โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (3)

เรือกลไฟเจ้าพระยา เรือเมล์ลำแรกของสยามวิ่งระหว่างบางกอก-สิงคโปร์ นำแอนนาและบุตรชายมาถึงสยามในปี ค.ศ.1862

โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (3)

           

ความงามของหนังสือ “อ่านสยามตามแอนนา” ที่สะกดผู้อ่านเป็นพิเศษคือภาพของบ้านเมืองในสมัย 150 ปีมาแล้วตามที่แหม่มแอนนาบรรยายไว้ ภาพบางภาพเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและมีความเจริญเข้ามาแทนที่ เช่น มีการตัดถนนมากขึ้น เมืองขยายออกไปจากศูนย์กลางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นมา

แต่ภาพบางภาพยังคงหยัดยืนอยู่มิได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา นั่นคือความอลังการแห่งราชธานี

ซึ่งคนไทยทุกหมู่เหล่าได้เห็นแล้วจากการถ่ายทอดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นภาพของพระบรมมหาราชวังตามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีได้ทรงสร้างไว้ และอยู่คู่แผ่นดินมาจนทุกวันนี้

แหม่มแอนนานั้นเมื่อเดินทางมาถึงสยามด้วยเรือเดินสมุทร และจากเรือเดินสมุทรก็นั่งเรือเล็กเข้าสู่เมืองบางกอก ในสมัยนั้นการสัญจรทางน้ำ ถือเป็นปกติ เธอได้บรรยายไว้ว่า

“เลยไปอีกหนึ่งโค้งน้ำ ภาพทิวทัศน์มุมกว้างแปลกตาของเมืองลอยน้ำก็ปรากฏขึ้นตรงหน้าเราราวกับภาพวาดบนผ้าผืนใหญ่ ท่าเรือและเรือนแพเปิดโล่งเป็นร้านค้า วางสินค้าแปลกตาและผ้าแพรพรรณอยู่ริมฝั่งน้ำ”

ภาพเหล่านี้เร้าความรู้สึกโหยหาอดีตอันเงียบสงบ ร่มเย็น เปี่ยมเสน่ห์ที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน

 

“รุ่งเช้าเริ่มสาดแสงงามบนแม่น้ำ แสงตะวันวิบไหวอยู่บนระลอกผิวสีเงินและแสงสีทองอาบเรือทุกลำของชาวตลาดขณะพวกเขาจ้วงพายพาเรือล่องขึ้น-ลงอย่างเฉื่อยเนือย ร้านค้าลอยน้ำเปิดหมดแล้ว ต่างจัดเรียงสินค้าสารพันน่าสนใจของเขาเพื่อดึงดูดประชาชนหรือคนแปลกหน้าที่ผ่านไปมา

“ยามค่ำคืนตะเกียงหลายพันดวงถูกจุดแขวนไว้ตามบ้านเรือนจนท้องน้ำสว่างไสว ตะเกียงและโคมหลากรูปทรง สีสัน และขนาด ผสานกันก่อให้เกิดภาพชวนหลงใหลสว่างไสวตระการตาราวเนรมิต ทั้งเรือนแพและร้านค้าที่ลอยน้ำ เสากระโดงเรือ ยอดสูงของเจดีย์และเชิงเทิน รวมถึงกำแพงและหอคอยของพระบรมมหาราชวังต้องแสงไฟจากโคมตะเกียง เกิดเป็นภาพสวยงามราวต้องมนต์ ภาพชวนฝันให้อารมณ์ตะวันออกผสมผสานกับสิ่งของต่างๆ ทั่วไปทำให้สิ่งธรรมดาๆ กลายเป็นความน่าพิศวง”

ในยุคนั้นสายน้ำคือเส้นทางสายหลักของชีวิตผู้คน แหม่มแอนนาเล่าว่า ความนิยมในการปลูกเรือนแพเป็นที่อยู่อาศัยมาจากการที่ในยุคหนึ่งอหิวาต์ระบาด พระมหากษัตริย์จึงได้บัญชาให้ราษฎรสร้างที่พักบนแม่น้ำเสียเลย

“เรือนแพที่ขนานกันเป็นแถวแนว สองแนวบ้าง สามแนวบ้างนั้นกินระยะทางยาวไกลไปตามฝั่งแม่น้ำหลายไมล์ บ้านเรือนแพเหล่านี้สร้างด้วยไม้ ออกแบบและทาสีอย่างมีรสนิยมปลูกอยู่บนแพไม้ไผ่มัดด้วยโซ่อย่างแน่นหนารองรับตัวบ้านอีกชั้น แม่น้ำเปรียบเสมือนถนนสายหลัก ส่วนร้านรวงที่ลอยตัวอยู่สองฟากฝั่งเปรียบเป็นตลาดใหญ่ของเมือง จำหน่ายข้าวของทั้งที่คุ้นตาซึ่งนำเข้ามาจากอินเดีย จีน มะละกา พม่า ปารีส ลิเวอร์พูล และนิวยอร์ก”

เธอบรรยายได้เห็นภาพชัดกระจ่าง มีชีวิตชีวา

 

เธอบรรยายให้เราเห็นว่า อ้อ สมัยรัชกาลที่ 4 มีสินค้ามากมายหลายหลากจากทั่วโลก ไม่เฉพาะจากซีกโลกตะวันออกแต่จากซีกโลกตะวันตกอันศิวิไลซ์ ทันสมัย แลในยุคนั้นคนมีฐานะก็ซื้อหาสินค้าจากตะวันตกมาใช้สอยเสริมบารมี

มีวิถีชีวิตอีกมุมหนึ่งที่แหม่มแอนนาบรรยายไว้ซึ่งค่อนข้างถูกใจผู้เขียนคือเรื่องการนอนกลางวัน ซึ่งในยุคนั้นทำกันเป็นปกติวิสัย เธอบรรยายไว้ว่า

“ในแต่ละวันนับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น ฝูงเรือแจวบรรทุกบุรุษนุ่งห่มผ้าเหลืองศีรษะล้านเกลี้ยงจะแวะไปตามบ้านเรือนทุกหลังตามริมน้ำ บุรุษเหล่านี้คือพระสงฆ์ที่ออกมารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน เมืองบางกอกแห่งเดียวมีพระสงฆ์ราว 20,000 รูปที่ได้รับบาตรจากชาวเมือง

พอเที่ยงวันทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองจะพากันหยุดนิ่งโดยพลัน ความเงียบสงบเข้าครอบคลุม ชาวบ้านทั้งชาย-หญิงและเด็กๆ พากันงีบหลับพักผ่อนหลบร้อน แม้แต่วัว-ควายยังพากันหลบเข้าใต้ร่มไม้ ฝูงนกกายังหยุดบินโฉบเฉี่ยวไปมา ยามนี้เสียงที่ได้ยินก็มีแต่เสียงคลื่นน้ำกระทบฝั่งหรือไหลเอื่อยเท่านั้น”

อากาศที่ร้อนอบอ้าวคือที่มาของวัฒนธรรมนอนพักกลางวันของคนและสัตว์ในเมืองสยามเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่คนไทยจะดูเกียจคร้านในสายตาของชาติตะวันตก บันทึกของฝรั่งกี่คนๆ ที่เข้ามาเมืองไทยก็เอ่ยถึงนิสัยเกียจคร้านของคนไทยไม่มีเว้น

แหม่มแอนนายังนับว่าสุภาพที่เธอไม่เคยเอ่ยเรื่องนี้เลย ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องขอบคุณชาติตะวันตกที่คิดค้นเครื่องปรับอากาศให้คนไทยได้ใช้กัน ซึ่งก็ทำให้คนไทยหายเกียจคร้านไปโดยปริยาย บรรดาคนไทยในวิถีชีวิตสมัยใหม่ต่างก็กลับเข้าทำงานในสำนักงานที่เย็นฉ่ำหลังอาหารกลางวัน ทำให้ได้ “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” มากยิ่งขึ้น

อันว่าเครื่องปรับอากาศจะเข้ามาในเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ก็คงไม่ยากที่จะสืบค้น และน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

กลุ่มคนที่ไม่สามารถเอื้อมถึงเครื่องปรับอากาศก็คือเกษตรกรไทย หนึ่งร้อยห้าสิบปีก่อนเป็นเช่นไร ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น หลังอาหารมื้อกลางวันก็ยังคงพักผ่อนงีบหลับที่เถียงนาอยู่เช่นเดียวกับสมัยของแหม่มแอนนา

 

คุณูปการของแหม่มแอนนากับบันทึก “มองสยามตามแอนนา” ที่คุณสุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ ได้แปลมาให้เราอ่านกันนี้ก็คือการที่แหม่มเธอได้ทำให้เราเห็นภาพบ้านเมืองและผู้คนธรรมดาๆ ของสยามในยุคโน้น ซึ่งตามวัฒนธรรมตะวันตกเมื่อได้เห็นอะไรก็ต้องบันทึกไว้ เป็นวัฒนธรรมของ “การเขียน” ในขณะที่วัฒนธรรมของไทยเรานั้นเป็นวัฒนธรรมของการ “บอกเล่า” มากกว่า

ถ้าจะมีการจดบันทึกไว้ก็เป็นเรื่องของท้าวพระยามหากษัตริย์ ไม่มีเรื่องของคนธรรมดา

เราจึงได้รู้เรื่องของ “คนธรรมดา” จากบันทึกของฝรั่งทั้งหลาย

ไม่มีบันทึกของไทยที่ไหนจะเอ่ยถึงเรื่องพระบิณฑบาต หรือเรื่องวัว-ควายพักผ่อนตอนบ่ายแบบนี้

แหม่มแอนนายังได้บรรยายถึงถนนหนทาง บางกอกยามค่ำคืน ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำให้คนไทยที่สนใจบ้านเมืองสมัยก่อนน่าจะได้อ่านอย่างยิ่ง

สิ่งที่แหม่มแอนนาหงุดหงิดคับข้องใจในประสบการณ์ที่สยามของเธอคือเรื่องของ “ฮาเร็ม” ของกษัตริย์ ซึ่งจะขอเขียนถึงในคราวหน้า