ครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /แสงกระสือ ไม่ใช่แค่หนังผี

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

แสงกระสือ ไม่ใช่แค่หนังผี

 

ผมได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง “แสงกระสือ” มาครับ

เป็นผลงานการกำกับฯ ของ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ และมีหน้าหนังที่น่าสนใจไม่น้อย

เบื้องหลังที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับฯ ที่มีผลงานมีชื่ออย่าง “ฟ้าทะลายโจร” “เป็นชู้กับผี” ล่าสุดกับเรื่อง “สิงสู่” ได้ชวนเขาทำหนังเกี่ยวกับ “กระสือ”

ตอนแรกโดมนึกไม่ออกเลยว่าทำไมเขาถึงต้องทำหนังกระสือด้วย เขาบอกว่าแทบจะลุกขึ้นสตาร์ตรถกลับทันที

แต่เมื่อวิศิษฐ์บอกว่า ก็แล้วทำไมไม่ทำให้หนังกระสือออกมาดีๆ ล่ะ เหมือนนนทรีย์ทำหนัง “นางนาก” ให้เป็นหนัง 100 ล้านในปี 2542 นั่นไง

มันเลยกลายเป็นความท้าทายของเขา

และเมื่อ 3 ปีผ่านไป หนังเรื่องนี้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีผู้รับหน้าที่เขียนบทคือ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้ทำหนัง “รักแห่งสยาม” มาแล้ว ซึ่งคุ้นเคยกับวิธีคิดและพฤติกรรมของวัยรุ่นดี เพราะตัวเอกในเรื่องนี้เป็นวัยเริ่มรุ่นนั่นเอง

 

ตอนนี้กระสือตนนี้ได้ฉายแสงแวบๆ อยู่ในโรงภาพยนตร์หลายโรงมาสักระยะแล้ว ไม่แน่ใจว่าตอนที่ตีพิมพ์ข้อเขียนนี้ หนังจะยังยืนโรงอยู่หรือไม่

หนังเล่าเรื่องย้อนยุคไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่งของไทย ที่นี่แหละเป็นต้นกำเนิดของกระสือตนนี้ ที่สาวน้อยวัยเพิ่งมีประจำเดือนชื่อว่า “สาย” ทราบว่าตนเป็น “กระสือ” ผีร้ายที่คนในหมู่บ้านออกล่า

แม้สายจะไม่อยากเป็น แน่ละ มีใครอยากเป็นกระสือกันบ้าง…สายก็ไม่รู้ว่าจะหักห้ามตนเองไม่ให้พอตกกลางคืนก็ถอดหัวไปไล่ล่าเหยื่อได้อย่างไร

ความน่าสนใจของเรื่องไม่ใช่ที่ว่ากระสือสายออกล่าเหยื่ออย่างไร มีอะไรตกเป็นเหยื่อบ้าง

แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง กระสือสายกับชายหนุ่มบ้านเดียวกัน 2 คนที่มีใจให้เธอ

ที่ว่าความรักทำให้คนตาบอด ก็น่าจะใช้กับผู้ชาย 2 คนนี้ได้ คนหนึ่งชื่อ “น้อย” เป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต้องหยุดเรียนกลางคันจากเหตุสงคราม กับ “เจิด” ลูกคนมีฐานะในหมู่บ้าน

ทั้งน้อย สาย และเจิด เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มสาวขึ้นมา ด้วยความผูกพันใกล้ชิด จึงมีใจให้กัน แต่สายมีใจเอนเอียงให้กับน้อยมากกว่า

เมื่อ 2 หนุ่มรู้ว่าสายเป็นกระสือ ก็กลับไม่ได้เกลียด กลัว หรือรังเกียจแต่อย่างใด ซ้ำยังหาวิธีที่จะปกป้องเธอด้วย

ผมคงไม่เล่าในรายละเอียด เดี๋ยวคนที่ต้องการจะชมจะเสียอรรถรสหมด

 

แต่เรื่องจะสนุกก็ต้องมีตัวร้าย ซึ่งในเมื่อเราเทใจให้พระ-นางไปแล้ว ตัวร้ายก็คือคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระ-นางนั้น ซึ่งก็คือเหล่าชาวบ้านที่สูญเสียสัตว์เลี้ยงจากการโดนกระสือกัดกิน หรือแม้กระทั่งเกือบเสียลูกน้อยไป รวมทั้งศัตรูที่มาจากที่อื่นคือ “กลุ่มนักล่ากระสือ” ซึ่งเบื้องหลังความเหี้ยนกระหือรือในการทำลายล้างกระสือนั้นมีนัยยะบางประการอยู่

และหนังก็พาเราเอาใจช่วยกระสือสายให้รอดจากการถูกล่าเอาชีวิต แต่เรื่องก็เข้มข้นเพิ่มไปอีกเพราะศัตรูของสายไม่ใช่แค่ “คน” แต่เป็นถึง “กระหัง” ผีร้ายที่เป็นเหมือนคู่จิ้นในตำนานของสองผีนี้

ประเภทว่า ถ้าผู้หญิงก็เป็นกระสือ ผู้ชายก็จะเป็นกระหัง

เมื่อมีกระหังโผล่เข้ามาและไม่ใช่เพียงตัวเดียว จึงเกิดฉากต่อสู้กันอลหม่านทั้งบนฟ้าและบนดิน เปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก ผสมกับมุมภาพและเทคนิคการถ่ายทำต่างๆ เช่นสลิงและบลูสกรีนกันอย่างเต็มไม้เต็มมือ

ซึ่งโดยส่วนตัวของผม กลับไม่ค่อยชอบในพาร์ตที่มีกระหังเข้ามาในลักษณะโฉ่งฉ่างแบบนี้เท่าไร แต่เชื่อว่าคงจะถูกอกถูกใจแฟนหนังที่ชอบความสนุกโลดโผนด้วยฉากแอ๊กชั่นเหนือจริงเช่นนี้

อย่างหนึ่งที่ต้องขอชมคือ หนังเรื่องนี้มีงานการสร้างที่ดี ทั้งภาพสวย แสงที่ดูกลมกลืน ได้อารมณ์ มีขนาดภาพและมิติของภาพที่น่าสนใจ เพราะเมื่อต้องเล่นกับการเคลื่อนไหวของกระสือแล้ว การออกแบบภาพและการตัดต่อเป็นเรื่องสำคัญ

 

ฉากที่คนดูรอดูแน่ๆ คือ กระสือจะถอดหัวยังไง (วะ)

ในหนังเรื่องนี้ ได้ให้เราลุ้นเป็นระยะว่าจะได้เห็นฉากนี้เมื่อไหร่ และจะทำออกมาอย่างไร

ซึ่งในจินตนาการของผู้สร้างก็ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของกระสือแปรเปลี่ยนไป มีความเหนือจริงแบบแฟนตาซีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมว่าทำได้ไม่เลว ดูจากใบปิดหนังก็ได้

นอกจากนั้นยังได้โชว์การแต่งหน้าและร่างกายด้วยเอฟเฟ็กต์ ในบทของผีทั้งกระสือและกระหังดูแล้วชวนให้รู้สึกน่ากลัวได้ไม่น้อย

 

สิ่งที่สะท้อนออกมาในหนังเรื่องนี้คือ “การใช้อำนาจและกำลัง” ในสังคมเล็กๆ เช่นหมู่บ้านนี้ มีผู้ชายเป็นใหญ่ ทุกอย่างจึงถูกกำหนดด้วยมุมมองของผู้ชาย และยิ่งเป็นผู้ชายที่มีอำนาจอีกด้วย ทั้งอำนาจในทางหัวโขน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรืออำนาจในทางอาวุธคือปืน หรืออำนาจในทางพละกำลังอย่างกระหังซึ่งเป็นเพศชาย

สิ่งนี้ยังคงมีอยู่จริงในสังคมไทยในยุคปัจจุบัน แม้ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็ตาม ใครที่มียศตำแหน่งดูจะชี้นิ้วกำหนดอะไรต่อมิอะไรได้เสมอ หากชี้ถูกทิศถูกทางก็ดีไป แต่บ่อยครั้งเราจับได้ว่ามัน “ผิดที่ผิดทาง” ไปไม่น้อย

หรือใครที่มี “ปืน” ก็สามารถจี้ตีกรอบให้คนอื่นทำตามความต้องการของตน มิฉะนั้นละก็…อาจจะมากกว่าปรับทัศนคติ

และอำนาจที่น่ากลัวมากกว่าหัวโขนหรือปืนคือ “อำนาจเงิน” ที่เหมือนจะซื้อได้ทุกอย่าง แม้แต่ “บางเรื่อง” ที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ ก็ปรากฏมาให้อึ้งกันแล้ว

มิพักกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่แน่นอนว่าอำนาจเงินมีบทบาทอย่างมาก ใช้อำนาจเงินเพื่อแสวงหาอำนาจหัวโขน

 

ย้อนมาถึงภาพยนตร์ “แสงกระสือ” แน่นอนที่สุดท้ายกระสือสายก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ จนอดคิดไม่ได้ว่า ในความแตกต่างกันนั้นเราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขได้หรือไม่ เพียงใด

ไม่อย่างนั้นก็อาจจะมีบางคนชี้นิ้วไปที่บางกลุ่มว่าเป็น “กระสือ” หรือเป็น “กระหัง” และก็เกิดการเกลียดชัง ขุ่นแค้น จนลุกขึ้นมาทำลายล้างกัน

ไม่อย่างนั้นคนที่มีหัวโขน มีปืน มีเงิน ก็จะเป็นคนมีสิทธิ์ในการชี้นำสังคมตามความต้องการของตัว โดยอาจจะไม่รับฟังความต้องการจริงๆ ของผู้คนเลยก็ได้

นี่ก็ผ่านการเลือกตั้งมาได้เกือบสัปดาห์ ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ว่าใครจะได้มาสวมหัวโขนอันนี้ ก็ขอให้เป็นหัวโขนที่มีธรรมะในจิตใจ มีความถูกต้องในการกระทำ มีสำนึกถึงประเทศชาติมากกว่าส่วนตัว

ที่สำคัญ หากทำให้คนที่คิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

เชื่อว่าเขาหรือเธอคนนี้ก็น่าจะได้รับการยอมรับด้วยหัวใจจริงๆ ไปอีกนาน โอมเพี้ยง…