ศิลปินผู้สร้างประติมากรรมมหึมา สื่อสารกับผู้คนด้วยภาษาศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Sky Mirror (2006), ภาพจากhttps://bit.ly/2Y4y0hW

รีวิวนิทรรศการติดๆ กันมาก็หลายตอนแล้ว ในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของโลกอีกคนกันบ้าง

ศิลปินที่เราจะกล่าวถึงในตอนนี้มีชื่อว่า

อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor)

ศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย

เขาเป็นหนึ่งในประติมากรร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของโลก ที่ทำงานที่ท้าทายและยกระดับการรับรู้ที่มีต่อศิลปะของผู้ชม

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแนวคอนเซ็ปช่วลและมินิมอล ที่เต็มเปี่ยมด้วยความงามราวกับบทกวี แต่ก็แฝงเร้นการอุปมาอันลุ่มลึกคมคาย

ผลงานของเขามักเป็นประติมากรรมนามธรรมขนาดมหึมา ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งภายใน และสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าพิศวงราวกับอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างห่างไกลและอบอุ่นชิดใกล้ราวกับอยู่ในครรภ์มารดาไปพร้อมๆ กัน

ประติมากรรมของเขาเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดของปรัชญาอันซับซ้อนลึกซึ้งและประสบการณ์ดาษดื่นสามัญในชีวิตประจำวันของคนเรา

เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และแสดงถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

กาปูร์สนใจในความเป็นอนันต์และความว่างเปล่าอันไม่มีที่สิ้นสุด

เช่นเดียวกับการขุดคว้านพื้นที่เพื่อเสาะหาความหมาย และสะท้อนสภาวะอันว่างเปล่าและหมดจดของจิตใจมนุษย์

เขามักจะใช้สีสันเพื่อแสดงออกถึงสภาวะของร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสีแดงสด แทนเลือด และการมีชีวิต สีดำสนิท แสดงถึงห้วงเหวลึกสุดหยั่งในจักรวาล

หรือสีเลื่อมมันวาวแบบกระจกเงาที่สะท้อนภาพของท้องฟ้าอันกว้างไกล หรือแม้แต่สะท้อนถึงตัวตน ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของผู้ที่จ้องมองมัน

Marsyas (2002), ภาพจากhttps://bit.ly/2UJio1a

ผลงานของเขามักจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อันสุดจะคาดเดาและนำเสนอความเป็นไปได้อันไม่รู้จบในการไตร่ตรองและสำรวจตัวเองให้แก่ผู้ชม

ด้วยผลงานประติมากรรมสาธารณะขนาดมหึมาที่ติดตั้งในทั่วโลก เขาสร้างภาษาสัญลักษณ์อันไร้คำพูด ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนในหลายชาติ หลากวัฒนธรรม ต่างช่วงเวลาได้

รวมถึงแสดงการจับคู่เปรียบของสิ่งที่แตกต่างกันหากแต่ก็อยู่เคียงคู่กัน อย่างแสงสว่างและความมืด, ผืนแผ่นดินและท้องฟ้า, จิตใจและร่างกาย, ชายและหญิง

หรือแม้แต่งานจิตรกรรมและประติมากรรม

ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้อนิช กาปูร์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ Cloud Gate (2004-2006) ประติมากรรมกลางแจ้งที่ติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Millennium Park กลางเมืองชิคาโก ตัวประติมากรรมมีความสูง 10 เมตร กว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร ดูเผินๆ มันมีรูปร่างคล้ายถั่วยักษ์ มันจึงมีชื่อเล่นว่า “The Bean”

Cloud Gate (2004-2006), ภาพจากhttps://bit.ly/2W3A73I

ด้วยพื้นผิวแวววาวเงาวับที่สะท้อนภาพของท้องฟ้า ทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง และผู้คนรอบข้างได้อย่างใสแจ๋วกระจ่างแจ้งจนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก

ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของปรอทเหลว ตัวประติมากรรมมีช่องโค้งเว้าด้านใต้สูง 3.6 เมตร ที่ให้คนเดินเข้าไปดูได้

ซึ่งตรงจุดศูนย์กลางด้านบนมีรูปทรงที่คล้ายกับ “สะดือ” ที่มีส่วนเว้าสะท้อนภาพเงาบิดเบี้ยวตามรูปทรงโค้งเว้าของมันออกมาเป็นภาพพิสดารจำนวนนับไม่ถ้วนอย่างน่าอัศจรรย์

มันกลายเป็นเหมือนแลนด์มาร์กหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สร้างความชื่นชอบให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปเงาสะท้อนประหลาดๆ ของตัวเอง

โดยในปี 1999 ผู้บริหารสวนสาธารณะของเมือง และกลุ่มนักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ และสถาปนิก ร่วมกันคัดเลือกศิลปินสองคนจากจำนวน 30 คน ให้นำเสนอแบบร่างผลงาน นั่นก็คือศิลปินอเมริกันชื่อดังอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ และอนิช กาปูร์ นั่นเอง

ท้ายที่สุดคณะกรรมการก็เลือกแบบของกาปูร์มาสร้างเป็นผลงานจริง ประติมากรรมรูปร่างคล้ายถั่วโลหะผิวมันวาวราวกับกระจกชิ้นนี้จึงตั้งตระหง่านสะท้อนภาพท้องฟ้าของเมืองชิคาโก

และสะท้อนภาพเงาอันแปลกประหลาดพิสดารของเหล่าผู้ที่มาเยี่ยมชมราวกับบ้านกระจกพิศวงมาจนถึงทุกวันนี้

อนิช กาปูร์ เป็นเจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ (Turner Prize) ในปี 1991 ที่เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของวงการศิลปะอังกฤษ

เขาเป็นศิลปินผู้เปี่ยมเสน่ห์และได้รับการยอมรับในทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ก็มีเรื่องราวอันอื้อฉาวเกี่ยวกับเขาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

อาทิ ในปี 2014 อนิช กาปูร์ เป็นศิลปินคนเดียวในโลกที่ได้รับสิทธิในการใช้สีดำ Vantablack ที่ว่ากันว่าเป็นสีที่ดำที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาแต่เพียงผู้เดียว

สีดำ Vantablack นี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท NanoSystems ของอังกฤษที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทางการทหารและการสำรวจอวกาศ

อณูของสีประกอบขึ้นจากท่อขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโน (carbon nanotubes) ที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงได้ถึง 99.96 เปอร์เซ็นต์

ทำให้มันเป็นสสารที่ดำที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก

โดยมีความมืดใกล้เคียงกับหลุมดำที่มีความมืดมิดที่สุดในจักรวาลเลยทีเดียว

เรื่องนี้ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวในหมู่ศิลปินคนอื่นๆ อย่างมาก เพราะพวกเขาไม่พอใจที่กาปูร์ผูกขาดและยึดครองวัตถุดิบอันยอดเยี่ยมเช่นนี้ไว้ใช้เพียงผู้เดียว

จนทำให้เขาเกิดกรณีพิพาทกับศิลปินหลายคน

หรือในปี 2017 ก็มีเรื่องอื้อฉาวอย่างการที่ผลงานประติมากรรมกลางแจ้ง Dirty Corner (2011) รูปท่อโลหะยักษ์ ขนาด 60 x 10 เมตร ที่สร้างขึ้นจากโลหะและหินของเขาที่ติดตั้งอยู่ในสวนของพระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถูกวินาศกรรม

Dirty Corner (2011) ที่ถูกมือบอนพ่นสเปรย์ใส่, ภาพจากhttps://bit.ly/2HABBzx

ด้วยความที่มันมีลักษณะคล้ายกับช่องคลอด มันจึงได้รับฉายาจากนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนว่า “ช่องคลอดราชินี” (Queen”s Vagina)

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มันถูกมือดีนำสีไปสาดใส่ผลงานชิ้นนี้จนเลอะเทอะ

โชคดีที่งานไม่ได้บุบสลายอะไร และถูกเช็ดล้างจนสะอาดเหมือนเดิม

แต่ภายหลังมันก็ยังถูกคนมือบอนพ่นสเปรย์ถ้อยคำด่าทอลงไปจนเปรอะเปื้อนไปทั่วงานอีกจนได้

หรือในปี 2018 ก็เกิดอุบัติเหตุ ผู้ชมคนหนึ่งร่วงตกลงไปในผลงานศิลปะจัดวางของกาปูร์ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Fundação de Serralves ในเมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อว่า Descent into Limbo (ร่วงหล่นสู่ขุมนรก) (1992) ที่ประกอบด้วยอาคารรูปลูกบาศก์ ตรงกลางพื้นภายในอาคารมีหลุมขนาดใหญ่ ภายในสีดำสนิทมืดมิดจนมองไม่เห็นก้น ด้วยความที่พื้นผิวภายในหลุมฉาบด้วยสีดำ Vantablack เพื่อสร้างความรู้สึกของความลึกอันไม่มีที่สิ้นสุดราวกับว่ามันเป็นหลุมที่ทอดยาวสู่ขุมนรกจริงๆ

Descent into Limbo (1992), โปรตุเกส, ภาพจากhttps://bit.ly/2Pp4XkM

โดยปกติแล้วผู้ชมงานนี้จะเดินดูงานอยู่รอบๆ หลุม และถึงแม้ตัวงานจะทำตามหลักความปลอดภัยด้วยการติดป้ายเตือน และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ด้านใน

แต่ด้วยความที่มันเป็นหลุมที่ไม่มีรั้วกั้น แต่ผู้ชมคนที่ว่าก็ยังตกลงไปจนได้ หลังจากมีคนเห็นเขาประสบอุบัติเหตุร่วงลงในงานศิลปะ ผู้ชมเคราะห์ร้ายชาวอิตาเลียนวัยราว 60 ปี ก็ถูกช่วยเหลือขึ้นจากหลุมและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ด้วยความที่หลุมศิลปะนี้ลึกเพียง 2.5 เมตร เขาจึงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โชคยังดีที่ไม่ได้ทำเป็นหลุมนรกจริงๆ น่ะนะ!

ถึงจะมีเรื่องอื้อฉาวอยู่เอาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปินอย่างกาปูร์จะเป็นคนใจดำเหมือนกับโคตรสีดำที่เขาครอบครองเอาไว้ ศิลปินผู้นี้ก็ยังมีเรื่องราวดีๆ กับเขาบ้างเหมือนกัน

อย่างการที่เขาลุกขึ้นมาแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งห้ามผู้ลี้ภัยจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐ และระงับโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

โดยกาปูร์เชิญชวนให้เพื่อนๆ ศิลปินและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ร่วมกับเขา

และตัวกาปูร์เองไม่ได้เพิ่งจะมาเล่นเรื่องประเด็นผู้ลี้ภัยตามแฟชั่นแบบประเดี๋ยวประด๋าว หากแต่เขารณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อย่างการจัดเดินขบวนใจกลางลอนดอนกับศิลปินชื่อดังชาวจีน อ้าย เว่ย เว่ย เพื่อเรียกร้องให้สากลโลกหันมาสนใจในวิกฤตผู้ลี้ภัยในปี 2015

นอกจากนี้ เขายังบริจาคเงินที่ได้จากการรับรางวัล Genesis Prize ที่เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของชาวยิว (กาปูร์เกิดในบอมเบย์ มีพ่อเป็นชาวอินเดียและแม่เป็นชาวอิรักเชื้อสายยิว) ในปี 2017 จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยในการพยายามบรรเทาวิกฤตของผู้ลี้ภัยทั่วโลกอีกด้วย

แหม ศิลปินก็เป็นปุถุชนคนเดินดินเหมือนกันกับเราๆ ท่านๆ ก็ย่อมต้องมีทั้งข้อดี ทั้งข้อเสียบ้างเป็นเรื่องธรรมดา จริงไหมครับ ท่านผู้อ่าน!