จะเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว… | บทความโดย ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นก็จะเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว

ทุกคนต่างพากันทั้งตื่นเต้น ทั้งปีติยินดีทั่วกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมามีคนถามผมว่า ประชาชนธรรมดาอย่างเราจะมีโอกาสไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทชมพระบารมีในพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ได้บ้างหรือไม่

เมื่อมีคนมาถามอย่างนี้ก็เป็นโอกาสที่ผมจะได้เล่าอะไรต่อมิอะไรยืดยาวใหัท่านผู้ถามทราบ

พูดไปแล้วก็เสียดายว่าจะลอยลมหายไปเสีย

จึงขออนุญาตนำมาบันทึกไว้ในที่นี้นะครับ

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เราทราบกันทั่วไปแล้วว่ามีกำหนดรายการพระราชพิธีต่อเนื่องกันหลายวัน

รายการส่วนใหญ่โดยเฉพาะในวันสำคัญที่สุดคือวันเสาร์ที่สี่พฤษภาคมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น สถานที่ประกอบพระราชพิธีอันเป็นสิริมงคลเหล่านั้นล้วนสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ขนาดของอาคารสถานที่เหล่านั้นมิได้มีความใหญ่โตเพียงพอที่รับรองคนจำนวนมากได้ ลำพังเพียงแต่พระราชวงศ์และข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ กับทั้งผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการพระราชพิธี แค่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของผู้มีหน้าที่จัดการแล้ว

สำหรับพสกนิกรทั่วไปย่อมสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ซึ่งต้องถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติเราที่จะมีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสู่สายตาของประชาชน

เพราะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนเมื่อพุทธศักราช 2493 เมืองไทยยังไม่มีโทรทัศน์ครับ

อย่างไรก็ดี ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งก่อนเก่ารวมถึงครั้งนี้ด้วยจะมีเหตุการณ์บางช่วงที่เป็นโอกาสของพสกนิกรจะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

คงพอเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่าผมหมายถึงการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร ในเวลาเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม

และการเสด็จออกสีหบัญชรที่พระที่นั่งสุทไธยสวรรค์มหาปราสาท เพื่อประชาชนชาวไทยจะได้ถวายพระพรชัยมงคลในเวลาบ่ายของวันที่ 6 พฤษภาคม

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคนี้ ที่จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นดำริอันชาญฉลาดของท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนที่จะให้ประชาชนได้เฝ้าฯ ชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่เสด็จพระราชดำเนินออกภายนอกพระบรมมหาราชวัง

ด้วยกระบวนพระบรมราชอิสริยยศเต็มที่ ประชาชนที่เฝ้าฯ รายทางอยู่ทั้งสองฝั่งถนนจะได้เกิดความมั่นใจ ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่บัดนี้ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกโดยเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว ความหวาดหวั่นว่าจะเกิดเหตุอันตรายแทรกซ้อนย่อมปลาสนาการไปจากหัวใจ

จะมีก็แต่ความรู้สึกจงรักภักดีที่เพิ่มพูนขึ้นเมื่อได้เห็นพระองค์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยสายตาตัวเอง

และผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการฝึกซ้อมกำลังผู้คนทั้งหลายให้มีความพร้อมเพรียง ใครเห็นก็เกิดความยำเกรงและเคารพนับถือไปด้วยพร้อมๆ กัน

ไม่กล้ามาข่มเหงรังแกกันได้ง่ายๆ

เท่าที่สืบค้นได้จากหนังสือสารพัดเล่ม การเลียบพระนครในสมัยก่อนรัชกาลที่สี่ มิได้มีแบบแผนที่จะไปทรงปฏิบัติพระราชกิจที่ใดโดยเฉพาะ

กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเมื่อยาตราออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามเส้นทางต่างๆ แล้วก็ยาตรากระบวนกลับเข้าวังหลวงไปเพียงเท่านั้น มิได้มีที่หมายที่ใดที่หนึ่งเป็นพิเศษ

จนมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดรายการเพิ่มเติมขึ้นระหว่างเส้นทาง

กล่าวคือ มีการหยุดกระบวนเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกิจตามพระอารามสำคัญในเส้นทาง ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชสถานะที่ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2468 ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามลำดับ

ส่วนในวันที่ทรงเลียบพระนครทางชลมารคนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดอรุณราชวราราม

สําหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เราจะได้รู้เห็นเป็นพยานในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปยังพระอารามรวมสามแห่งด้วยกัน คือวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ

สำหรับสองพระอารามแรกคือวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนฯ นั้นไม่มีที่ต้องสงสัยเพราะเป็นไปตามแบบเดิมที่เป็นเช่นนั้นมาหลายรัชกาลแล้ว ส่วนวัดราชบพิธฯ ที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าเป็นพระอารามสำคัญยิ่งในปัจจุบันเพราะเป็นพระอารามที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ท่านที่ติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้หรือได้เดินทางผ่านไปมาในย่านใจกลางพระนคร คงสังเกตเห็นได้ว่า ตามเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครนั้นได้มีการปรับปรุงผิวการจราจรและบาทวิถีให้งดงามเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง

มีการทาสีอาคารบ้านช่องตลอดเส้นทางให้สวยงาม

สายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ที่เคยระโยงระยางอยู่ตามเสาไฟฟ้าก็หายลงดินไปแล้ว มีการติดไฟฟ้าส่องสว่างตลอดเส้นทาง เพราะวันงานจริงนั้นจะเริ่มยาตรากระบวนเวลาบ่าย 4 โมงครึ่ง และต้องใช้เวลานานทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วแน่ๆ

การมีแสงไฟฟ้าสองสว่างที่เพียงพอจึงเป็นเรื่องจำเป็น

การเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเช่นนี้มีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2506 ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบสามรอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า แต่ครั้งนั้นเส้นทางสั้นกว่าคราวนี้นะครับ รอบนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปแต่เพียงที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งเดียว

เมื่อมีการเลียบพระนคร พุทธศักราช 2506 นั้น ผมยังเป็นเด็กเล็กเต็มที อายุเพียงแค่แปดขวบ ยังไม่มีความเก่งกล้าสามารถจะไปชมพระบารมีได้ด้วยตัวเอง มาถึงคราวนี้ เลิกเป็นเด็กมานานแล้วครับ ตั้งอกตั้งใจเต็มที่จะไปเฝ้าชมพระบารมีอยู่สองข้างทาง เมื่อไปแล้วได้ความชื่นอกชื่นใจอย่างไรจะได้เก็บไว้ในความทรงจำสำหรับเล่าให้ลูกหลานฟังต่อไปในวันข้างหน้า

ว่าคนรุ่นเรานั้นมีโชควาสนาเหลือแสน ที่ช่วงจังหวะชีวิตอำนวยให้ได้อยู่รู้เห็นเป็นพยาน พระราชพิธีสำคัญของแผ่นดินที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ตอนนี้เตรียมความพร้อมเต็มที่แล้ว

แล้วพบกันในวันงานนะครับ