คำ ผกา | เหยื่ออารมณ์

คำ ผกา

เพื่อนของฉันคนหนึ่งย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เชียงใหม่ ทีแรกเข้าไปอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านของชาวบ้าน

อยู่ไปไม่นานวัน เธอพบว่าเธอควรไปซื้อบ้านจัดสรรอยู่ เพราะในหมู่บ้านและในวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นอึกทึกไปด้วยเสียง ตั้งแต่เสียงตามสาย เสียงจากวัดในวันพระ เสียงอบรม อสม. จากสถานีอนามัย เสียงเพลงจากตลาดนัด เสียงงานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ งานแต่งงาน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศพนั้นถือเป็นงาน “ปอย” อย่างหนึ่ง อึกทึกไปด้วยความบันเทิงนานาชนิด ตั้งแต่วงนินทาชาวบ้านไปจนถึงการล้มหมู ล้มวัว โรงครัวทำอาหาร ที่ทำกันไปเกือบทั้งวันทั้งคืน

“ความเงียบ” นั้นมีสองสถานะ สำหรับสังคมไทย

สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย คำว่า “เงียบ” นั้นมีความหมายที่เป็นลบ เช่น เรามีสำนวนว่า “เงียบเหมือนป่าช้า” เวลาเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่ดี ก็บอกว่า “เงียบ” เงียบยังมาพร้อมกับคำว่า “เหงา” มาพร้อมกับคำว่า “วังเวง”

และบ่อยครั้งที่เราเข้าไปในสถานที่อันเงียบเชียบ เราจะรู้สึกเย็นยะเยือกจนกลัว และหลายครั้งทำให้รู้สึกขนหัวลุก

ดังนั้น จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบความเงียบเอาเสียเลย

คนเหล่านี้อยู่บ้านคนเดียวก็ต้องเปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุ หรือทำอะไรก็ได้ให้มีเสียงอะไรสักอย่างอยู่ในบ้านตลอดเวลา

คนเหล่านี้ถ้าเราชวนเขาไปเที่ยวหรือไปพักผ่อนในสถานที่เงียบๆ เขาจะเบ้หน้า แล้วถามกลับว่า เงียบๆ แล้วมันจะสนุกได้อย่างไร?

ไปเดินตลาด ถ้าเป็นตลาดที่เงียบสงบก็ไม่สนุก ไปเที่ยวก็ต้องไปในที่ที่คนไปเยอะๆ มีเสียงเพลง เสียงคน เสียงประกาศ มีความอึกทึกคึกคักสนุกสนาน

ถ้าพวกเขาขับรถไปปิกนิกที่ชายหาดหรือน้ำตก เขาก็ต้องมีเครื่องดีด สี ตี เป่า มีเครื่องเสียง มีลำโพง พวกเขาจะดื่มสุรา ดื่มเบียร์ แล้วร้องเพลง เต้นระบำ-การมีเพลง การเต้น เป็นตัวบ่งบอกว่านี่คืองานรื่นเริง นี่คือความสนุก นี่คือการหย่อนใจ

ตรงกันข้าม “ความเงียบ” หมายถึง ความเครียด ความทุกข์ ความหม่นหมอง ถ้าคนกลุ่มนี้จะเดินห้างสรรพสินค้า แล้วไปเจอห้างสรรพสินค้าที่เปิดเพลงคลาสสิคเบาๆ อากาศเย็นๆ เงียบๆ หรุๆ พวกเขาอาจจะบอกว่า ห้างนี้เงียบจนผีหลอก ไม่สนุก ไม่รู้สึกว่าได้มาหย่อนใจ ไม่มีความเป็นมหรสพ

ห้างสรรพสินค้าสำหรับเขา ต้องคึกคัก เสียงดัง มีงานอีเวนต์ มีคอนเสิร์ตในห้าง มีการประกาศเชิญชวนให้ซื้อสินค้า มีคนแน่นๆ เบียดๆ มีกลิ่นอาหารเย้ายวนใจ

ในบรรยากาศแห่งการหาเสียง คนกลุ่มนี้ชอบให้มีรถหาเสียงเปิดเพลงพรรค มีเสียงปราศรัยลำโพงดังๆ

เพราะการ “ได้ยิน” สะท้อนว่า ผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองใส่ใจที่จะเข้าถึงประชาชน มีความฮึกเหิม มีพลัง

ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้ “ยิน” เสียงจากพรรคการเมืองนั้นๆ เราจะคิดว่า เขาไม่หาเสียง เขาไม่กระตือรือร้น เขาไม่แยแส

ในเวลาเดียวกัน เราก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มองว่า “ความเงียบ” คือวัฒนธรรม คือความศิวิไลซ์ คือความเป็นโลกที่ 1 แสนจะ sophisticate (ตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) คำคุณศัพท์ที่เราใช้กับความเงียบจะไม่ใช่เงียบเหมือนป่าช้า แต่เราชอบคำว่า เงียบสงบ, เงียบงาม

ถ้าเราจะไปเที่ยว เราก็อยากไปในที่ที่มีคนน้อยๆ เข้าถึงยากๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ เราไม่อยากได้ยินเสียงมนุษย์ ไม่อยากได้ยินเสียง “สังเคราะห์”

เราอยากฟังเสียงลม อยากฟังเสียงใบไม้ในสายลม อยากฟังเสียงคลื่น เสียงนก เสียงแมลง เสียงของป่า เสียงของทะเล

ถ้าเราไปดูหนัง แน่นอน ไม่ใช่หนังกลางแปลงที่อึกทึกอยู่กลางแจ้ง โรงหนังต้องเงียบ โรงละคร โรงคอนเสิร์ต ดนตรีต้องเงียบ เพื่อเราจะอิ่มเอมกับงานศิลปะที่เราเสพอย่างไม่วอกแวก

มีความเงียบเท่านั้นที่ศิลปะจะเดินทางสู่จิตเราได้อย่างทรงพลัง ถ้าเราไปห้องสมุด ไปพิพิธภัณฑ์ เราก็คาดหวังความเงียบอย่างแน่นอน (เทรนด์ล่าสุดที่กำลังมา กลับเป็นห้องสมุดที่ไม่เงียบ จัดวางพื้นที่ห้องสมุดให้คึกคัก มีชีวิตชีวา พูดคุยเล่นหัว เป็นมิตรมากขึ้น)

การเลือกที่อยู่อาศัยสำหรับคนกลุ่มนี้ ยิ่งได้ทำเลที่ยิ่งเงียบสงบ แปลว่ายิ่งแพง และแปลว่าคนที่ได้ไปอยู่ในนั้นก็ยิ่งรวย แล้วหากเลือกได้และมีเงินพอ ใครจะไม่อยากอยู่ในพื้นที่ที่เงียบๆ จริงไหม?

ในที่นี้ ความเงียบจึงเท่ากับความแพงและรสนิยมที่ดีด้วย

สําหรับคนกลุ่มนี้ในรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า รถใต้ดิน พวกเขาก็คาดหวังความเงียบ และเมื่อเราเจอคนคุยโทรศัพท์เสียงดังลั่น พร้อมเปิดลำโพง เราก็ต้องมองค้อนอย่างรำคาญใจ พร้อมกับด่าในใจว่า “ไร้มารยาท”

ในที่นี้ ความเงียบจึงหมายถึง “มารยาทอันดี” ด้วย (สังคมที่ถือสาหาความกับความเงียบจนขึ้นสมองที่เรารู้จักกันดีคือสังคมญี่ปุ่น ที่การคุยโทรศัพท์ในรถสาธารณะนั้นแทบจะเป็นอนันตริยกรรมเลยทีเดียว และความเงียบแทบจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ อันล่วงละเมิดมิได้)

ในบางสังคม เช่น สังคมญี่ปุ่น คติเรื่องเสียงและความเงียบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสังคม จึงไม่มีความขัดแย้งกันในประเด็นของคุณค่าของความเงียบ

แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้ คนกลุ่มหนึ่งมองความเงียบเป็นความหม่นหมองเศร้าสร้อย คือการไร้สัญญาณชีพ คือป่าช้า คือความวังเวง รันทด หดหู่ คือความขี้เหนียว เปิดเพลงก็ไม่แบ่งคนอื่นฟัง ไม่เจือจานแจกจ่ายความสดใสให้เพื่อนบ้าน

บ้างถึงกับบอกว่า ถ้าจัดงานบวช งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่แล้วจัดเงียบๆ แปลว่าไม่อยากให้ใครรู้ ไม่อยากให้เพื่อนบ้านไปร่วม แปลว่า ไม่อยากเลี้ยงใคร ไม่อยากเสียเงิน ขี้เหนียว กลัวต้องเสียเงินเลี้ยงน้ำญาติมิตร – ไปนู่นเลย

ดังนั้น สำหรับคนกลุ่มนี้ จัดงานทั้งที ต้องใหญ่ ต้องดัง เพื่อเป็นการบอกว่า ยินดีต้อนรับทุกคน ต่อให้บัตรเชิญไปไม่ถึงแต่ได้ยินเสียงเพลงแล้วขอให้มาจอยกัน มาแจมกัน

แต่คนอีกกลุ่มมองว่า ความเงียบคือรสนิยมที่ดี คือความแพง คือความละเมียดละไม คือความลึกซึ้งละเอียดอ่อน

บ่งบอกถึงการได้รับการขัดเกลาทางการศึกษา รสนิยม หมายถึงความเป็นโลกที่ 1 ที่พัฒนาแล้ว รู้จักเคารพในสิทธิของผู้อื่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปะทะกันของสองกลุ่ม สองรสนิยม สองคุณค่า จึงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ระดับบ่น ก่นด่า

เช่น ฉันเมื่อครั้งอยู่ในหมู่บ้าน และบ้านก็รายล้อมไปด้วยป่าช้า วัด โรงเรียน ตลาดนัด และสถานีอนามัย ซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับภัยทางเสียงหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดนั้นยังอยู่ในระดับที่ทั้งทนได้ และทำใจยอมรับได้

 

เมื่อคิดอีกอย่างว่า เสียงดัง – ใช่ – แต่ในยามปกติ ก็ถือเป็นชุมชนที่อบอุ่น ปลอดภัย หรือบางทีเหงาๆ มีเสียงอะไรมาจากโรงเรียน หรือสถานีอนามัยบ้างก็ไม่เลวนักหรอก

การปะทะกันในอีกระดับคือ เมื่อเพื่อนบ้านเกิดจะใจกว้างขวาง เปิดเพลงดังเกิน 85 เดิซิเบล พร้อมเสียงเบส เสียงกลอง ตึกๆๆ แบบหัวใจจะวาย อันนี้ก็อาจต้องพึ่งเงื้อมมือของกฎหมายเข้าไปจัดการ

นั่นแปลว่า ในการปะทะกันของสองคุณค่า ทุกสังคมควรมีมาตรฐานอันเป็นหลักวิทยาศาสตร์ว่า เสียงดังได้ถึงไหน และเกินจากระดับไหนจึงจัดเป็นมลพิษทางเสียง

การปะทะกันที่เป็นข่าวเมื่อหลายเดือนก่อน ก็คือเรื่องวัดตีระฆังตอนเช้ามืด รบกวนการนอนหลับของคนที่อยู่ในคอนโดฯ ใกล้วัด

ซึ่งตอนนั้นก็มีดีเบตกันว่าใครผิดใครถูก ตั้งแต่วัดมีมาก่อนคอนโดฯ ไปจนถึงการวัดเดซิเบลของเสียงระฆังว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่?

สิ่งที่สังคมไทยที่มีสองคุณค่าดำรงอยู่ร่วมกัน สิ่งที่ต้องสถาปนาขึ้นมาอย่างจริงจังคือสิ่งที่เรียกว่ามลพิษทางเสียง และการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ต้องเป็นไปอย่างจริงจัง

คนที่ชอบเสียงดัง จะมาอ้างประเพณีอะไรก็อ้างไม่ได้ เพราะมลพิษก็คือมลพิษ ประเพณีอะไรที่สร้างมลพิษ ประเพณีนั้นก็ไม่ควรจะมีอยู่ ควรยกเลิกไปเสีย

เมื่อมีมาตรฐานเรื่องมลพิษทางเสียงแล้ว ต้องมีมาตรฐานเรื่องกาละและเทศะในเชิงกฎหมายด้วย นั่นคือ สังคมไทยต้องหาฉันทามติร่วมกันว่า เราต้องการ “เสียง” แค่ไหนในพื้นที่สาธารณะ

สวนสาธารณะจะเปิดเพลงเต้นแอโรบิกได้ดังๆ ได้ไหม? จัดมหรสพได้กี่ประเภท มีกรณียกเว้นอะไรบ้าง หรือกำหนดเวลาในการใช้เสียงแค่ไหน อย่างไร ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง

การขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน จะบังคับปิดเสียงโทรศัพท์ ห้ามพูดโทรศัพท์ บนรถสาธารณะหรือไม่?

ยิ่งการคุยแบบเปิดลำโพงยิ่งควรห้ามอย่างเด็ดขาดหรือไม่?

ล่าสุดความขัดแย้ง หรือการสอบแกต-แพตของโรงเรียนมัธยมกับงานบวชที่วัด ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ “เสียง” ของสังคมไทย

ที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่า งานรื่นเริงของเขาต้องดัง ต้องสนุก และสุดท้ายลุกลามไปสู่การประกอบอาชญากรรม ทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ ข่มขู่ บุกรุก

หนักกว่านั้น ผู้กระทำความผิดไม่ได้คิดว่าตนเองทำอะไรผิด ตามข่าวบอกว่า แฟนสาวของผู้บวชยังกล่าวว่า “นี่งานบวชนะ ไม่ใช่งานศพ จะให้ไปจัดเงียบๆ ได้อย่างไร?”

ก็ยิ่งทำให้คนติดตามข่าวยิ่งโมโห

ไม่นับว่าเด็กผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ นอกจากจะไม่ได้สอบให้สำเร็จ โดนทำร้าย เสียขวัญ ต้องมาเสียเวลาสอบใหม่ กับข้อสอบเก่าหรือใหม่ไม่รู้ และเกิดทำรอบใหม่ไม่ได้ดีเท่าเดิม ใครจะรับผิดชอบ

ไม่นับอีกว่า การสอบครั้งนี้เป็นตัวตัดสินชะตากรรมและชีวิตที่เหลืออยู่เกือบทั้งชีวิตของพวกเขา

หรือใครจะปฏิเสธว่า สำหรับเด็กไทย การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเด็ก

สิ่งที่ฉันฉงนยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อวัดกับโรงเรียนอยู่ใกล้กันขนาดนั้น ทำไมทางโรงเรียนไม่ส่งหนังสือถึงวัด แจ้งให้ทราบว่า วันที่นี้ เดือนนี้ เวลานี้ จะมีการสอบครั้งสำคัญ (ที่สุด) ขอความร่วมมือไปยังวัดงดการจัดงานมหรสพที่อาจส่งเสียงดัง

เมื่อวัดได้รับแจ้งก็ควรงดกิจงานอีเวนต์ ออกกฎงดใช้เสียงตามวันเวลาที่โรงเรียนขอความร่วมมือมา เช่นเดียวกัน เมื่อโรงเรียนจะมีงานกีฬาสี หรืองานใดๆ ที่อาจส่งเสียงดังรบกวนชุมชน ก็ควรออกหนังสือแจ้งขอทำเป็นการล่วงหน้า

พร้อมรับปากว่า เสียงอันดังนั้นจะไม่ดังเกินไป และจะจบภายในเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ความเงียบมีทั้งมิติที่เป็น “คุณค่า” ทางประเพณี ในทางโลกสมัยใหม่ที่สิทธิส่วนบุคคลเป็นคุณค่าที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ในวาระพิเศษ เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องคุณค่าเชิงประเพณี กับสิทธิ ที่อาจจะยังหักล้างกันไม่ได้โดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการและประสานงานพูดคุยกันได้

อย่างไรก็ตาม การลุแก่โทสะ บันดาลความกร่าง เข้าไปทำร้ายนักเรียน ครู ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ การไม่ปรากฏวี่แววของการสำนึกผิดอย่างจริงใจก็คือเป็นความผิดอันไม่อาจบรรเทาได้ ไม่อาจหาข้อแก้ตัวใดๆ ได้กับการใช้กำลัง ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

คำถามที่ใหญ่กว่าสำหรับสังคมไทยในทุกครั้งที่มีความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นคือ เราซึ่งเป็น “ผู้ชม” ทำอย่างไรเราจะไม่บันดาลโทสะ จะหักห้ามความปรารถนาจะใช้ศาลเตี้ย หรือความรู้สึกทางศีลธรรมของเราไป “ปาหิน” ผู้กระทำผิดเหล่านั้น

ทำอย่างไรให้ตัวเราเองก็ต้องเคารพกฎหมาย ไม่รู้สึกอยากจับคนเหล่านั้นไปแล่เนื้อเถือหนังทาเกลือ อย่างที่เรามักจะรู้สึกเสมอ

เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกอย่างนั้น พึงรู้ว่าเราคือหนึ่งในเหยื่อของโครงสร้างทางสังคมที่บ่มเพาะให้ทุกคนชมชอบในความรุนแรงและมีความเกลียดชังเป็นเครื่องนำทางชีวิต