บทวิเคราะห์ : จีนกับการยกเลิกนำเข้า ขยะพลาสติกรีไซเคิล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “จีน” เป็นผู้นำเข้าขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้จากทั่วโลกรายใหญ่ที่สุด

โดยจะนำพลาสติกที่มาจากประเทศผู้ส่งออกอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล ญี่ปุ่น รวมถึงอังกฤษ มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าพลาสติกรีไซเคิลได้เป็นอันดับ 1 ของโลก

ด้วยการนำเข้าพลาสติกปีละ 7 ล้านตัน มูลค่าสูงถึง 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 118,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา จีนเริ่มต้นนโยบายยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ทั้งหมด

โดยมีเหตุผลเพื่อลดมลพิษในอากาศและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

ขณะที่จำนวนการนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลของจีนนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากราว 600,000 ตันต่อเดือน เหลือเพียง 30,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น

 

การปิดประตูนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ของจีนนั้นถูกมองว่าส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและความวุ่นวายในตลาดขยะรีไซเคิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และผลกระทบที่เกิดขึ้นและชัดเจนอย่างยิ่งก็คือ ขยะพลาสติกรีไซเคิลของโลกต่างเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

พร้อมกับบรรดาโรงงานรีไซเคิลขยะของจีนต่างย้ายฐานออกจากประเทศจีนไปยังประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวด

รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามาเลเซียเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโรงงานรีไซเคิลสัญชาติจีน

โดยข้อมูลจากรัฐบาลมาเลเซียพบว่ายอดการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2016 จนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมามียอดนำเข้าขยะพลาสติกมากถึง 870,000 ตัน

แน่นอนว่าการย้ายฐานผลิตดังกล่าวส่งผลกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นโดยตรง โดยเฉพาะในเมืองเจนจารอม ไม่ไกลจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ส่งผลกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผลจากขยะพลาสติกที่กองสุมในที่โล่ง และการเผาแปรรูปพลาสติกตลอด 24 ชั่วโมง

และแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่มาเลเซียนั้น ก็เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

 

ตัวแทนชุมชนในมาเลเซียที่ทำการสืบสวนสอบสวนโรงงานต่างๆ เหล่านี้ในช่วงกลางปี 2018 พบว่ามีโรงงานพลาสติกอยู่ในพื้นที่มากกว่า 40 แห่ง

ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เปิดดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง สุดท้ายรัฐบาลมาเลเซียออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าพลาสติกทั่วประเทศในที่สุด ส่งผลให้โรงงานจำนวน 32 แห่งต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าโรงงานเหล่านี้อาจย้ายไปเปิดดำเนินการในพื้นที่อื่นอย่างลับๆ ก็เป็นได้

แน่นอนว่าองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมองเห็นแนวโน้มทิศทางของขยะพลาสติกรีไซเคิลที่หลั่งไหลจากทั่วโลกไปอยู่ในประเทศในเอเชียในเวลานี้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

จากรายงานของ Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ทำการวิเคราะห์ผู้ส่งออกและนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 21 ประเทศใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2018 ช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังจีนออกมาตรการควบคุมการน้ำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลให้เข้มข้นมากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่าการนำเข้าขยะพลาสติกในประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม พุ่งสูงขึ้นจากช่วงกลางปี 2017 จนถึงช่วงต้นปี 2018 นำไปสู่ปัญหาการทิ้งและกำจัดขยะพลาสติกผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ ทำลายพืชผลการเกษตร รวมไปถึงส่งผลให้เกิดอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ

 

นักเคลื่อนไหวจาก GAIA ระบุว่าสำหรับประเทศโลกที่ 1 แล้ว การนำขยะไปรีไซเคิลต่อนั้นทำให้ประเทศเหล่านั้นรู้สึกดี แต่ในความเป็นจริงแล้วขยะเหล่านั้นไปลงเอยที่ประเทศซึ่งไม่สามารถจัดการปัญหาขยะได้ ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นในมาเลเซียและประเทศไทย ส่งผลให้มีการออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าขยะมากขึ้นในประเทศเหล่านี้

และนั่นส่งผลให้ขยะเหล่านี้เปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซียและอินเดีย ประเทศซึ่งมีกฎหมายควบคุมการนำเข้าและซื้อขายขยะที่อ่อนกว่า

แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นหัวข้อการหารือของที่ประชุมของประเทศสมาชิกอนุสัญญาบาเซล หรืออนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ที่จะมีการประชุมที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 29 เมษายนนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากกลุ่มกรีนพีซยังคงยืนยันว่าการลดการผลิตและการใช้พลาสติกลงให้ได้มากที่สุดคือทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า

สอดคล้องกับตัวเลขสถิติที่ระบุว่า มีขยะพลาสติกที่ถูกผลิตออกสู่ตลาดและกลายเป็นขยะบนโลกใบนี้เพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่