ฐากูร บุนปาน : อย่ามาสอด (แนม)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งจะผ่านพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 168 ต่อ 0

ซึ่งด้วยความเคารพ ต้องขอกราบเรียนว่าทั้งโดยหลักการและโดยส่วนตัวแล้ว

ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกฎหมายฉบับนี้

และถ้ารัฐ รัฐบาล หรือคณะผู้ร่างกฎหมายทั้งหลายเปิดใจ เปิดกว้างรับฟังเสียงสะท้อนจากรอบข้างบ้าง

ก็คงได้ยินเหมือนกันว่า ไม่มีใครเลยที่อยู่ในธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับการสื่อสารในโลกยุคใหม่ที่บอกว่าเห็นด้วย

มีแต่เสียงค้านดังระงม

 

ค้านกันเรื่องไหน

ประเด็นหลักๆ สองอย่างก็คือ

สิทธิเสรีภาพของประชาชน และผลกระทบในทางเศรษฐกิจธุรกิจ

เป็นไปได้อย่างไรที่กฎหมายซึ่งกำหนดโทษจำคุก 2 ปีสำหรับคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น

แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเข้ามาล้วงข้อมูลเสียเอง

ในนามของ “คุณธรรม” และ “ดุลพินิจ”

หรือถ้าโพสต์ข้อความอะไรที่ท่านพิจารณาแล้วว่าเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ

ทั้งคนโพสต์และเจ้าของเว็บมีสิทธิ์ติดคุกได้ 5 ปี

อำนาจที่คลุมเครือ การให้ดุลพินิจแบบกว้างขวางอย่างนี้

ด้านหลักคือกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในสังคมที่อยู่ใต้บรรยากาศเผด็จการ

ในบรรยากาศที่เห็นว่าการ “รวมศูนย์” คือความสามัคคี

พูดไปก็เถียงกันไม่จบ

เอาประเด็นที่ท่านควรจะเข้าใจง่ายๆ อย่างเรื่องเงินในกระเป๋าดีกว่า

เพราะที่ตามมาก็คือ ในสังคมดิจิตอล หรือเรียกกันหรูๆ (แบบที่รัฐบาลชอบพูด) ว่าสังคม 4.0

หลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ

ถูกล้วงได้ง่ายๆ ถูกดำเนินคดีได้ง่ายๆ

ใครอยากมาลงทุน ใครอยากมาทำธุรกิจประเภทนี้ในเมืองไทย

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ไทยมีสมาชิกเฟซบุ๊กมากที่สุด

มีกิจกรรมและการแสดงออก ไม่ได้แค่มากที่สุดในภูมิภาค แต่ถึงขนาดติดอันดับโลก

อย่างนั้นเฟซบุ๊กก็ยังไม่คิดจะย้ายสาขาในภูมิภาคจากสิงคโปร์มาไทย

ลองไปสอบถามเขาเองก็แล้วกันครับว่าทำไม

นี่แค่ตัวอย่างจากบริษัทเดียวเท่านั้น

 

ก่อนการลงมติพิจารณากฎหมายดังกล่าว

มีผู้นำรายชื่อประชาชนจำนวนกว่า 300,000 คนที่ลงชื่อไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวไปยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ผลก็คือไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น

300,000 เสียงของชาวบ้านที่เปิดเผยตัวตนชัดเจน มีชื่อนามสกุลพร้อม ไม่ใช่ไอ้โม่งจากไหน

มาแสดงหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงในการท้วงติงกฎหมาย

ไม่ได้รับการพิจารณา

ไม่ได้อยู่ในสายตา

ไม่มีน้ำหนักที่จะไปเทียบกับคำอธิบายของเจ้าหน้าที่รัฐ

หรือการตัดสินใจของคน 168 คนที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยไม่ได้มีอะไรยึดโยงกับประชาชน

ท่านใดที่ยังเชื่อว่าอำนาจเด็ดขาดนั้นดีเลิศประเสริฐศรี

ก็ตามสบายเถอะครับ

 

และที่น่าผิดหวังไม่แพ้กลุ่มเผด็จอำนาจ

ก็คือกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจ

อันได้แก่พรรคและนักการเมืองทั้งหลาย

เพราะในกรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีนักหรือพรรคการเมืองไหนออกมายืนยัน “หลักการ” หรือแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชนทั่วไป

ว่าพร้อมที่จะเป็นกองหน้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ไม่มี

มีที่ออกมาเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ พูดจาสวยหรูเหมือนครีมแต่งหน้าเค้ก

แต่เอาเข้าจริงไม่มีประโยชน์ ไม่มีรสชาติอะไร

ก็เป็นภาระของประชาชนของชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ช่วยกันลงบัญชีเอาไว้

ว่าพอถึงเวลาที่เสียงของประชาชนคนธรรมดาพอจะมีความหมายขึ้นมาบ้าง

มีกฎหมายอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุง

ให้เหมาะสมกับความเป็นจริง ให้ถูกต้องตามหลักการ

ให้อยู่ในแนวทางของการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเรากันเอง

วันนี้แก้ไม่ได้เพราะอำนาจเด็ดขาดไม่ฟัง-นักการเมืองแหย

ไม่เป็นไร

พรุ่งนี้ มะรืนนี้ยังมี

เราไม่อยู่ พี่น้องลูกหลานเราก็ยังอยู่

อย่าลืมและอย่าท้อเท่านั้นละครับ