ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /CAFE FUNICULI FUNICULA

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

CAFE FUNICULI FUNICULA

‘เจาะเวลาหาอดีต’

กำกับการแสดง Ayuko Tsukahara

นำแสดง Kasumi Arimura Kentaro Ito Haru Motoki Fukami

 

ด้วยสมมติฐานที่วางไว้แบบไม่ต้องสาธยายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นไปได้ด้วยหรือ หรือว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

แต่เมื่อตัวละครยืนยันและเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนั้นจริงๆ เราก็ต้อง “ยกความไม่เชื่อเอาไว้” หรือแบบที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า suspension of disbelief และเชื่อตามที่หนังว่าไว้ไปก็แล้วกัน

สมมติฐานที่ว่าคือ ในร้านกาแฟเล็กๆ ชื่อฟูนิคูลี ฟูนิคูลา ซึ่งมีนากาเระ โทกียะ (ฮาโตกิ ฟูคามิ) เป็นเจ้าของ และมีพนักงานในร้านเป็นสาวน้อยหน้าใสชื่อคะสุ (คะสุมิ อาริมูระ)

มีเก้าอี้นั่งอยู่ตัวหนึ่งที่จะพาผู้นั่งกลับไปสู่เหตุการณ์ในอดีตตามที่ตัวเองอยากกลับไปได้

แต่ก็มีกฎและข้อเตือนให้ระวังหลายข้อ นั่นคือ

  1. จะกลับไปเจอคนที่ไม่เคยมาที่ร้านนี้ไม่ได้
  2. ไม่ว่าจะทำอย่างไร หรือพยายามแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตอย่างไร ก็จะเปลี่ยนปัจจุบันไปไม่ได้
  3. มีที่นั่งเพียงที่เดียวเท่านั้นที่จะพากลับสู่อดีตได้ และต้องรอคิวจนกว่าที่นั่งจะว่าง ถึงจะไปนั่งแทนได้
  4. ระยะเวลาที่จะอยู่ในอดีตได้ ยาวนานแค่ชั่วกาแฟในถ้วยเย็นลง และต้องดื่มกาแฟถ้วยนั้นให้หมดก่อนที่กาแฟจะเย็น

อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงคนหนึ่งครอบครองนั่งเก้าอี้อ่านหนังสือจิบกาแฟอยู่เป็นประจำแทบจะตลอดเวลา เฉพาะเวลาที่ผู้หญิงคนนั้นลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำเท่านั้นแหละ คนอื่นที่อยากกลับไปสู่อดีตในช่วงสั้นๆ จึงจะเข้านั่งแทนได้

และไม่มีใครพูดจาติดต่อกับผู้หญิงคนนั้นได้ เนื่องจากว่าเธอเป็นวิญญาณค่ะ

คำถามที่น่าขันที่เกิดขึ้นทันทีคือ เป็นวิญญาณแล้วยังปวดท้องต้องเข้าห้องน้ำอีกหรือ

คำตอบก็คือ ไม่รู้ละ แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ นี่

 

และเมื่อเกิดความจำเป็นอยากให้วิญญาณลุกจากเก้าอี้ให้คนอื่นนั่งแทนบ้าง จึงมีความพยายามจะหาทางให้วิญญาณลุกเข้าห้องน้ำเร็วขึ้น ด้วยการรินกาแฟเสิร์ฟอย่างถี่ๆ เร่งกระบวนการขับปัสสาวะในร่างไร้ชีวิตที่เหลือแต่วิญญาณนั้นเสียดื้อๆ

หนึ่งในผู้คนที่อยากกลับสู่อดีตผ่านเก้าอี้ตัวนี้ คือหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังถวิลหาชายหนุ่มที่อยากได้เป็นแฟน แต่ไม่กล้าเปิดปากบอก เขาเลยย้ายไปอยู่อเมริกาเสียแล้ว

แต่เธอก็กลับไปแก้อดีตไม่ได้ ถึงยังไงเขาก็ยังจากไปอเมริกาอยู่ดี

เมื่อเปลี่ยนปัจจุบันจากการแก้ไขอดีตไม่ได้ เธอก็หันไปแก้ด้วยการแก้ไขอนาคตแทน เธอเดินทางตามเขาไปอเมริกาเพื่อบอกความในใจให้รู้ และเรื่องราวลงเอยด้วยความสุข

หญิงสาวอีกคนที่กำลังเสียใจอยู่กับปัจจุบันที่ผิดใจกับครอบครัว และน้องสาวคนเดียวที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ขอเดินทางกลับสู่อดีตชั่วระยะเวลาแค่กาแฟในถ้วยเย็นลง เพื่อกลับไปทำความเข้าใจกับน้องสาว และสมานรอยร้าวในครอบครัว

นอกจากนั้น ยังมีผู้ชายที่คอยดูแลภรรยาที่เป็นอัลไซเมอร์ จำอะไรไม่ได้ และจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นสามี เขาอยากรู้ว่าเธอมีอะไรจะบอกเขาในซองจดหมายที่ไม่ได้ยื่นให้เขาก่อนที่สมองเธอจะไม่เหลือความจำอยู่เลย

เมื่อเขารู้ความต้องการของเธอในจดหมายที่ไม่ยอมให้สามีอ่านจนแล้วจนรอด เขาก็สามารถปฏิบัติตัวตามประสงค์และตามที่ควรเป็น

เรื่องราวลงเอยด้วยดี (เท่าที่จะดีได้) เมื่อชายคนนั้นได้นั่งเก้าอี้เจาะเวลาหาอดีต

 

แต่เรื่องราวหลักๆ อยู่ที่ตัว “คะสุ” สาวน้อยผู้ดูแลร้านและเสิร์ฟกาแฟ ซึ่งเป็นญาติของเจ้าของร้าน

เธอเริ่มความสัมพันธ์อันน่ารักแบบกุ๊กกิ๊กกับเรียวสุเกะ ชินตานิ (เคนทาโระ อิโตะ) หนุ่มผู้นึกอยากกลับสู่อดีตไปหาแมวแสนรักที่ตายไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่ยอมนั่งเก้าอี้ตัวนั้น

แต่เขากลับมีบทบาทสร้างความเข้าใจในความสัมพันธ์ของคะสุกับแม่ผู้จากไปไม่รู้กลับในตอนที่คะสุยังเล็ก อายุเพียงหกขวบ

คะสุกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเล็ก และได้รู้ว่าแม่นั่งเก้าอี้ตัวนั้นเพื่อกลับไปหาพ่อที่ตายไป แต่แม่ก็ใช้เวลาอยู่ในอดีตนานเกินไป จนกาแฟเย็นหมดแล้ว แม่เลยติดอยู่ในอดีตและกลับคืนสู่ปัจจุบันไม่ได้

แม่คือผู้หญิงคนนั้นที่ครอบครองเก้าอี้ตัวนั้น โดยแทบไม่ยอมลุกไปไหน

ภารกิจของเรียวสุเกะคือหาทางทำให้คะสุกลับไปเจอแม่ในอดีตได้

ปัญหาคือ เฉพาะผู้หญิงในครอบครัวเท่านั้นที่จะเป็นคนรินกาแฟร้อนๆ ใส่ถ้วยเพื่อให้คนนั่งเก้าอี้กลับสู่อดีตได้

แต่แม่ก็ตายไปแล้ว และคะสุก็รับหน้าที่รินกาแฟตลอดมา และเธอไม่สามารถรินกาแฟให้ตัวเองได้

เรื่องง่ายๆ แต่ซับซ้อนนี้กลายเป็นอุปสรรคที่ต้องขบแก้

และเรียวสุเกะก็แก้ปัญหานี้ได้

 

นี่เป็นหนังแบบที่ให้ความรู้สึกดีๆ และเป็นหนังประเภทกุ๊กกิ๊กแบบไม่ต้องใช้ความคิดมาก

ไม่มีคนเลวหรือผู้ร้ายในเรื่อง มีแต่ความไม่เข้าใจกัน ความคลาดเคลื่อนหรือการจูนคลื่นไม่ตรงกัน ซึ่งทำให้พลัดพรากหรือผิดใจกันไป

การเจาะเวลาหาอดีตของหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพื่อกลับไปแก้ไขอดีต เพื่อเปลี่ยนปัจจุบัน อย่างเช่น ในหนังไซไฟที่มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องเดินทางข้ามเวลา หรือไทม์แมชีน อย่างเช่น Back to the Future เป็นต้น

แต่เพื่อสะสางความเข้าใจผิด หรือความไม่เข้าใจบางเรื่อง เพื่อให้ใช้ชีวิตปัจจุบันต่อไปสำหรับวางรูปแบบของอนาคตได้ดีขึ้น

หนังมีมุขเล็กมุขน้อยตามแบบหนังกุ๊กกิ๊กของญี่ปุ่น ซึ่งน่าเอ็นดูดี

อย่างเช่น ระหว่างการนั่งเก้าอี้กลับสู่อดีต คนนั่งจะรู้สึกเหมือนดำน้ำ ต้องกลั้นหายใจไปโผล่ผลัวะจากเพดานห้องของร้านกาแฟ และหล่นตุ๊บลงมานั่งบนเก้าอี้ตัวพิเศษนั้น

คนบางคนจึงเตรียมตัวกลับสู่อดีตด้วยการใส่แว่นตาสำหรับว่ายน้ำ และเตรียมอุดปากอุดจมูกเป็นพัลวันก่อนจะเดินทางข้ามเวลาหลุดผลัวะไปสู่ช่วงเวลาในอดีต

กลายเป็นมุขตลกขำขัน ซึ่งทำให้เรื่องราวในชีวิตอันเศร้าสร้อยของตัวละครเบาสมองขึ้นเยอะ

 

คาเฟฟูนิคูลิ ฟูนิคูลา มีชื่อเรื่องภาษาอังกฤษอีกชื่อคือ Before the Coffee Gets Cold ซึ่งก็ตรงตามความหมายของสมมติฐานที่วางไว้ในเรื่องเป๊ะเลย

นั่นคือช่วงเวลาแสนวิเศษชวนอัศจรรย์นี้จะเกิดขึ้นเพียงในชั่วระยะเวลาแสนสั้นก่อนที่กาแฟในถ้วยจะเย็นชืด และผู้เดินทางกลับสู่อดีตต้องรีบกลับคืนสู่ปัจจุบันเสียก่อนโดยรีบดื่มกาแฟให้หมดถ้วย มิฉะนั้นถ้ายังหลงเพลิดเพลินติดข้องอยู่ในอดีต ก็จะไม่สามารถคืนสู่ปัจจุบันกาล และไม่สามารถมีชีวิตในอนาคตได้ต่อไปอีก

ไม่ใช่หนังชวนฮือฮาน่าคิดอะไรนักหรอกค่ะ แต่ก็สนุกสนานเพลิดเพลินเจริญใจดี

เปลี่ยนรสชาติจากหนังฟอร์มใหญ่จากค่ายหนังดังๆ ไปเสียบ้าง ก็นับเป็นประสบการณ์ภาพยนตร์ที่น่าชื่นใจดีค่ะ