จัตวา กลิ่นสุนทร : วิกฤตศรัทธา “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.)

องค์กรอิสระซึ่งประชาชนทั่วประเทศกำลังพุ่งความสนใจขณะนี้หนีไม่พ้น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) เพราะการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเป็นไปอย่างน่าคลางแคลงใจ

ประชาชนทั่วประเทศกำลังต้องการคำตอบกับเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆ แต่ กกต.กลับเงียบเฉยไม่ตอบคำถามสังคม ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากประเทศนี้ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพมาร่วม 10 ปี ประชาชนส่วนมากต้องการเห็นบ้านเมืองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หลุดพ้นจากอำนาจของรัฐบาลทหาร อิทธิพลจากกองทัพ

“เลือกตั้ง” วันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นการเลือกตั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้กติกาที่เอาเปรียบ ยุ่งยาก ขาดความเป็นสากล ขาดความเป็นธรรม

ผู้มีอำนาจพยายามวางรากฐานทำลายพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งประชาชนให้ความนิยมให้สลายลง

 

ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏอย่างไม่เป็นทางการยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าฟากฝั่งใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะมีคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกมาก้ำกึ่งกัน

ซีกหนึ่งได้รับเลือก ส.ส.เขต (Electoral Votes) เป็นอันดับหนึ่ง จนกระทั่งไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับปราบโกง)

อีกฝ่ายได้คะแนนความนิยมพรรค (Popular Votes) มากกว่า เพราะส่งผู้สมัครครบทุกเขต จึงพยายามแย่งชิงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแปรอีกจำนวนไม่น้อย

สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น กกต.ที่ยังไม่ได้ประกาศอะไรชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบกพร่องผิดพลาด การทุจริตการเลือกตั้ง การนับคะแนนจำนวนผู้ไปลงคะแนนที่ไม่ตรงกันกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะยังเทาๆ ดำๆ เหมือนอยู่ในเงามืดสลัว จะออกมาฝั่งไหนย่อมได้ทั้งนั้น

รวมทั้งวิธีการคิดคะแนน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าใช้วิธีการอย่างไร? บรรดาพรรคเล็กๆ จึงได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คนจำนวนหลายพรรค

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นตัวแปรอีกจุดหนึ่งเมื่อเสียงเหล่านี้เทไปซีกไหน

 

ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ต้องการ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกต่อไป เพราะท่านผู้นี้มาจากการ “ยึดอำนาจ” เมื่อต้องการจะเข้าสู่การเมือง แทนที่จะเดินตามแนวทางประชาธิปไตย เสนอตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนพิจารณา กลับวางแผนดำเนินการเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองทุกรูปแบบ ทุกเม็ด ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ยอมแม้กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ไม่ลาออกจากหัวหน้า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) และยังมีกฎหมายพิเศษมาตรา 44 เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งใหญ่สูงกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ซึ่งจะดำเนินการกับใครอย่างไรก็ได้

ประชาชนที่ต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ต้องการเห็นท่านผู้นี้สืบทอดอำนาจต่อไป

เขาต้องการนายกรัฐมนตรีมาจากผู้แทนราษฎร ไม่ได้เหาะเหินเดินอากาศมาจากการวางแผนของผู้สมรู้ร่วมคิดมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ กฎกติกาทั้งหลายแหล่ รวมทั้งแต่งตั้งวางคนของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และองค์กรอิสระสำคัญๆ รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากไหน?

รวมทั้งพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยใคร? วางแผนรวบรวมอดีต ส.ส.เขี้ยวลากดินกลุ่มก๊วนการเมืองแบบน้ำเน่าสีเทาสีดำผ่านการเลือกตั้งทั้งบิดเบี้ยวทั้งหลายทั้งปวงมาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะใช้เงินทอง ใช้อิทธิพลเข้ามารวมกันอยู่ในพรรคเพื่อจะเป็นฐานการเมืองต่อท่ออำนาจขึ้นสู่ตำแหน่ง ประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้จึงยากจะรับ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นชุดที่ 5 ได้รับการสรรหาขึ้นมาแทนคณะกรรมการเลือกตั้งชุดเดิม (ชุดที่ 4) ที่ถูกเซ็ตซีโร่ โดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือกฎหมายเลิศล้ำตอบสนองอวยชัยได้ทุกเรื่องราว

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีปัญหาแบบแปลกๆ เกิดขึ้นเหมือนเป็นการดำเนินไปอย่างไม่โปร่งใสสุจริตเป็นธรรม ประเภทมีบัตรเขย่ง บัตรเกิน บัตรเสีย การนับบัตรแบบคลุมเครือ

กระทั่งนำไปสู่การร้องเรียนมากมาย

 

การระดมล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) จึงเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการเลือกตั้งผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง กระทั่งถึงวันนี้น่าจะได้รายชื่อเข้ามาเป็นจำนวนกว่าล้านคน แต่ปัญหาก็คือว่า จะต้องไปยื่นถอดถอนกับ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ซึ่งไม่ค่อยได้รับความมั่นใจ เพราะผลงานการพิจารณาหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาสวนทางกับความรู้สึกประชาชน เช่น เรื่องนาฬิการาคาแพงจำนวนมากที่ผู้มีตำแหน่งสูงมากบารมี ยืมเพื่อนมาใส่

การยื่นเรื่องร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้มักไม่ค่อยจะได้ผล ตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นหากถูกยื่นร้องเรียนเรื่องอะไรขึ้นมาจะรีบดำเนินการตัดสินพิจารณาโทษอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกนี้ประชาชนที่มีใจเป็นธรรมไม่มีสีสามารถสัมผัสได้เสมอมา

การล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ชุดนี้จึงไม่น่าจะเป็นผลอะไรนัก ท่านสามารถเงียบเฉยต่อไป ท่ามกลางความสิ้นศรัทธาของประชาชนคนไทยผู้ต้องการเห็นบ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนประเทศเจริญแล้วทั้งหลาย

เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการตามกำหนดเวลาตามกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็จะเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ช่วยกันยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการกวาดต้อน ส.ส.จากพรรคไหนแบบที่เรียกว่างูเห่ามาสนับสนุนหรือไม่ อย่างไรต้องคอยจับตาดูกัน ส่วนความยุ่งยากวุ่นวายจะเกิดขึ้นหรือไม่?

บริหารบ้านเมืองไปได้สักกี่มากน้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

รัฐบาลชุดนี้ (ถ้าจัดตั้งได้) จะมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายกฎหมาย-เศรษฐกิจ) คนหน้าเดิม และไม่แน่อาจมีรัฐมนตรีกลาโหมหน้าช้ำๆ เก่าๆ 3-4 รัฐมนตรีที่ออกหน้ามาช่วยกันก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะได้รางวัล รวมคนซึ่งแยกตัวมาจากพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.เขี้ยวลากดินทั้งหลาย เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน ผู้รักไก่ชน การชนไก่เป็นชีวิตจิตใจ พร้อมกับเพื่อนซี้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สันติ พร้อมพัฒน์ แถม สุชาติ ตันเจริญ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้มาจากไหน ผ่านมามากมายกี่พรรคแล้ว ฯลฯ ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” อาจต้องถูกหยิบยื่นสู่พรรคเล็dๆ และทหารบ้างตามสัดส่วน คงตกลงกันได้ไม่ยาก คงไม่แตกต่างจากรัฐบาลสหพรรค เท่าใดนัก?

เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2500 ผ่านเลยมากว่า 60 ปี รัฐบาลรักษาการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ได้ทำการวางแผนโกงการเลือกตั้ง ซึ่งสื่อมวลชน นิสิต นักศึกษา ประชาชนประณามว่าเป็นการ “เลือกตั้งสกปรก” เพราะเป็นการโกงการเลือกตั้งทุกรูปแบบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความร่วมมือ เรียกกันว่า “โคตรโกง”

นิสิต นักศึกษา ประชาชนได้ออกมาเดินขบวนประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งสกปรกครั้งนั้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีรักษาการแถลงต่อสื่อมวลชนว่าอย่าเรียก “เลือกตั้งสกปรก” เลย ควรเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย”?

“จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ถึงจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ถูก “ปฏิวัติ” โค่นล้มโดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ต้องหนีออกนอกประเทศ และไม่ได้กลับมาอีกเลย

ชะตากรรมของท่านเป็นอย่างไร? เป็นที่ทราบกันตามบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

“คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารรหัส 0143 ซึ่งผนึกกันแน่นหนายิ่งใหญ่แข็งแกร่งด้วยอำนาจบารมี ทั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ได้ทำการ “ยึดอำนาจ” รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2534 พร้อมมอบให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

“พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล” (บิ๊กเต้) วางแผนกวาดต้อนอดีต ส.ส.ทั้งหลายมาตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” โดยใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาเป็นฐานปูทางให้ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” สู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” สำเร็จ

ปี พ.ศ.2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร (บิ๊กสุ) เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 19) แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่วันถูก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พาประชาชนเดินขบวนชุมนุมประท้วงต่อต้าน เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ทหารยกกำลังออกมาปราบปรามประชาชน จึงมีการสูญเสียล้มตาย เท่ากับเป็นการปิดฉากนายกรัฐมนตรีจากกองทัพ ประวัติศาสตร์ไม่เคยได้รับการบันทึกว่านายทหารจากกองทัพประสบความสำเร็จทางการเมือง

“ทหาร” ลงจากอำนาจอย่างขมขื่นในลักษณะไม่แตกต่างกัน บ้างถูก “ยึดทรัพย์” และไป “เสียชีวิต” ในต่างแดน