัญญาจริงๆ นะ”

ไม่ต่างอะไรจากรางวัลซีไรต์ รางวัลแห่งชาติต่างๆ และอื่นๆ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทย ที่ในที่สุด มันเป็นสถาบันที่เอาไว้ tame กบฏ มีกลไกว่าด้วยการ accommodate ศัตรูให้เข้ามาเป็นพวก ตัดแขนตัดขา อุปสรรคทางอุดมการณ์ หรือภาษาโบราณเรียก “ร้อยก้นไว้ใช้”

และนี่คือเหตุผลที่ฉันบอกว่า การขอการส่งเสริมการอ่านจากรัฐที่ไม่ได้มาจากครรลองประชาธิปไตยจึง “ตลก”

แต่การส่งเสริมการอ่านรัฐอำนาจเบ็ดเสร็จทำได้หรือไม่?

ทำได้

เราจำเป็นต้องเรียกร้อง กดดันรัฐบาลหรือไม่?

จำเป็น แต่ไม่ใช่ด้วยการขอความเมตตา ทว่า ด้วยการออกมายืนยันเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิด เขียน พูด และวิจารณ์ โดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

และดีที่สุดที่นักเขียนพึงทำคือ ไม่ไปร่วมขบวนล้มประชาธิปไตย from the beginning

การอ่านที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือออก แล้วซาบซึ้งกับงานเขียนโปรปากานดา แต่ต้องอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อ่านอย่างวิพากษ์

การอ่านที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นมีเสรีภาพในการคิด พูด และเขียน

การอ่านอย่างมีคุณภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในสังคมที่อุดมไปด้วยการเซ็นเซอร์ และกฎหมายจำกัดเสรีภาพในทุกระดับ

การอ่านอย่างมีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีพื้นที่ให้หนังสือทุกประเภททั้งดีและเลว ไม่ควรมีชนชั้นระหว่างวรรณกรรมชั้นต่ำ วรรณกรรมชั้นดี น้ำดี น้ำเน่า นิตยสารจะไร้สาระแค่ไหน หากมีคนอ่านก็คือมีคนอ่าน นิตยสารไร้สาระ จอมปลอม วันหนึ่งไม่มีคนอ่านปิดตัวไปก็อย่างอแง

นิตยสารบางเล่ม ซีเรียสมาก สาระเยอะ ปิดตัว ไม่มีคนซื้อก็ต้องรับสภาพ เพราะคุณภาพสังคมก็จะสะท้อนธุรกิจ “หนังสือ” และคนทำหนังสือก็ต้องสรรหาวิธีที่จะให้คนมาอ่านหนังสือของตัวเองให้จงได้ เพราะ “สาระ” กับ “ความน่าเบื่อ” ไม่จำเป็นต้องเป็นของคู่กัน

 

การส่งเสริมการอ่านจากภาคประชาสังคม และหากจะมีความเคลื่อนไหวในหมู่นักเขียน อันดับแรก คุณต้องเห็นคุณค่าในเสรีภาพของมนุษย์

แต่ที่ผ่านมา นักเขียนไทย และสมาคมนักเขียนไทย ทำงานหนักแค่ไหนในการยืนยันเสรีภาพของคนไทย ซึ่งเป็น “ลูกค้า” ของนักเขียน หากไม่เป็นลูกค้าในวันนี้ก็คือลูกค้าในวันข้างหน้า

มีนักเขียนจำนวนมาก ดูถูกเพื่อนร่วมชาติว่าจน ว่าโง่ ว่าไร้การศึกษา ว่าแม้กระทั่งเป็นพรมเช็ดเท้า แล้วจะให้ประชาชนที่ไหนอยากโอบอุ้มอุดหนุนนักเขียน

มีนักเขียนจำนวนมาก สะใจกับการที่สิทธิของเพื่อนร่วมชาติถูกละเมิด อีกทั้งเข้าร่วมขบวนการปล้นเสรีภาพของประชาชน แล้วจู่ๆ อยากให้มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง

ประชาชนอ่านและเขียนไม่ได้หากปราศจากเสรีภาพ

อาชีพนักเขียนจะเรืองรองไม่ได้หากปราศจากเสรีภาพ

นักเขียนหากไม่ต่อสู้เพื่อพื้นที่แห่งเสรีภาพทางปัญญา นักเขียนก็เป็นแค่คนเขียนหนังสือเพื่อ “ยังชีพ” เท่านั้น – เช่นที่ฉันเป็นอยู่ทุกวันนี้ – คือเขียนแลกเงินกินข้าวไปวันๆ เพราะไม่ได้มีความสามารถทางวรรณกรรมที่สามารถคั้นความทุกข์ระทมจากการถูกกดขี่มาเป็นวรรณกรรมได้

แล้วก็ไม่มีความกล้าหาญเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเขียนหนังสือเพื่ออุดมการณ์ของตน

เมื่อรู้ตัวก็ยอมรับเสียว่า เออ…ทุกวันนี้หายใจเข้าออกรอวันตายกับเขียนหนังสือทำมาหากินไปวันๆ เท่านั้น

เราคุยกันเรื่องรัฐบาลอิตาลีแจกคูปอง 500 ยูโรให้วัยรุ่น นำไปซื้อหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน) ไปซื้อตั๋วคอนเสิร์ต ไปซื้อตั๋วดูละครหรืออะไรก็ได้ที่เป็นการประเทืองสุนทรียะของชีวิตและเป็นการเพิ่มต้นทุนทางวัฒนธรรมให้กับตนเอง เราคุยกันเรื่องรัฐบาลไต้หวันมี รมต.กระทรวงวัฒนธรรมเป็นนักเขียน มีการส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง เราคุยกันเรื่องห้องสมุดสุดสวยในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศในละตินอเมริกาที่ก็เป็นประเทศโลกที่สามเหมือนกันกับเรา

ถามว่า “อำนาจ” ในการสนับสนุน “การอ่าน” ของรัฐบาลอิตาลี ไต้หวันมาจากไหน?

คำตอบคือมาจากประชาชนไง

รัฐบาลแสนดีแสนฉลาด รมต.นักเขียนเหล่านั้นไม่ได้หล่นปุ๊ลงมาจากสวรรค์ แต่คือคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำงาน

ถ้าประชาชนเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม ของการอ่าน ของห้องสมุด รัฐบาลก็ย่อมดำเนินนโยบายเหล่านี้ได้โดยราบรื่นต่อเนื่อง

แต่ถ้าประชาชนในประเทศนั้นไม่เอาด้วยกับการลงทุนทางวัฒนธรรม รัฐบาลหรือ ส.ส. ต่อให้มีอีกร้อยนักเขียนได้เป็นรัฐมนตรี ขืนทะเล่อทะล่าไปผลักดันนโยบายเหล่านี้โดยไม่มีแรงหนุนจากประชาชน โครงการดีๆ นโยบายดีๆ ก็พังได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เวลาจะชมว่ารัฐบาลไต้หวัน รัฐบาลอิตาลี ดีอย่างงั้นอย่างงี้ ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า รัฐบาลมาจากประชาชนว้อยยยยยย

ประชาชนเขาเลือกรัฐบาลเขามาดีว้อยยยยย

ส่วนพวกที่เลือกรัฐบาลก็ไม่ได้เลือก ยังเผือกจะมากระบึงกระบอนว่า กระทืบเท้าเร่าๆ ว่าทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมการอ่าน ก็กลับบ้านไปส่องกระจกแล้วถามตัวเองว่า แล้วทำไมรัฐบาลเขาต้องแคร์เธอว์และสิ่งที่เธอว์ต้องการ

เขียนมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า เอ๊า ที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแคร์ “ทุนทางวัฒนธรรม” และส่งเสริมการอ่านแค่ไหนเชียว

เอ๊า…มิวเซียมสยาม และ TCDC และไอ้องค์กรที่ชื่อว่า OKMD หรือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้นั้นตั้งมาในปี 2547 รัฐบาลพลเรือนที่ปัญญาชนเกลียดกันนักเกลียดกันหนา นั่นแหละ

จะดีจะชั่ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่า หน่วยงานนี้ มิวเซียมสยาม TCDC และทุกกิจกรรม ทุกนิทรรศการ – โอ้ววว เด็กบ้านนอกอย่างฉันได้ดูนิทรรศการของ วิเวียน เวสต์วู้ด ที่กรุงเทพฯ ก็เพราะ TCDC นะ – ที่จัดโดยหน่วยงานคือ จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรม และเป็นวัฒนธรรมที่เป็นสากล และเป็นครั้งแรกที่เราได้ออกจากปริมณฑลแห่งความเป็นไทยไปสัมผัสโลกศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกกับเขาเสียบ้าง

และแม้จะเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ฉันเชื่อว่าหากไม่มีรัฐประหารปี 2549 OKMD จะทำงานได้เรืองรองผ่องใสกว่านี้ และป่านฉะนี้ นักเขียนทั้งหลายอาจประสบความสำเร็จในการผลักดันการส่งเสริมการอ่านและธุรกิจหนังสือให้เป็นนโยบายของรัฐบาลแล้วก็เป็นได้

แต่เรื่องของเรื่องคือ นักเขียนส่วนมากเห็นว่านักการเมืองมันชั่วไงคะ

เรื่องของเรื่องคือนักเขียนชอบอยู่กับคนดีไงคะ

เรื่องของเรื่องคือความเจ๊งกระบ๊งของวงการนิตยสารและความตายของนักเขียนไทยมันเป็นลูกผสมกันของสองปัจจัยที่มาเจอกันโดยมิได้นัดหมาย

ปัจจัยแรกคือ การออกจากความเป็นประชาธิปไตยไปสู่ระบบอำนาจสัมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นำมาสู่การ “ตอน” สติปัญญาของคนในสังคมและล้างสมองคนในสังคมไปพร้อมๆ กันโดยใช้อำนาจแข็งและอำนาจอ่อน ทำให้คนไทยหมดความสามารถในการอ่านเชิงคุณภาพ และต้องเผชิญกับความทุกข์ยากทางเศรรษฐกิจ จนการอ่านงานที่ “ยาก” หรืองานที่ต้อง “คิด” กลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยในชีวิต

ปัจจัยที่สอง สื่อใหม่ในโลกยุคดิจิตอล นำพาคนไทยไปอยู่ในภูมิศาสตร์การอ่านแบบใหม่ที่ไร้พรมแดน สื่อใหม่นำพาผู้คนไปพบกับ Free content จากทั่วโลกที่ใหม่ สด มีความเป็นออริจินอล รวดเร็ว ไม่ต้องซื้อหา ทุกคอนเทนต์กลายเป็นของฟรี แถมปราศจากความเย่อหยิ่งแบบที่นิตยสารไทยชอบเป็น

เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ก่อนเข้าสู่โลกดิจิตอล นิตยสารไทยทำตัวเป็น “กูรู” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สั่งสอนแกมดูถูกคนอ่าน และเป็นเวทีโอ้อวดความร่ำรวดของทั้งไฮโซจริงไฮโซวอนนาบี ทั้งเป็นเวทีส่งเสริมค่านิยมบูชาชาติศักดิ์ตระกูลและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยความบูชาสังคมที่ต้องมีลำดับชั้นต่ำสูง

พูดง่ายๆ ว่าที่ผ่านมา นิตยสารไทยเกือบทั้งหมด เป็นเอเย่นต์ของอุดมการณ์แห่งโลกก่อนสมัยใหม่มาโดยตลอด

เมื่อต้องมาเจอกับการไหลบ่าของ free content ที่มีความหลากหลายมาเสิร์ฟคนอ่านอย่างไม่อั้น นิตยสารและนักเขียนที่ยังงมงายอยู่ในโลกและสุนทรียะแบบเก่าๆ ก็ต้องล้มหายตายจากไปเป็นธรรมดา

พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้คนไทยมีสองประเภทคือคนที่ไม่อ่านอะไรเลย เพราะไม่รู้จะอ่านไปทำไม กับคนที่ยังอ่านอยู่แต่เลิกอ่านสื่อเก่าหันไปอ่านสื่อใหม่และสื่อจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะงานของนักเขียนในประเทศมันไม่ตอบโจทย์

 

เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่วงวารของนิตยสารและวรรณกรรมไทยมันจะหดแคบ เรียวเล็กลงทุกที

อ้อ…หากมีอะไรที่ต้องพูดกับนักเขียน ฉันมีสองข้อ

หนึ่ง นักเขียนไม่พึงเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการส่งเสริมการอ่าน (เพราะมันจะน่ากลัวมาก) แต่เราควรเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการยกเลิกการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชนและเราต้องทำงานเพื่อเปิดโปรปากานดาของรัฐบาลเผด็จการ

สอง นักเขียนแบบไหนกันที่เชื่อว่า รัฐบาลเผด็จการจะยูเรก้า อยากบันดาลปัญญาให้สังคม