จรัญ มะลูลีม : วิถีอิสลามต่ออิหร่าน

จรัญ มะลูลีม

อิสลามในชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของอิหร่าน

หลังจากชัยชนะแห่งการปฏิวัติอิสลาม ประชาชนชาวอิหร่านผู้ซึ่งมีความหวังมานานแล้วที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางอิสลามต่างก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิสลามเป็นอย่างดี

ซึ่งเห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ.1985 ซึ่งประชาชนผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงประมาณ 14 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดของประเทศได้ไปร่วมลงคะแนนเสียงให้แก่ประธานาธิบดีคอมาเนอีถึง 12 ล้านเสียงเศษ

ประธานาธิบดีฮาซัน โรฮานี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนล่าสุด ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาไม่นานก็มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงให้จำนวนมากเช่นกัน

นับเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความสนใจและการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในประเทศอิหร่านและเป็นแนวโน้มที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวอิหร่านนั้นมีความเคารพเชื่อฟังและมอบความรักให้แก่ผู้นำการปฏิวัติอย่างมาก

เพราะผู้นำการปฏิวัติคืออะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี เป็นบุคคลตัวอย่างในด้านศีลธรรม

เป็นครูผู้อยู่ในระเบียบวินัยทางศาสนามาโดยตลอด

ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกผูกพันและรับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ประชาชนชาวอิหร่านเชื่อมั่นในอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ได้มีบัญญัติไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ว่า

“อัลลอฮ์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด นอกจากพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวพวกเขาเอง” (อัล-กุรอาน บทที่ 13 โองการที่ 11)

นับเป็นพลังผลักดันให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงสภาพตัวพวกเขาเองโดยไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม

นอกจากนั้น ชาวอิหร่านมั่นใจว่ามนุษย์นั้นอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ตามที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้บัญญัติไว้

จึงทำให้ประชาชนเหล่านั้นกระตือรือร้นในอันที่จะดำเนินชีวิตเพื่อเป็นผู้ดูแลหน้าที่บนแผ่นดินของพระผู้เป็นเจ้า

 

การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านนั้นคือการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งตอบรับคำเรียกร้องของอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ประสานสอดคล้องเข้าด้วยกันระหว่างวิวัฒนาการของชีวิตมนุษย์กับการปฏิวัติ ระหว่างเหตุผลและความรู้สึก ระหว่างปริมาณและคุณภาพ ระหว่างวัตถุและจิตวิญญาณ ซึ่งก่อให้เกิดความประสานแนบแน่นระหว่างอุดมการณ์ทางศาสนากับการเมือง

ระบบการเมืองและรัฐบาลแบบอิสลามนั้นถูกสำแดงพลังออกมา แต่ระบบนั้นก็มิใช่ว่าจะแยกอุดมการณ์ออกจากตัวมันเอง

ฉะนั้น การเมืองจึงมิได้มีเป้าหมายเพื่อการเมือง แต่การเมืองเป็นวิธีการที่จะจัดระบบเพื่อให้มนุษย์อยู่ในระเบียบตามบทบัญญัติแห่งศาสนา

อิสลามเน้นระบบการปรึกษาหารือที่จะต้องสรรหากันเองตามความเหมาะสมของยุคสมัยและเหตุการณ์ อิสลามเน้นระบบการปรึกษาหารือซึ่งกันและกันและระบบที่ต้องมีตัวแทน (อัล-กุรอาน บทที่ 4 โองการที่ 80, บทที่ 3 โองการที่ 159, บทที่ 43 โองการที่ 38)

ระบบการเมืองอิสลามนั้นสัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษกับหลักนิติศาสตร์อิสลาม และถือว่ามาจากแหล่งเดียวกันในด้านการวินิจฉัยปัญหานิติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ระบบรัฐธรรมนูญจึงสอดคล้องกับรัฐบาลอิสลาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลอิสลามก็คือระบบแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งได้ถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้วในบทบัญญัติของอัลอฮ์ (ชะริอะฮ์)

ฉะนั้น อำนาจทางการเมืองจึงไม่ใช่เพื่อมนุษย์ แต่ต้องนำอำนาจทางการเมืองนั้นมาใช้อย่างรับผิดชอบเบื้องหน้าอัลลอฮ์เท่านั้น เพื่อเป็นการรับใช้มวลมนุษย์ตามแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ไม่ได้ เพราะว่าขัดแย้งกับอำนาจสูงสุดของอัลลอฮ์

อิสลามมิได้ขึ้นอยู่กับการถือคะแนนเสียงของคนส่วนข้างมากเสมอไป ถ้าเสียงส่วนข้างมากนั้นนำไปสู่หลักการที่ผิดมนุษยธรรมและธรรมะของพระเจ้าแล้วก็นับว่าประชาธิปไตยแบบนั้นใช้ไม่ได้

อีกทั้งไม่ใช่ระบบของอำนาจของคณะบุคคล

เพราะถ้าคณะบุคคลเหล่านั้นประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ก็ถือว่าผิดไปจากธรรมชาติแห่งหลักการพื้นฐานของอิสลาม

อีกทั้งไม่ใช่เป็นลักษณะภูมิภาคนิยม เชื้อชาตินิยม ชาตินิยม หรือพรรคนิยม

เพราะสิ่งเหล่านั้นขัดแย้งกับธรรมชาติแห่งความเป็นสากลและสปิริตของอิสลาม

 

แนวโน้มด้านสังคมและวัฒนธรรมในอิหร่านจึงนำไปสู่การสถาปนาเอกภาพของอิสลาม เอกภาพของรัฐ และเอกภาพทางศาสนา เป็นการรวมประชาชาติมุสลิม (อุมมะฮ์) โดยไม่จำแนกในเรื่องเชื้อชาติและปัญหาพรมแดนด้านภูมิศาสตร์ เพราะสิ่งเหล่านั้นทำลายอุดมการณ์อิสลาม

ฉะนั้น สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและนโยบายด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของชาติโดยมีเป้าหมายที่จะให้การศึกษาและอบรมบ่มนิสัยของประชาชนในชาติให้เกิดความสำนึกตื่นตัวอยู่เป็นเนืองนิจกับหลักการของอิสลาม เพราะถือว่าศาสนบัญญัตินั้นครอบคลุมไปในทุกส่วนแห่งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ศรัทธา ฉะนั้น วัฒนธรรมและสังคมจึงเป็นหน่วยเดียวกันกับเป้าหมายทางการเมืองและการปกครอง

สังคมและวัฒนธรรมของประเทศอิหร่านภายหลังการปฏิวัติอิสลามใน ค.ศ.1979 นั้นนับว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กล่าวคือ ประชาชนทั้งประเทศผู้ซึ่งเป็นมุสลิมมากกว่าร้อยะ 98 นั้นได้ให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปตามเป้าหมายของนโยบายรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งตามการลงประชามติในครั้งแรกนั้นปรากฏว่าประชาชนยินยอมให้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม

การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติแบบอิสลามนี้ไม่เหมือนกับการปฏิวัติอื่นๆ ไม่ว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ.1789 หรือการปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ.1917 หรือการปฏิวัติในประเทศจีน ค.ศ.1949 หรือการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศต่างๆ ตามรูปแบบที่เคยเห็นกันมา

ทั้งนี้เพราะเหตุว่าการปฏิวัติอิสลามไม่ใช่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงบุคคลในคณะรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจของประชาชนในทุกๆ ด้าน

และเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาภายในโครงสร้างของสังคมและสถาบันต่างๆ ในประเทศอีกด้วย

นับว่าได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปตามแบบอย่างของท่านศาสดามุฮัมมัดผู้ได้สถาปนาสังคมรัฐแบบอิสลามขึ้นครั้งแรกในโลกที่นครมะดีนะฮ์ โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

นั่นคือคัมภีร์อัล-กุรอาน และแบบฉบับในการปกครองและการดำเนินชีวิตของท่านศาสดาเอง

เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมให้เป็นไปตามแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า

 

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในอัล-กุรอานเรียกว่า “อิงกิลาบ” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสารัตถะแห่งชีวิตด้านอุดมการณ์ของมนุษย์ในสังคมรัฐกันเลยทีเดียว

ปรากฏตามคัมภีร์อัล-กุรอาน ซูเราะฮ์ที่ 13 อายะฮ์ที่ 11 ว่า “อัลลอฮ์ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของมนุษย์กลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะได้เปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง”

ซึ่งในโองการนี้ใช้คำว่า “ตะฆ็อยยิร” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติ

ฉะนั้น จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอิหร่านภายใต้การนำของกลุ่มผู้รู้ทางศาสนาก็ได้ยึดถือแบบฉบับตามหลักการอิสลามนั้นแต่ดั้งเดิม

รัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้ประกาศว่าเป็นการปฏิวัติแบบอิสลาม ซึ่งมุ่งที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่พลเมืองในรัฐโดยวางอยู่บนอุดมการณ์แห่งเอกภาพ เป็นหลักการที่ไม่ยอมรับลัทธิเชื้อชาติ ลัทธิชาตินิยม ระบบชนชั้น และลัทธิเซคิวลาร์ (Secularism) ที่แยกศาสนาออกจากรัฐ

ตลอดทั้งมิได้วางอยู่ในลัทธิอื่นใดไม่ว่าตามแบบตะวันตกหรือแบบตะวันออก แต่เน้นตามระบอบของอิสลามที่มุ่งการปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากการถูกกดขี่ทุกรูปแบบ

การปฏิวัติดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการแบบอิสลามของมวลมหาชนมุสลิมผู้มุ่งไปสู่อุดมการณ์ของประชาชาติอิสลามที่ไม่ข้องเกี่ยวติดพันอยู่กับเรื่องเวลาและภูมิประเทศ ตลอดทั้งสีผิว เชื้อชาติ และภาษา

แต่เป็นการดำเนินไปโดยมหาชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกันที่จะให้ถึงซึ่งเอกราชและเสรีภาพ ตามธรรมชาติแห่งคุณค่าที่แท้จริงแบบอิสลาม

เจตนารมณ์ร่วมดังกล่าวนั้นจึงเป็นพลังขับดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมให้ก้าวเคลื่อนไปตามแนวทางแห่งบทบัญญัติ

ฉะนั้น จึงเป็นลักษณะเด่นชัดของการปฏิวัติอิสลามโดยเฉพาะ

ไม่ใช่เป็นแบบประชาธิปไตยเหมือนอย่างประเทศตะวันตก

และไม่ใช่เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างในจีนหรือรัสเซีย

แต่เป็นกระบวนการปฏิวัติแบบอิสลามเพื่อประชาชาติมุสลิมในประเทศอิหร่านเองและเพื่อเป็นแบบอย่างของประชาชาติมุสลิมทั่วโลก