กรองกระแส / บทเรียน จากอดีต อดีต การฟอกขาว การเมือง ผ่าน การเลือกตั้ง

กรองกระแส

 

บทเรียน จากอดีต

อดีต การฟอกขาว การเมือง

ผ่าน การเลือกตั้ง

 

ความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการที่จะดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปโดยผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง เป็นความพยายามที่น่าศึกษา

1 ศึกษาจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

1 ศึกษาจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ 1 ศึกษาจากกรณีของ รสช.ผ่าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เพราะว่ารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 เพราะว่ารัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 เพราะว่ารัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

รัฐบาลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่พยายามที่จะใช้กระบวนการและกลไกของรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจอันได้มาจากการรัฐประหารทั้งสิ้น

นี่คือการศึกษาจากประวัติศาสตร์ อาศัยประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน

 

มาจาก รัฐประหาร

ฟอกตัว ผ่านเลือกตั้ง

 

จอมพลถนอม กิตติขจร มีส่วนในการรัฐประหารนับแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2494 รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 รัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 แต่รัฐประหารที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงคือรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

เดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

เดือนพฤศจิกายน 2514 ก่อรัฐประหารกระชับอำนาจ

แต่พอถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็เกิดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีการจับกุมก็นำไปสู่การชุมนุมประท้วงและสถานการณ์บานปลายกลายเป็นกรณี 14 ตุลาคม ผลก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้าไปมีส่วนในการรัฐประการเมื่อเดือนตุลาคม 2519 และรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520

จากนั้นจัดการเลือกตั้งโดยกลไกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 อาศัยกลไกจากรัฐธรรมนูญเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2522 แต่อยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ก็ต้องลาออกเพราะมีการเคลื่อนไหวในรัฐสภาทั้ง ส.ว. และ ส.ส.บีบผ่านญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้าไปมีส่วนในการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จผ่าน รสช.

จากนั้น รสช.วางแผนสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ผ่านการจัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2535 และได้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 40 กว่าวันก็ต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกประชาชนขับไล่

ชะตากรรมของจอมพลถนอม กิตติขจร เห็นได้ในเดือนตุลาคม 2516 ชะตากรรมของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เห็นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ชะตากรรมของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เห็นได้ในเดือนพฤษภาคม 2535

การได้อำนาจจากการรัฐประหารอาจไม่ยาก แต่การสืบทอดอำนาจก็ยากแค้นแสนเข็ญอย่างยิ่ง

 

การวางกฎ กติกา

เพื่อสืบทอดอำนาจ

 

ไม่ว่าจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร ล้วนเข้าไปวางกฎกติกาเพื่อการสืบทอดอำนาจ

1 ผ่านรัฐธรรมนูญ 1 ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

จอมพลถนอม กิตติขจร อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 พล.อ.สุจินดา คราประยูร อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

จอมพลถนอม กิตติขจร จัดตั้งพรรคสหประชาไทย และพรรคสหประชาไทยนั่นแหละกลายเป็นมูลเชื้อให้ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลตนเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ผ่านการแต่งตั้ง ส.ว. แต่ ส.ว.นั่นแหละที่ไปร่วมกับ ส.ส.โค่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมโดยการใช้อามิส บรรณาการดูดเอาอดีต ส.ส.มาเป็นฐานและร่วมกับพรรคพันธมิตรอย่างเช่น พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม จัดตั้งรัฐบาล

ชะตากรรมของจอมพลถนอม กิตติขจร ชะตากรรมของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ชะตากรรมของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงเด่นชัดว่าการฟอกขาวด้วยการเลือกตั้งมิใช่บ่อทองของนางพันธุรัตน์

 

บทเรียนจากอดีต

อดีตนักรัฐประหาร

 

ไม่ว่าบทเรียนของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าบทเรียนของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าบทเรียนของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ทรงความหมายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ความไม่จีรังยั่งยืนของจอมพลถนอม กิตติขจร ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร อาจมาจากความขัดแย้ง แตกแยกและแย่งชิงอำนาจกันเองภายในของกองทัพ ของพรรคการเมือง

  แต่ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงอยู่ที่การฝืนกระแสความต้องการของประชาชน การยืนอยู่ด้านตรงกันข้ามกับพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย