รายงานพิเศษ : พระเมรุมาศพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงบุษบก 9 ยอด สืบทอดราชประเพณีรัตนโกสินทร์

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาล โดย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยแบบพระเมรุมาศงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) หลังจากที่กรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่า และผ่านการเสนอคณะรัฐมนตรี ผ่านการทูลเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวินิจฉัยแล้ว

สรุปว่ารูปแบบพระเมรุมาศเป็นพระเมรุมาศรูปทรงบุษบก 9 ยอด

ขั้นตอนการดำเนินงานต่อจากนี้จะมีพิธีบวงสรวงพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์พระราชรถและพระยานมาศเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ และจะมีพิธียกฉัตร พิธียกเสาเอก พิธีตอกหมุดจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ

จากนั้นในวันที่ 10 มกราคม 2560 จะล้อมรั้วเพื่อเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศ

สำหรับงบประมาณดำเนินการในภารกิจเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 1 พันล้านบาท เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c-%e0%b8%8a%e0%b8%b9%e0%b9%82%e0%b8%8a%e0%b8%95%e0%b8%b4-3-e1472199482487

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยข้อมูลว่า การออกแบบพระเมรุมาศและอาคารประกอบในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ยึดหลักแนวคิดในการออกแบบ 3 ข้อคือ

1. ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ

2. ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

3. ศึกษาและออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพ ตามระบอบเทวนิยม

ในส่วนงานสถาปัตยกรรมที่ต้องก่อสร้างอาคาร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูง มี 7 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอด นับรวมได้ 9 ยอด

พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า โดยเตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีประมาณ 2,800 ที่นั่ง

นอกจากนั้น ยังมีศาลาลูกขุน เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม และ ทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา

2. กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง

การออกแบบภูมิทัศน์ มีการศึกษาเรื่องราวพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธี โดยรอบพระเมรุมาศ มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม และได้จำลอง กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริในการออกแบบภูมิทัศน์

“ส่วนงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศทั้งชั้นฐานหรือประติมากรรมที่ประกอบพระเมรุมาศทั้งหมดจะสะท้อนระบบจักรวาลเรื่องเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วย ชั้นครุฑ ชั้นเทพเทวดา รวมไปถึงสัตว์หิมพานต์ และที่สำคัญ เสาโครงเดิมที่สร้างเป็นเสาหงส์นั้น ครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็นเสาที่ใช้แบบครุฑทั้งหมด”

อธิบดีกรมศิลปากรให้ข้อมูลเพิ่มเติม

%e0%b8%a3%e0%b8%87-%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9%e0%b8%99-18-19-2

สําหรับการพระบรมศพที่เป็นแบบฉบับต่อการจัดพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์คือ การพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเมรุมาศตามโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยานั้นมีความยิ่งใหญ่โอฬารมาก สอดคล้องกับหลักที่ว่า การสร้างพระเมรุมาศถือเป็นความมั่นคงของประเทศ พระเมรุมาศของรัชกาลใดยิ่งใหญ่ กิตติศัพท์จะขจรเลื่องลือ ประกาศให้รับรู้ว่าบ้านเมืองรัชกาลนั้นเข้มแข็งให้เป็นที่เกรงขามแก่หมู่ปัจจามิตร

การสร้างพระเมรุมาศตามราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา ยึดรูปแบบพระเมรุมาศทรงปราสาท และสร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือเมรุทองซ้อนอยู่ภายใน เป็นรูปแบบการสร้างพระเมรุมาศตามคติการสร้างปราสาทบนเขาพระสุเมรุ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์

จากความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุจุติลงมาเกิดยังมนุษย์โลกเป็นสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนปริมณฑลพิธีที่จำลองเขาพระสุเมรุเพื่อเป็นการส่งพระวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม

จึงเรียกที่ตั้งพระบรมศพ/พระศพ ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงว่า พระเมรุมาศ/พระเมรุ

%e0%b8%a3%e0%b8%87-%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9%e0%b8%99-18-19-1

พระเมรุมาศตามราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา มีส่วนประกอบคือ มีประตูทั้ง 4 ทิศ แต่ละประตูตั้งรูปกินนรและอสูร ทั้ง 4 ทิศ ประตูพระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา กลางพระเมรุเป็นแท่นรับเชิงตะกอนที่ตั้งพระบรมโกศ เสาเชิงตะกอนปิดทองประดับกระจก รอบๆ มีเมรุทิศ 4 เมรุ และเมรุแทรก 4 เมรุ รวมเป็น 8 ทิศ ล้วนปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่างๆ รอบๆ เมรุตั้งรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ อาทิ รูปเทวดา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหมหงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกอทอ ช้าง ม้า และเลียงผา แล้วกั้นราชวัติ 3 ชั้น ซึ่งปิดทอง นาก และเงิน รวมทั้งตีเรือกเป็นทางเดินสำหรับเชิญพระบรมศพ ตามริมทางตั้งต้นไม้กระถางที่มีดอกต่างๆ รวมทั้งประดับประดาฉัตรและธง

ภายในปริมณฑลพระราชพิธีประกอบด้วยอาคารหลายหลังมีชื่อเรียกและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน ในอดีตนอกจากพระเมรุมาศแล้วยังมีอาคารหลักที่สำคัญคือ พลับพลา ที่ประทับสำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์บำเพ็ญกุศล และอีกหนึ่งอาคารสำคัญเรียกว่า สำซ่าง คือที่สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม นอกจากนั้นยังมีอาคารทับเกษตร โรงมหรสพ โรงครัว ห้องน้ำ และอื่นๆ

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมก่อสร้าง ได้ลดและตัดทอนบางส่วนและคลี่คลายรูปแบบไป

%e0%b8%a3%e0%b8%87-%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9%e0%b8%99-18-19-4

ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศตามแบบแผนกรุงเก่าได้เปลี่ยนไปในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เนื่องจากเป็นยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในเวลานั้น

รวมถึงแนวคิดต่อการแสดงออกทางพระราชอำนาจผ่านทางพระราชพิธีพระบรมศพ ทรงมีพระราชดำริที่จะไม่ก่อสร้างพระเมรุมาศยิ่งใหญ่เช่นแต่ก่อน

ต่อมาเมื่อถึงครางานพระบรมศพของพระองค์เอง แนวพระราชดำรินั้นจึงได้รับการสนองตอบจากองค์รัชทายาทคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงปรับปรุงรูปแบบการสร้างพระเมรุมาศทั้งรูปทรงและวัสดุก่อสร้าง

ดังจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของพระเมรุมาศในยุคก่อนและหลังรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างเช่น พระเมรุมาศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ตามแบบโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระเมรุมาศองค์สุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท

ส่วนพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) นั้นไม่ได้สร้างเขาพระสุเมรุตามแบบเดิม แต่เปลี่ยนมาก่อสร้างพระเมรุมาศบนพื้นราบ เป็นทรงบุษบกแวดล้อมด้วยเมรุราย 4 ทิศ ค่อยๆ ลดรูปเป็นคดซ่าง ระเบียง ทับเกษตร

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะตัดทอนลดรูป แต่การก่อสร้างก็ยังยึดถือเป็นแบบแผนเก่าอย่างเคร่งครัด

 

พระเมรุมาศทรงบุษบกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นพระเมรุมาศแบบใหม่องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์

และเป็นต้นแบบพระเมรุมาศงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสืบมาทุกพระองค์

ทั้งพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) พระเมรุมาศพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ร.8)

และล่าสุด พระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ซึ่งกรมศิลปากรตั้งเป้าว่าจะดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560