ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 5-11 เมษายน 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

คนบางส่วนเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย

เป็นการปกครองที่ดีที่สุด

เพราะอำนาจทางการปกครองอยู่ในมือของประชาชน

ไม่อยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว

แต่ก็มีคนบางส่วนเห็นว่า ประเทศไทยไม่เหมาะสมสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

เพราะประชาชนเลือก ส.ส.ไม่เป็น

เขาเอารองเท้าคู่เดียว เอาปลาทูเข่งเดียวมาแจก

คนก็เลือกมาเป็น ส.ส.แล้ว

ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม

เพียงแต่แจกเงินมากกว่าเก่าเท่านั้น

เคยมีวาทกรรมว่า

ถ้าเอาเงินไปแจก

เอาเสาไฟฟ้าไปลงก็ชนะ

วาทกรรมที่ร้ายหนักกว่านี้ก็คือ เอาหมาไปลงก็ชนะ ถ้าให้เกินสัก 50 บาท

 

ต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนส่วนมากของประเทศไทยเรา

ไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร

การให้ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

คือการให้ลงมติในสิ่งที่ประชาชนไม่รู้จัก

นี่เป็นจุดอ่อนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย

การจะเลือก ส.ส.ให้มีคุณภาพ

ผู้เลือกจะต้องเป็นคนมีคุณภาพด้วย

ดังนั้น การเลือก ส.ส.คราวต่อๆ ไป ควรกำจัดจุดอ่อนนี้เสีย

โดยการกลั่นกรองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียก่อน

คือให้ประชาชนเลือกตัวแทนไปเลือก ส.ส.อีกทีหนึ่ง

เช่น ประชาชน 100 คน จะให้มีตัวแทนกี่คนแล้วแต่จะกำหนด

ขอแสดงความนับถือ

เกรียงไกร

 

จดหมายนี้มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ก่อนการเลือกตั้ง

จึงอาจมีเนื้อหาบางส่วน ที่ไม่ “ทันการณ์” บ้าง

แต่กระนั้น ส่วนใหญ่ในจดหมายก็ยังครอบคลุกปัญหาที่เกิดขึ้น

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็ยังมีปัญหาอยู่–ใช่

เช่น การซื้อเสียง การทุจริต ก็มีการพูดถึงไม่น้อย

แต่ก็ไม่ใช่กระแสด้านหลัก

ตรงกันข้าม หลายพื้นที่ “ชาวบ้าน” ได้โชว์ศักยภาพ คว่ำบ้านใหญ่ มือใหญ่ เจ้าพ่อใหญ่ ลงอย่างราบคาบ

ขณะเดียวกัน เราได้เห็นพรรคที่ยึดแนวทาง “ใหม่”

ที่เหนือความคาดหมาย

ประชาชนจึงไม่ได้ “ไร้คุณภาพ”

แต่ “ก้าวหน้า”

จน “พลังอำนาจเก่า” แตกตื่นตกใจ อย่างไม่น่าเชื่อ

 

จึงไม่น่าจะยอมรับได้กับข้อเสนอของ “เกรียงไกร”

ที่จะเพิ่มขั้นตอน “เลือกผู้ที่มีคุณภาพ” ไปเลือก ส.ส.แทนชาวบ้าน อีกขั้นหนึ่ง

เพราะเท่ากับการยกสิทธิโดยตรงที่ชาวบ้านมีอยู่ ไปอยู่ในมือของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ซึ่งก็จะไปเข้ากับแนวคิดที่มีผู้เสนอก่อนหน้านี้

คือประชาชนไม่เท่าเทียมกัน จึงควรให้ผู้มีความรู้ มีคุณภาพ ไปใช้สิทธิแทนประชาชนที่ไม่รู้จะดีกว่า

การเลือกตั้งแบบมีตัวแทน

น่าจะล้าหลัง มากกว่าก้าวหน้า

 

จงเชื่อมั่นในความเท่าเทียมของชาวบ้านเถิด

ถึงแม้ผลการเลือกตั้งจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง

แต่มันก็ได้สะท้อนปัญหาที่เราต้องไปแก้ไข

เห็นด้วยกับคุณเกรียงไกรอย่างยิ่ง ที่ว่า

“การลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือการให้ลงมติในสิ่งที่ประชาชนไม่รู้จัก”

เราคงจำได้ว่าบรรยากาศในช่วงการลงมติรัฐธรรมนูญ มีการห้ามดีเบต

ห้ามไม่ให้ชี้นำว่าควรจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ห้ามชุมนุมทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้วาทกรรมรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไป เข้ามาครอบงำชาวบ้าน

และที่สุด รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ผ่าน

ผ่านมาทำให้เกิดความชะงักงันขึ้นกับการเมืองไทยขณะนี้

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ก็คือ ความเบื่อหน่ายของการชะงักงันในการจัดตั้งรัฐบาล และหานายกรัฐมนตรี

เริ่มมีการพูดถึงวิธีการพิเศษ รัฐบาลแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีคนกลาง

และอาจลามไปถึงขนาดว่าคนไทยอาจจะไม่เหมาะกับการเลือกตั้ง หรือระบอบประชาธิปไตย

หลงเชื่อพวก “ซ้ายดัดจริต”

พวกหวังเปลี่ยนการปกครอง

เหล่านี้น่าเป็นห่วงว่าจะเปิดช่องให้ “คุณพ่อรู้ดี” เข้ามาจัดการปัญหาอีก

เราจะยอมเช่นนั้นหรือ

หรือข้าม ภู “เขลา” ไปด้วยกันอย่างที่บรรณกร กลั่นขจร เสนอ