คำ ผกา | ทำไมเราทำอย่างเขาไม่ได้?

คำ ผกา

อยู่ๆ เมืองอย่างไทเปก็กลายเป็นเมืองที่ฉันกลับไปเที่ยวทุกปี และปีนี้เป็นปีที่สามและตั้งใจว่าเลือกไทเปเป็นเมือง “หย่อนใจ” ประจำปี

คำว่า “หย่อนใจ” นั้นต่างจากคำว่า “ไปเที่ยว” หย่อนใจสำหรับฉันคือ ไปในสถานที่ที่ตัดขาดตัวเองจากการทำงานโดยสิ้นเชิง

จากนั้นใช้เวลากับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต้องรีบตื่นเช้าเพื่อจะไปไหน หรือไปดูอะไร ใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเดินเล่น สูดอากาศ ช้อปปิ้ง หาของอร่อยๆ กินข้างทาง และหาอาหารดีๆ กินในยามเย็น

ไทเปเป็นเมืองที่ลงตัวมากสำหรับทำกิจกรรมเหล่านี้ ไม่นับว่าบินแค่สามชั่วโมงครึ่ง ค่าครองชีพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ และดูเหมือนจะถูกกว่าด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับประเทศโลกที่ 1 มีสีสัน บรรยากาศที่มีชีวิตชีวา

มีความเป็นบ้าน บ้าน มีบรรยากาศสำเพ็ง มีบรรยากาศย่านร้านเชียงกง มอมแมม

มีตลาดขายปลาแห้ง ปลาเค็ม ไม่น่าเบื่อหรือเป๊ะไปทุกตารางนิ้วแบบญี่ปุ่นที่บางครั้งก็เป๊ะจนเหนื่อย

แล้วก็นั่นแหละ ทุกครั้งที่ได้ไปเห็นบ้านอื่นเมืองอื่น ที่เขาตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาเมืองเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพลเมืองของเขา กลับมาเมืองไทยก็ต้องมีอาการสะท้อนใจทุกทีว่า เพราะอะไรหนอ บ้านเมืองของเราถึงไปไม่ถึงตรงนั้นเสียที

และคงต้องบันทึกไว้ตรงนี้อีกว่า กลับมาจากไทเปปุ๊บ สิ่งแรกที่ฉันเจอในกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาทำงานคือ ใช้เวลาเดินทางจากบ้านสิริรวม 2.30 ช.ม. ไปทำงานในระยะทาง 6 กิโลเมตร และไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน แต่คือ 11 โมงเช้า!!!

และไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมรถจึงติดอย่างผิดปกติ แล้วก็ดูราวกับว่าคนไทยเรานั้นชาชินเสียแล้วกับสภาพเช่นนี้ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตน

เราอาจจะบ่นนิดๆ หน่อยๆ แต่เป็นการบ่นแกมปลงว่า “มันก็เป็นแบบนี้แหละ”, “รถติดเป็นเรื่องธรรมดา แก้ไม่ได้หรอก” ฯลฯ

ไม่ใช่แค่รถติดอย่างเดียว ทั้งเรื่องอากาศร้อน ฝุ่น pm 2.5 ปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ เราคนไทยอยู่กับประเด็นปัญหาเหล่านี้ด้วย mind set ว่า มันเป็นปัญหาโลกแตก มันเป็นสิ่งที่แก้ไขไมได้ มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

เช่น อากาศร้อน และอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงเฉียดสี่สิบองศา

แน่นอนว่านี่คือฤดูร้อน และอากาศที่ร้อนจัด ร้อนไหม้ ร้อนแผดเผา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

เมื่ออากาศร้อน สิ่งเดียวที่เรานึกถึงคือการติดแอร์ ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งการติดเครื่องปรับอากาศ เป็นของจำเป็นแน่ในอากาศเช่นนี้

แต่สิ่งที่เราต้องคิดต่อจากนั้นคือ เครื่องปรับอากาศก็ปล่อยความร้อนออกมาด้วย และยิ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

สุดท้ายกลายเป็นวงจรอุบาทว์ คือ อากาศร้อน เปิดแอร์-แอร์หลายสิบล้านช่วยกันระบายความร้อนออกสู่อากาศอีก-อากาศร้อนขึ้นอีก-เราจึงต้องเปิดแอร์ให้หนักขึ้นอีก วนเวียนไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งที่เราจำเป็นต้องคิดต่อสำหรับการพัฒนาเมืองให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์คือทำอย่างไรให้มีการเปิดแอร์น้อยลงบ้าง?

หรือทำอย่างไรให้แดดร้อนๆ ทำร้ายคนได้น้อยลง?

สิ่งอันเรียบง่ายที่เมืองอัน “ฉลาด” เขาทำกันคือ ปลูกต้นไม้ในเมืองให้มาก จัดสรรพื้นที่ทำสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ริมทางเดิน ริมถนน ต้นไม้ในเมืองยิ่งหนาแน่น ยิ่งมีมาก เมืองก็ย่อมเย็นลงบ้าง

คำว่าเย็นลงบ้างในที่นี้ไม่ได้แปลว่าฤดูร้อนระอุจะกลายเป็นความเย็นฉ่ำแบบป่าดงดิบ

มันก็ยังคงร้อนอยู่นั่นแหละ แต่ต้นไม้ย่อมคายความชื้น และให้ร่มเงาแต่มนุษย์ผู้สัญจรในเมือง

ความรู้สึกของมนุษย์ที่ได้เดินอยู่ใต้ร่มเงาไม้ ย่อมต่างจากมนุษย์ที่ต้องเดินระอุบนเปลวแดดระยับบนผืนป่าคอนกรีตใช่ไหม?

สิงคโปร์นั้นอากาศร้อนกว่าบ้านเรา แต่เขาก็ปลูกต้นไม้จนเขียว ร่มเย็นไปทั้งเมือง

ไทเปที่ฉันเพิ่งไปก็เช่นกัน นั่งรถจากสนามบินเข้ามาในเมืองสองข้างทางก็เป็นภูเขาที่มีป่าไม้เขียวขจี สบายหูสบายตา เข้ามาในเมืองจะเห็นการจัดการเมืองที่เป็นระบบ มีทางเท้าอันสะอาด กว้างขวาง ราบเรียบ

ถนนสายหลักในดาวน์ทาวน์ของเมืองมีอุโมงค์ต้นไม้หนาแน่นไปทุกสาย เรียกได้ว่าถ้าถนนมีหกเลน ก็มีแถวต้นไม้เคียงข้างถนนไปหกแถวเช่นกัน

คน “ขี้นอก” อย่างฉัน เห็นความใจกล้าของการปลูกต้นไม้เช่นนี้ก็สะเทือนใจมาก

ไต้หวันนั้นยังไม่มีที่นั่งในยูเอ็น ยังไม่รู้เลยสถานะของดินแดนตัวเองจะได้เป็นประเทศแล้วหรือยัง

ในอนาคตจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนหรือไม่

ในความลุ่มๆ ดอนๆ ของความเป็น “ประเทศ” แถมยังเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติยิ่งใหญ่ ร่ำรวยอะไรนัก

มองในแง่นี้ ประเทศไทยกับไต้หวัน น่าจะมีต้นทุนในการสร้างบ้านแปงเมืองมาเท่าๆ กัน

แต่ทำไมไต้หวันถึงสร้างเมืองที่น่าอยู่ดูเป็นประเทศโลกที่ 1 ขึ้นมาได้?

แล้วทำไมเมืองไทย หรืออย่างน้อยกรุงเทพฯ ถึงทำไม่ได้?

ในไทเปไม่เพียงแต่มีรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมโยงทุกจุดของเมืองเข้าด้วยกัน แต่ยังมีสถานีจอดจักรยานรองรับการเชื่อมต่อของแต่ละจุดจากสถานีรถบัส ป้ายรถเมล์ รถใต้ดิน

แล้วทั้งหมดนี้ใช้บัตรโดยสารระบบเดียวกัน นั่นคือ บัตรที่ใช้กับรถใต้ดินก็ใช้กับรถเมล์ ใช้กับจักรยาน

เช่น พอขึ้นจากรถใต้ดินมา เราก็ต้องเอาบัตรไปรูดกับจักรยาน เพื่อปั่นต่อไปยังจุดหมาย

แทนที่จะต้องเดิน หรือนั่งวิน หรือนั่งแท็กซี่ไปต่อ

พอไปถึงที่หมายก็แค่เอาจักรยานไปจอดที่สถานีหรือป้ายจักรยานที่ใกล้ที่สุด

บัตรก็หักเงินเราตามระยะทางและเวลาที่เราใช้ แสนสะดวก

ตัดปัญหาว่าต้องเอาจักรยานพับได้ขึ้นรถไฟฟ้าไปด้วยหรืออะไร และตอบโจทย์เรื่อง connectivity ของเมือง ของคนได้ครบถ้วน

การเดินและปั่นจักรยานที่ไทเป เป็นระบบการจัดการเหมือนญี่ปุ่นคือ ปั่นบนทางเท้า หรือไม่ก็แบ่งเลนทางเท้าเป็นเลนจักรยานด้วย

นั่นแปลว่าเขามีทางเท้าที่กว้างขวาง ปลอดภัย แถมด้วยการมีต้นไม้อันเขียวชอุ่ม เป็นร่มเงาให้คนเดินเท้าและคนปั่นจักรยาน

เมื่อคนใช้รถสาธารณะ เดินเท้า ปั่นจักรยาน ก็ลดจำนวนรถบนถนน ลดมลพิษ ลดอุณหภูมิ – การเดินในเมืองไทเปจึงรื่นรมย์ สะอาด สบาย หายใจโล่งเป็นที่สุด

คําถามที่ใหญ่มากในใจของฉันคือ ทำไมบ้านเราทำไม่ได้?

ทำไมรถเมล์บ้านเราถึงพัง ถึงควันดำ ถึงเก่าเหลือเกิน สับปะรังเคเหลือเกิน?

ทำไมทางเท้าบ้านเราถึงห่วยแตกเบอร์นี้ ทั้งแคบ ทั้งปูดโปนเป็นท้าวแสนปม

ทำไมต้นไม้ริมทางของเรากลายเป็นอุปสรรค ปัญหาของการสัญจร

ทำไมบ้านอื่นเมืองอื่น ที่ต้นไม้อยู่กลางถนนต้นใหญ่ๆ ไม่มีล้มลงมาทับคนตายเหมือนบ้านเรา

ทำไมรากต้นไม้บ้านเรามันต้องแทง ดันฟุตปาทออกมากระเจิดกระเจิง?

ทุกครั้งที่เดินเท้าอยู่บนทางเท้าเมืองไทย ฉันก็ต้องคิดทุกทีว่า คนที่คิด ทำ ออกแบบเมืองเมืองนี้ เขาเห็นเราที่เดินๆ ถนนอยู่นี่เป็น “คน” หรือเปล่า?

ทำไมถึงสักแต่ว่าทำ ทำไมไม่คิดสักนิดเลยหรือว่า ทำออกมาแล้ว คนที่ใช้ เขาจะได้รับความสุข ความสบายอะไรบ้าง?

ฉันเขียนเรื่องเหล่านี้มาแล้วนับร้อยๆ ครั้งและคงต้องเขียนต่อไป

เพราะประเด็นของเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ต้นไม้ ถนน ทางเท้า รถเมล์ จักรยาน

แต่ทุกครั้งที่ฉันเดินในเกียวโต ในสิงคโปร์ ในไทเป แล้วรู้สึกได้ว่าฉันเป็นคน มีค่า มีความหมาย เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเกียรติ มีศรี

อันตรงกันข้ามกับความรู้สึกเวลาเดินตากแดดเปรี้ยงบนทางเท้าในกรุงเทพฯ หรือลุยน้ำท่วมในวันฝนตก หรือการติดแหง็กอยู่บนถนนเป็นชั่วโมงๆๆๆ

หรือการนั่งตัวโยนขโยกบนรถเมล์ที่ทั้งร้อนหรือเหม็น อันทำให้ต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า นี่เขาคนบริหารบ้านเมือง คนใช้ภาษี ใช้งบประมาณบ้านเมือง

เขาเห็นเราเป็นสิ่งมีชีวิตแบบไหนกันหนอ?