หญิงนครโสเภณี หญิงแพศยา และสถานรับชำเราบุรุษ ในหลักฐานสมัยอยุธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพจิตกรรมภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ (ภาพจาก ธัชชัย ยอดพิชัย)

มงซิเออร์ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Lob’re) อัครราชทูตของผู้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ระดับพระราชวังแวร์ซาย อย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ผู้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในช่วงระหว่าง วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2230-2233 มกราคม พ.ศ.2231 ได้บันทึกถึงอะไรที่คนในอยุธยาเมื่อครั้งกระโน้นเรียกกันว่า “สถานรับชำเราบุรุษ” หรือที่เราในสมัยนี้เรียกกันว่า “ซ่อง” ในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้อย่างดูหมิ่นดูแคลนว่า

“บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่คนใหญ่คนโตเสมอไปไม่ เช่น เจ้ามนุษย์อัปปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญา เรียกกันว่าออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกเด็กหนุ่มลามกเท่านั้นที่จะไปติดต่อด้วย” (อักขรวิธีตามสำนวนแปลของคุณ สันต์ ท. โกมลบุตร)

แน่นอนว่า น้ำเสียงที่ลา ลูแบร์ มีต่อออกญามีน คนที่ว่านี่ไม่ดีนัก (อย่างน้อยก็จากที่ท่านเขียน) แต่เราก็อาจจะไม่แน่ใจได้นักว่า สำหรับชาวอยุธยาแล้ว พวกเขาจะเห็นด้วยอย่างนั้นหรือเปล่า? เพราะก็เป็นลา ลูแบร์ อีกเช่นกัน ที่ได้บันทึกเอาไว้ว่า

“ถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้นเป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่าชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองถึง 600 นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีของขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่งบุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายด้วย”

เราคงไม่อาจจะแน่ใจได้ว่า ชายคนหลังที่ลา ลูแบร์ กล่าวถึงนี้ เป็นคนเดียวกันกับออกญามีนหรือเปล่า? แต่ก็อาจจะก็ไม่น่าที่จะผิดจากกันไปเท่าไหร่นัก

และถ้าสิ่งที่ลา ลูแบร์ บันทึกเอาไว้ไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิด การเปิดสถานรับชำเราบุรุษในยุคอยุธยา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายหรอกนะครับ เพราะอย่างน้อยออกญามีนก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ในการที่จะเกณฑ์ใครต่อใครไปกระทำการชำเราให้กับบุรุษได้

 

แต่ถึงจะถูกต้องด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะถูกปฏิบัติด้วยดีจากผู้คนอื่นๆ ในสังคมนัก เพราะถึงแม้ว่าจะเคยเป็น “ลูก” หรือ “เมีย” ของขุนนาง แต่พวกเธอก็ถูกขายมาด้วยข้อหา “กระทำชั่ว” หรือ “คบชู้สู่ชาย” อยู่นั่นเอง

ในกฎหมายลักษณะภญาณ (ก็ “พยาน” นั่นแหละครับ) ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตราเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.1894 หรือเพียงปีเดียว หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ในจำนวนบุคคล 33 จำพวกที่ห้ามไม่นำมาใช้สืบความเป็นพยานนั้น มีหญิงนครโสภิณี (คือ โสเภณี) และหญิงแพศยา รวมอยู่ด้วย

เรียกได้ว่า ยังไม่ต้องเป็นหญิงนครโสเภณี เพียงแค่ถูกยัดเยียดข้อหาแพศยา คุณก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นพยานให้ใครต่อใครในกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งกระโน้นแล้วด้วยซ้ำ

และถึงแม้จะฟังดูเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยจะให้ความเป็นธรรมนัก (ก็การขายบริการทางเพศ หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงแพศยา มันเกี่ยวอะไรกับจะเป็นพยานให้ใครต่อใครไม่ได้ตรงไหน?) แต่กฎหมายลักษณะภญาณก็ช่วยบอกให้เรารู้ด้วยว่า อาชีพหญิงนครโสเภณีจึงไม่ได้เพิ่งจะมามีในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น แต่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นสถาปนากรุงศรีอยุธยา คือสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือที่ใครต่อใครชอบเรียกกันง่ายๆ ว่า พระเจ้าอู่ทองนั่นเลย

อันที่จริงแล้ว ควรจะมีอยู่แถบๆ บริเวณนี้มาตั้งแต่ก่อนปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาเสียด้วยซ้ำ

 

สําหรับใครที่คิดว่า ผู้หญิงที่ทำงานในสถานรับชำเราบุรุษอย่างนี้ จะมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเพียงไม่มากนัก (จะไม่มากได้ยังไง แค่ลา ลูแบร์ ที่มาอยู่อยุธยาไม่กี่เดือน ก็ระบุจำนวนตัวเลขเข้าไปตั้ง 600 คนแล้ว? ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับถึงซอกมุมที่ลา ลูแบร์ ไม่รู้จักอีกด้วยต่างหาก) ก็อาจจะต้องไปตรึกตรองดูใหม่

เพราะในเอกสารเรื่อง “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พวกพม่าได้จดบันทึกจากคำให้การของบรรดาเจ้านาย ขุนนางใหญ่น้อยของอยุธยาที่ถูกนำตัวไปเป็นเชลยศึกที่พม่าหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยผ่านล่ามชาวมอญ แล้วค่อยแปลเป็นภาษาพม่า ด้วยเหตุนี้ต้นฉบับจึงไม่ใช่ภาษาไทย คำให้การดังกล่าวมีข้อความเกี่ยวกับการค้าประเวณีในอยุธยาระบุว่า

“ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครชัย มีหญิงละครโสเภณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย”

“คลองขุนละครชัย” ที่ว่านี้คือ “คลองตะเคียน” อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นย่านแขกจาม มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่ถึงแม้ว่าจะมี “ตลาดจีน” มาโผล่อยู่ในย่านแขกก็ไม่เห็นจะแปลกเลยนะครับ ก็ขนาดในสมัยกรุงเทพฯ แค่ร้อยกว่าปี พวกแขกที่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย อาศัยอยู่แถบริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ฟากธนบุรี บริเวณตั้งแต่ย่านวงเวียนเล็ก เรื่อยไปจนถึงย่านของสาน (ที่เรียกว่า แขกย่านตึกแดงตึกขาว) ก็ยังขยายตัวออกมาสร้างตลาดพาหุรัด ซึ่งที่จริงแล้วคือส่วนปริมณฑลของย่านสำเพ็งของชาวจีนมาก่อนได้เลย

แล้วนับประสาอะไรกับกรุงศรีอยุธยาที่อยู่มาตั้ง 417 ปี?

และต้องอย่าลืมด้วยว่า เอกสารที่เรียกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะมาพรรณนาว่า ในกรุงศรีอยุธยามีซ่องอยู่ตรงไหนบ้าง? คนให้การเขาก็แค่เล่าถึงเฉพาะที่ที่เขานึกออก หรือโด่งดัง ไม่ได้แปลว่า ตลาดอีก 64 แห่งภายในเกาะเมือง และอีกเกือบ 30 แห่งนอกเกาะเมืองจะไม่มีผู้หญิงคนอื่นรับจ้างกระทำชำเราบุรุษอีกแล้วเสียหน่อย?

 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณคลองขุนละครชัย หรือคลองตะเคียนนั้น ก็ถือเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะอยู่ใกล้ป้อมเพชร อันเป็นป้อมที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา

และหากยืนหันหลังให้กับป้อมเพชร แล้วมองออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยลงไปทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็จะเห็นได้ถึงย่านการค้าขนาดใหญ่สองแห่งภายนอกเกาะเมือง ที่ถูกตัดแยกออกจากกันด้วยสายน้ำเจ้าพระยานั่นเอง

ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา ภาพที่จะเห็นทางด้านซ้ายมือ เป็นตลาดขนาดใหญ่ ผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นเป็นชาวจีน โดยเฉพาะ “ชาวจีน” ตลอดลำแนว “คลองสวนพลู” มี “วัดพนัญเชิง” เป็นศูนย์กลาง ส่วนทางด้านขวามือนั้น ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ไม่แพ้กัน ที่วางตัวเรียงรายไปตลอดลำ “คลองตะเคียน” ผู้คนที่นั่นส่วนใหญ่เป็นชน “ชาวมุสลิม” ที่มี “มัสยิดตะเกี่ย” เป็นศูนย์กลาง

ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยที่ในตลาดทั้งสองฟากนั้น มี “สถานรับชำเราบุรุษ” ไว้สำหรับบริการกะลาสีเรือที่เดินทางมาจากแดนไกล

ฟากฝั่งซ้ายที่คลองสวนพลู เรียกหญิงนครโสเภณีเหล่านี้ด้วยศัพท์สแลงภาษาจีนฮกเกี้ยนที่เรียกหญิงขายบริการว่า “หลกท่ง” คนอยุธยาเรียกเพี้ยนเป็น “ดอกทอง”

ไม่ต่างจากที่อีกฟากข้างทางฝั่งคลองตะเคียนทางขวามือ เรียกผู้หญิงเหล่านี้ด้วยศัพท์สแลงในภาษาฮินดี ของชาวอินเดียว่า “โฉกกฬี” แล้วชาวอยุธยาเรียกเพี้ยนเป็น “กะหรี่”

และโปรดอย่าลืมว่า กรุงศรีอยุธยาเรียกกรมกองที่ดูแลกิจการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้าทางฝั่งทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการค้ากับจีนเป็นสำคัญว่า “กรมท่าซ้าย” ในขณะที่เรียกกรมที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับการค้า การต่างประเทศ และธุระอื่นๆ ของพวกที่มาจากซีกโลกตะวันตกว่า “กรมท่าขวา”

เราไม่อาจทำความเข้าใจประวัติศาสตร์, ตัวตน หรือวัฒนธรรมใดๆ ได้โดยเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่ง แล้วมองเฉพาะสิ่งที่เราเห็นว่าดี ทุกสิ่งอย่างถูกประกอบขึ้นจากทั้งสิ่งที่เราเห็นว่าดี และเราเห็นว่าไม่ดี คลุกเคล้าเข้าด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ