ก้าวต่อไปของสื่อในอาเซียน : ธำรงสิทธิเสรีภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อก้าวพ้นความสุดโต่ง

การนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมืองกำลังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยก ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง จนล่าสุดกับกรณีเหตุการณ์กราดยิงมุสลิมในมัสยิด 2 แห่งจากฝีมือของผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดชาตินิยมผิวขาวในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์

ความหลากหลายของพหุวัฒนธรรมบนฐานของหลักขันติธรรม กำลังเผชิญกับกระแสแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งไม่เพียงส่งผลทำให้สังคมที่ครั้งหนึ่งเคยปรองดองต้องแตกแยก แม้แต่การนำเสนอข่าวสารอาจกำลังเจอกับความท้าทายที่จำกัดความสามารถในการนำเสนอซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และทำให้ข่าวสารต้องนำเสนออย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาลุกลาม

ความท้าทายนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างปัญหาชาวโรฮิงญาในพม่า ชาวคริสต์ในเวียดนาม หรือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ทางออกจากความท้าทายดังกล่าว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสื่อมวลชนในภูมิภาค ต้องหาจุดร่วมเพื่อธำรงหลักการดังกล่าวและรักษาความสมัครสมานของวัฒนธรรมอันหลากหลายท่ามกลางกระแสขวาจัดที่กำลังขยายตัวทั่วโลก

 

การประชุมสื่อมวลชนจากทั่วภูมิภาค จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเพื่อความหลากหลาย หรือ “เซจุค” ของอินโดนีเซีย ได้เชิญนักข่าวจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 30 ชีวิต ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์กันที่บาหลี เพื่อสรุปบทเรียนของการนำเสนอข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ซึ่งกลับพบว่ามีจุดขัดกันและสะท้อนออกเป็นหลายกรณี และนำบทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางในการสร้างที่นำเสนอข่าวที่ยังคงทำหน้าที่ตามหลักสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมให้ได้เรียนรู้ เคารพซึ่งกันและกัน

นายอับดุลเราะห์มาน มูฮัมหมัด ฟาเชียร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดสัมมนาว่า จากเหตุการณ์ที่เมืองไครสต์เชิร์ช เราเป็นชาติแรกร่วมกับคูเวตและคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นออกแถลงการณ์ประณามเหตุโจมตีดังกล่าว

“กล่าวโดยสั้นๆ เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในสังคมของเรา คนบางคนในสังคมได้ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความแตกต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เป็นอาการของปัญหาใหญ่ของเราที่อาจทำให้แบ่งแยกและสังคมแตกแยกมากขึ้น” รมช.ต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าว และว่า หากเราปล่อยให้ภาวะสุดขั้วทางสังคมเกิดขึ้น ความตึงเครียดจะขยายตัว สายสัมพันธ์ทางสังคมจะถึงคราวดับสูญ

นายฟาเชียร์กล่าวอีกว่า ผมได้เรียนรู้ว่ากฎเกณฑ์หรือกลไกใดจะทรงประสิทธิภาพได้ ตราบที่สังคมของเราเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของความสมัครสมาน ความหลากหลายและขันติธรรม กุญแจสำคัญคือ ให้ความรู้แก่สาธารณชน บทบาทของคุณโดยเฉพาะสื่อมวลชน ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่สาธารณชน เป็นเรื่องเชิงกลยุทธ์และสำคัญ

เราจะไม่ยอมให้สื่อหัวรุนแรงทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลครอบงำความคิดประชาชน

 

นายแอนเดรีย ฮาโซโน นักวิจัยของฮิวแมนไรท์ วอทช์ อินโดนีเซีย ได้กล่าวถึงสถานการณ์กรณีกลุ่มกาฟาตาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรารถนารวมคนนับถืออิสลาม คริสต์และยิวเข้าด้วยกัน จุดเริ่มต้นมาจากสื่อมวลชนในอินโดนีเซียติดตามเหตุหายตัวไปของแพทย์หญิงที่ทิ้งสามีและลูกไปยังเกาะกาลิมันตันเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม

แต่ตามรายงานของตำรวจอินโดนีเซียกลับระบุเป็นการลักพาตัว

จากนั้นสื่อก็รายงานโดยปราศจากการตรวจสอบข้อมูล อ้างว่ากลุ่มกาฟาตาร์เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มุ่งตั้งรัฐศาสนาในเกาะ

การคาดการณ์ของสื่อสร้างความโกลาหลตามมา ทำให้เกิดมวลชนใช้ความรุนแรง แม้แต่สภาอุลามาอินโดนีเซียประกาศฟัตวากลุ่มกาฟาตาร์เป็นกลุ่มนอกรีต

โฆษกกลุ่มกาฟาตาร์กล่าวว่า ครอบครัวผู้นับถือกลุ่มกาฟาตาร์ถูกบังคับไล่ออกจากชุมชนหลายพันคนในช่วงปราบปราม และถูกส่งตัวไปค่ายกักกัน ต่อมาศาลตัดสินจำคุกแกนนำกลุ่มกาฟาตาร์และสั่งห้ามสมาชิกกลุ่มกลับไปที่เดิม ทางการไม่สืบสวนเหตุความรุนแรงและการใช้อำนาจโดยมิชอบและสื่อเองก็ไม่ลงพื้นที่สอบสวน

 

นายฮาโซโนกล่าวว่า อินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โตเป็นต้นมามีปัญหาความเชื่อทางศาสนาและชนกลุ่มน้อยทั้งการกีดกันการข่มขู่และใช้ความรุนแรง ไม่นับรวมความรุนแรงทางเพศต่อสตรีหรือคนข้ามเพศ แน่นอนว่าสื่อมวลชนเองทำหน้าที่อย่างยากลำบาก เป็นประจักษ์พยานความรุนแรงทางศาสนา

เมื่อใดถึงช่วงที่สื่อมวลชนเผชิญกับประเด็นอ่อนไหว อย่างกลุ่มกาฟาตาร์ ซึ่งเป็นการทดสอบความเป็นมืออาชีพของสื่อ

แต่สื่อของอินโดนีเซียกลับต้องล้มเหลว

 

นายฮาโซโนกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2003 นายบิลล์ โควัค ปรมาจารย์ด้านสื่อมวลชนจากฮาร์วาร์ด เจ้าของผลงาน “The Elements of Journalism” โดยเขียนร่วมกับนายทอม โรเซนสเตียล ได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ตั้งแต่ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยจนถึงห้องข่าวของสำนักข่าวต่างๆ พูดคุยถึงความท้าทายของสื่อมวลชน ผู้เขียนทั้งสองให้หลักการและแนวปฏิบัติ 10 ข้อของสื่อมวลชนไว้ว่า

– หน้าที่แรกของสื่อมวลชนคือเข้าถึง “ความจริง”

– ความภักดีแรกของสื่อคือภักดีต่อประชาชน

– หลักสำคัญของสื่อคือวินัยของการตรวจสอบความถูกต้อง

– ผู้ทำหน้าที่สื่อยังคงมีอิสระกับสิ่งที่พวกเขารายงาน

– สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างอิสระ

– สื่อต้องเป็นพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์และประนีประนอมของสาธารณชน

– สื่อต้องมุ่งมั่นที่จะรักษาความสำคัญและน่าสนใจ

– สื่อต้องทำให้ข่าวยังคงครอบคลุมรอบด้านและได้สัดส่วน

– ผู้ทำหน้าที่สื่อต้องได้รับอนุญาตในการใช้สามัญสำนึกส่วนตัว

– พลเมืองด้วยเช่นกัน มีสิทธิและความรับผิดชอบเมื่อพวกเขาตกเป็นข่าว

 

นอกจากนี้ นายฮาโซโนกล่าวว่า ถ้าหากถามถึงกฎหมายที่มีปัญหา สื่อจะรับมืออย่างไรอย่างกฎหมายหมิ่นศาสนาและข้อระเบียบความปรองดองทางศาสนา

จำไว้ว่าอินโดนีเซียได้ลงนามและให้สัตยาบันพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถึง 9 ฉบับ ซึ่งพันธกรณีเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่สื่อมวลชนอินโดนีเซียควรปฏิบัติในการแสวงหาความจริงเพื่อการเสนอข่าว รวมถึงรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียเอง

ทั้งนี้ นายฮาโซโนหวังว่า สื่อมวลชนอินโดนีเซียจะไม่ล้มเหลวเหมือนที่เกิดขึ้นกับกรณีกาฟาตาร์อีก