“โบว์-ณัฎฐา” ยื่นฟ้อง “2 สื่อ – นักการเมือง” ฐานหมิ่นประมาท ชี้สร้างบรรทัดฐาน-ให้กำลังใจสื่อน้ำดี

วันที่ 15 มีนาคม 62  เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมสี่ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (นายปกาสิต ไตรยสุนันท์, นายรัฐศักดิ์ อนันตริยกุล, นายธำรงค์ หลักแดน และ นายกัณต์พัศฐ์ สิงห์ทอง) เดินทางมาที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา บุคคลในสื่อสามราย ได้แก่ นายโรจ งามแม้น (เปลวสีเงิน), นายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา และ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์  โดย น.ส. ณัฏฐา กล่าวว่าในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมที่ผ่านมา มีสื่อหลายรายที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยจรรยาบรรรณ และนำอาชญากรรม (ภาพแอบถ่ายและตัดต่อโลโก้เพื่อดิสเครดิตทางการเมือง) ที่เกิดกับตนมาขยายผลเพื่อโจมตีทางการเมือง และหลายรายที่มีการสื่อสารเข้าข่ายหมิ่นประมาทชัดเจน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการคุกคามในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นวงกว้าง ในขณะที่ยังมีสื่อที่ดีที่พยายามรักษาจรรยาบรรณและรายงานข่าวโดยเคารพสิทธิของผู้เสียหาย ตนจึงอยากให้การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างบรรทัดฐาน กระตุ้นให้สื่อมวลชนทำงานโดยมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็หวังจะเป็นการให้กำลังใจสื่อน้ำดี ที่ยอมสละเรตติ้งที่อาจได้มาง่ายๆจากการสร้างความบันเทิงด้วยการใส่สีตีไข่ในข่าวจากอาชญากรรม และขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจสื่อเหล่านั้นเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีกับสังคมต่อไป

น.ส.ณัฏฐา อธิบายว่า บุคคลที่ทำการหมิ่นประมาทผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หรือคลิปวีดีโอ ล้วนเป็นไปเพื่อการโจมตีทางการเมือง มีการแต่งเรื่องต่างๆนานาเพื่อให้เกิดความเสียหาย และดิสเครดิตการเคลื่อนไหวของตน เช่นกล่าวหาว่ารับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวบ่อนทำลายประเทศ ซึ่งล้วนเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย วิญญูชนที่วิจารณญาณไม่บกพร่อง ย่อมพิจารณาได้ว่า ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ทุกประเด็นการเคลื่อนไหวของตนล้วนอยู่ในหลักการของประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพลเมืองทุกคน ไม่มีการเคลื่อนไหวครั้งไหนหรือประเด็นใดที่หลุดไปจากหลักการเหล่านี้แม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ น.ส.ณัฏฐา ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใส่ร้ายป้ายสีที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทโดยสื่อฝ่ายตรงข้ามส่วนใหญ่นั้น มักกระทำโดยรู้ตัวว่ากำลังหมิ่นประมาทอยู่ จึงมีความพยายามใช้เทคนิคพูดอ้อมๆหรือไม่ได้อ้อมแต่ตบท้ายว่าจริงๆไม่รู้นะว่ากำลังพูดถึงใคร ซึ่งตนคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่ขาดความละอายแก่ใจ ไม่ตรงไปตรงมา และไม่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม โดยเฉพาะเยาวชนที่เข้าถึงสื่อเหล่านั้นได้ หากเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปริมาณมาก ก็จะเกิดความเสื่อมและตกต่ำทางจริยธรรมขึ้นในสังคม โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับเหยื่ออาชญากรรม คงไม่ใช่ทุกคนที่จะรับความกดดันในระดับที่ตนเผชิญมาตลอดเวลาสามเดือนได้ การฟ้องร้องครั้งนี้จึงเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง เป็นความพยายามในการร่วมสร้างบรรทัดฐาน ขอขอบคุณสื่อที่ยังยึดมั่นจริยธรรม และขอให้กำลังใจในการทำงานต่อไป