คนของโลก : จักรพรรดิและจักรพรรดินีญี่ปุ่น ผู้นำราชวงศ์สู่ยุคใหม่

ยุคสมัยเฮย์เซย์ ในยุคของจักรพรรดิอากิฮิโตะ กำลังจะหมดลงในวันที่ 30 เมษายนนี้ ก่อนที่มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ พระโอรส จะขึ้นครองบัลลังก์ของราชวงศ์เบญจมาศแทน และเริ่มต้นรัชสมัยใหม่ “เรย์วะ” อย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำราชวงศ์ ที่ตามธรรมเนียมมีความเป็นสมมุติเทพ สู่ “ความทันสมัย” ด้วยการก้าวเข้ามาใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ราชวงศ์มีความนิยมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะพระราชสมภพเมื่อปี 1933 ช่วงเวลาที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแผ่ขยายอำนาจทางทหารไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 11 พรรษาเท่านั้น

มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในปี 1989 เป็นองค์พระจักรพรรดิญี่ปุ่นลำดับที่ 125 หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระบิดา สิ้นสุดรัชสมัย “โชววะ” และเริ่มต้นรัชสมัย “เฮเซ” อย่างเป็นทางการ

 

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิจิโกะ เมื่อครั้งอภิเษกสมรส เมื่อปี 1959 /เอเอฟพี

ผลจากการขยายอิทธิพลภายใต้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากสงครามอย่างมหาศาล แต่ในอีกแง่ก็ส่งผลให้เกิดรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองของสหรัฐที่มีแนวความคิดต่อต้านสงคราม โดยสมเด็จพระจักรพรรดิทรงถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงประมุขของประเทศที่ไม่มีอำนาจในทางการเมือง

ก่อนขึ้นครองราชย์ เจ้าชายอากิฮิโตะในเวลานั้นค่อยๆ แหวกม่านประเพณีเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากการอภิเษกกับมิชิโกะ โชดะ ลูกสาวบริษัทแป้งยักษ์ใหญ่ หลีกเลี่ยงประเพณีคลุมถุงชนแบบเดิมแล้ว

พระองค์ยังทรงเลือกที่จะเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาด้วยพระองค์เอง แทนที่จะให้มีพระพี่เลี้ยงตามธรรมเนียม

การเลือกเส้นทางใหม่ของทั้งเจ้าชายอากิฮิโตะและเจ้าหญิงมิชิโกะ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ หลังการอภิเษกสมรส

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ยกให้เจ้าหญิงมิชิโกะทรงเป็นผู้มีบทบาทในการทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ด้วยการแสดงให้เจ้าชายอากิฮิโตะเห็นวิธีการก้มและคุกเข่าในช่วงเวลาเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบจากหายนภัยหรือผู้พิการ

สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีทรงเป็นที่รู้จักในฐานะประมุขประเทศที่มักอยู่เคียงข้างเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากหายนภัย เช่น ในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2011 เหตุซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุคุชิมา

โดยสมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชดำรัสผ่านสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพื่อปลอบโยนสาธารณชนที่ตื่นตระหนก ก่อนที่อีก 2 เดือนต่อมาทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่เพื่อพบกับผู้ประสบภัยในจังหวัดฟุคุชิมา ด้วยพระองค์เอง

แนวทางของสองพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากชาวญี่ปุ่นที่มองว่าทรงมีพระเมตตาที่จับต้องได้ สิ่งที่เจ้าชายนารุฮิโตะตรัสอยู่เสมอว่าจะทรงดำเนินรอยตามพระบิดาและพระมารดาต่อไป

 

ความนิยมของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้ทรงแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์ แม้จะเสี่ยงที่จะขัดกับบทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นที่ถูกจำกัดไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการคัดค้าน “แนวคิดชาตินิยม” และแสดงความเสียพระทัยกับบทบาทของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ในพระราชดำรัสซึ่งถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความเห็นที่แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ นักการเมืองผู้มีแนวคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน

ในช่วงท้ายของการครองราชย์ในปี 2016 สมเด็จพระจักรพรรดิยังคงแหวกธรรมเนียมเดิมด้วยการทรงแสดงพระราชประสงค์ร้องขอให้ชาวญี่ปุ่นเปิดทางให้พระองค์ได้สละราชบัลลังก์

พระองค์ระบุผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของญี่ปุ่นว่า พระองค์ทรง “ใช้เวลาของข้าพเจ้าตลอดมาค้นหาและพินิจพิเคราะห์ว่าอะไรคือบทบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิที่ดี” และว่า

“ข้าพเจ้าหวังจากใจจริงว่าทุกท่านจะเข้าใจ” สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะระบุ