“แสงกระสือ” : บทบาทของ “ตำนานปรัมปรา” ใน “หนังไทยร่วมสมัย”

คนมองหนัง

“แสงกระสือ” เป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ทำรายได้ไปมากพอสมควร

ในแง่คุณภาพ “แสงกระสือ” ถือเป็น “หนังดี” เรื่องหนึ่ง

หากพูดถึงงานสร้าง “หนังผีกระสือ” เรื่องนี้ มิได้ถูกนำเสนอด้วยภาพลักษณ์ “ใหม่หมดจด” แม้จะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ “ใหม่”

ตรงกันข้าม หนังที่มีท้องเรื่องย้อนยุคไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูจะมีท่าทีในการแสดงความเคารพต่อโปรดักชั่น เกร็ดข้อมูล และตัวละครของหนัง/ละคร “ผีกระสือ” รุ่นเก่าๆ อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงพล็อตหรือโครงสร้างเรื่องราว “แสงกระสือ” นั้นจัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ “ไปไกล” กว่าเดิมแน่ๆ

เพราะนี่คือภาพยนตร์ไทยที่มีฉากหน้าเป็น “หนังผี” มีเส้นเรื่องหลักเป็น “หนังรัก (สามเส้า) วัยรุ่น” และมีบริบทว่าด้วย “ความขัดแย้ง” ในทางความเชื่อระหว่างผู้คน

โดยแทบไม่อ้างอิงถึง “กฎแห่งกรรม” ซึ่งเป็นท่าไม้ตายหลักของหนัง/ละครว่าด้วย “ผีกระสือ” เรื่องแล้วเรื่องเล่า

ผู้กำกับฯ หน้าใหม่อย่าง “สิทธิศิริ มงคลศิริ” ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม สอดคล้องลงรอยไปกับบทภาพยนตร์ของ “ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ตลอดจนการวัดวางโครงเรื่องในฐานะ “ครีเอเตอร์” ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง”

เรื่องราวของ “แสงกระสือ” นั้นชวนติดตามและทิ้งประเด็นไว้ให้ขบคิดตีความต่อได้มากพอสมควร แม้อาจมีรายละเอียดบางจุดที่เป็นรอยโหว่น่าตั้งคำถามถึงอยู่บ้างประปราย (เช่น เหตุผลที่ตัวละคร “น้อย” ตัดสินใจพากลุ่มล่ากระสือเดินทางเข้ามายังหมู่บ้าน หรือบทสรุปตอนท้ายที่ดูเบลอๆ ห้วนๆ ชอบกล)

นักแสดงสองรุ่นในหนังฝากผลงานเอาไว้ในจอภาพยนตร์ได้อย่างน่าพอใจ

“ภัณฑิรา พิพิธยากร” เล่นหนังเรื่องแรกในชีวิตได้ดี เธอถือเป็นนักแสดงดาวรุ่งหญิงรุ่นใหม่ซึ่งมีฝีมือและรูปลักษณ์ภายนอกเทียบเคียงได้กับ “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” (โรงแรมต่างดาว) “วริศรา ยู” (App War : แอปชนแอป) “ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” (มา ณ ที่นี้) และ “พลอย ศรนรินทร์” (อาปัติ, สยามสแควร์ และ สิงสู่ ฯลฯ)

ด้านสองนักแสดงนำชาย ทั้ง “โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์” และ “สพล อัศวมั่นคง” ก็โอบอุ้มหนังได้ดีไม่แพ้กัน (โอบนิธิดูจะเป็นพระเอกรุ่นใหม่ที่เลือกรับงานได้แม่นยำไม่น้อย เมื่อคำนึงว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้านี้ของเขา คือ “อนธการ” โดย “อนุชา บุญยวรรธนะ”)

ส่วนสองดารามาดคมเข้มรุ่นเก๋าอย่าง “สุรศักดิ์ วงษ์ไทย” และ “สหัสชัย ชุมรุม” ก็สามารถช่วยประคับประคองหนังและนักแสดงรุ่นหลานๆ เอาไว้ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากลงรายละเอียดที่เรื่องราว ดูคล้ายว่า “แสงกระสือ” จะมีสถานะเป็น “คู่สนทนา” กับ “นาคี 2” โดย “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง”

จุดร่วมแรกของภาพยนตร์ไทยคู่นี้ ก็คือ การมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบ “ความขัดแย้งแตกแยก” ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย เข้ากับ “หมู่บ้านชนบท” แห่งหนึ่ง

ทว่าใน “ความเหมือน” ก็มี “ความต่าง” ปรากฏอยู่

ขณะที่ “หมู่บ้าน” ใน “นาคี 2” นำเสนอภาพ “ชาวบ้าน (อีสาน) ส่วนใหญ่” ที่หลงผิดคิดร้ายต่อ “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ในเทพปกรณัม

“ชาวบ้านส่วนมาก” ใน “หมู่บ้าน” (ภาคกลางอันไม่ห่างไกลจาก “พระนคร”) ของ “แสงกระสือ” ก็มีอารมณ์บ้าคลั่งจ้องจองล้างจองผลาญ “สัตว์ประหลาด” หรือ “ภูตผีปีศาจ” ชั้นต่ำ เช่น “กระสือ”

ด้วยเหตุนี้ “ชาวบ้าน” ในหนังสองเรื่อง จึงอาจเป็น “ภาพแทน” ของ “มวลชนการเมือง” คนละกลุ่ม ที่ถูกวาดเขียนแต่งแต้มโดย “ผู้สร้างสรรค์” ซึ่งมีจุดยืนคนละฟาก

จุดร่วมต่อมา คือ ทั้ง “นาค” ใน “นาคี 2” และ “กระสือ” ใน “แสงกระสือ” ล้วนมีอีกร่างเป็นมนุษย์ธรรมดา พวกเธอต่างมีหัวจิตหัวใจ มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความเจ็บปวด มีอดีต และมีความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า

ดุจเดียวกันกับพวกมนุษย์ หรือ “อมนุษย์” อื่นๆ ซึ่งเกลียดชัง/หลงรักพวกเธอ

ที่สำคัญ “แสงกระสือ” และ “นาคี 2” ต่างเลือกเดินไปบนเส้นทางหรือโครงเรื่องอันคล้ายคลึงกันจนน่าประหลาดใจ

เนื่องจากหนังสองเรื่องนี้ได้ค่อยๆ ยกระดับความขัดแย้งระหว่างสามัญชนใน “หมู่บ้าน” ให้ข้ามผ่านไปสู่ปฐมบทความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ยั่งยืนใน “ตำนานปรัมปรา”

ดังนั้น แทนที่จะดึง “นิทานเปรียบเทียบ” ซึ่งเกิดขึ้น ณ “หมู่บ้านในจินตนาการ” ให้กลับคืนสู่ “โลกความจริง” ในบริบทของสังคมไทยยุคปัจจุบัน

สิทธิศิริและพงษ์พัฒน์กลับเลือกจะชักจูงหนังของพวกตนให้เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปสู่ “นิทานเปรียบเทียบ” อีกเรื่องหนึ่ง ด้วยวิถีทางซ้อนทับ/คู่ขนาน

วิวาทะ อารมณ์โกรธเกลียด และความขัดแย้งใน “หมู่บ้าน” จากภาพยนตร์สองเรื่อง ได้ถูกคลี่คลาย/ขมวดปมด้วย “อภิมหาบรรยาย” เก่าแก่ เกี่ยวกับ “ครุฑ-นาค” และ “กระหัง-กระสือ”

ด้านหนึ่ง อุปลักษณ์ “หมู่บ้าน” ใน “นาคี 2” และ “แสงกระสือ” จึงเป็นภาพจำลองของภาวะอลหม่านในสังคมไทยร่วมสมัย

อีกด้านหนึ่ง “อภิมหาบรรยาย” หรือ “ตำนานปรัมปรา” ในหนัง อาจทำหน้าที่ประหนึ่งแว่นขยาย/แว่นสามมิติ ซึ่งช่วยให้คนดูสามารถเพ่งพินิจสังคมของตนเองได้ชัดเจน-สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

น่าตั้งคำถามว่าทำไมผู้สร้างภาพยนตร์ไทยสองเรื่องที่ออกฉายในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน (ตุลาคม 2561 กับมีนาคม 2562) จึงพร้อมใจกันผลักดันเรื่องราวในหนังไปยังทิศทางเช่นนั้น?

โดยไม่เลือกอ้างอิงไปที่ความขัดแย้ง “เหลือง/นกหวีด-แดง” หรือ “เผด็จการ-ประชาธิปไตย” ฯลฯ อย่างตรงไปตรงมา

“ตำนานปรัมปรา” ได้กลายเป็น “ทางเลี่ยง/ทางออกหลัก” ของภาพยนตร์ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยไปแล้วหรือไม่?

หรือ “อภิมหาบรรยาย” ดังกล่าวกำลังนำพาผู้ชมไปสัมผัสกับรายละเอียดบางประการที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและแว่นตา “สัจนิยม”?

ถ้าลองเขยื้อนกลับมาสู่ “โลกความจริง” สภาวะของสังคมไทยหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ยังมีลักษณะแบ่งขั้วแยกข้าง ดุจดังพฤติกรรมของ “ชาวบ้าน” สองกลุ่ม ณ “หมู่บ้านชนบท” สองแห่ง ใน “นาคี 2” และ “แสงกระสือ”

น่าสนใจว่าตำนาน “ครุฑกับนาค” “กระหังกับกระสือ” และเรื่องเล่าชนิดเดียวกันเวอร์ชั่นอื่นๆ จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในสภาพโกลาหลอันแท้จริงเช่นนี้?