วงค์ ตาวัน | ปลุกเผาบ้านเผาเมือง-ยิ่งส่งผลตรงกันข้าม

วงค์ ตาวัน

กลยุทธ์ในช่วงท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งที่ใช้กันมาเสมอๆ ก็คือการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว เกลียดชัง หรือกดดันจิตใจให้ต้องตัดสินใจ ดังเช่นวลีที่คุ้นหูคุ้นตากันดีก็คือ ไม่เลือกเราเขามาแน่ อะไรทำนองนี้ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มแล้ว “ไม่เลือกบิ๊กตู่ เขามาแน่”

โดยกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวกันมากในช่วงระยะนี้คือเหล่าแกนนำม็อบนกหวีด

ออกมาย้อนรำลึกถึงการต่อสู้ร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อขับไล่รัฐบาลขี้โกง ซึ่งเป็นคำที่ใช้กล่าวหารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งนั้น

“พร้อมทั้งปลุกผีคำว่าเผาบ้านเผาเมือง”

รวมทั้งปลุกผีทักษิณ ทำนองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเอาทักษิณกับไม่เอาทักษิณ

ลงเอยก็คือเรียกร้องว่า ถ้าไม่อยากให้พวกทักษิณกลับมา ไม่อยากให้พวกเผาบ้านเผาเมืองกลับมา ก็ต้องเลือกพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่มีใครเหมาะเท่า พล.อ.ประยุทธ์อีกแล้ว!”

แต่คนที่หยิบประเด็นเหล่านี้ออกมาปลุกในช่วงท้ายเลือกตั้ง อาจจะลืมนึกไปว่า ในทางตรงกันข้าม นี่คือการปลุกคนที่ยังไม่ลืมเลือนและยังรอวันยุติธรรมให้กับคดี 99 ศพ ไปพร้อมๆ กันด้วย

ในขณะที่โจมตีอีกฝ่ายว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง อีกฝ่ายก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในคดี 99 ศพที่ยังรอวันสะสางอยู่

“และสำหรับคนที่เป็นกลางๆ ก็อาจจะเกิดคำถามว่า ระหว่างตึกที่ถูกไฟเผาไหม้ มีคุณค่ามากกว่าชีวิตคนชนบทร่วมร้อยศพหรือ!?”

แล้วยิ่งคนกลุ่มนี้ รำลึกภาพความประทับใจของกลุ่มตนเอง นั่นคือการชุมนุมชัตดาวน์เมื่อปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึง 2557

ไม่คิดให้รอบคอบว่า ยิ่งเป็นการกระตุ้นอารมณ์ให้กับคนที่รู้สึกเสียดายอำนาจการเมืองในมือประชาชน ที่ต้องสูญเสียไปด้วยการชุมนุมของม็อบนกหวีด

เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอยด้วยการยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว ทำไมแกนนำม็อบนกหวีดไม่ยอมเลือกทางออกแบบประชาธิปไตยนี้ ทั้งที่กระแสคนมาร่วมชุมนุมก็มากมาย ควรเรียกร้องมวลชนไปเข้าคูหากาบัตร เพื่อโค่นพรรคเพื่อไทย ตามหลักสากลด้วยการเลือกตั้ง พร้อมกับช่วยกันเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวทางปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปเลย

การเมืองก็พัฒนา ไม่สะดุดล้มคว่ำ

“อำนาจการเมืองในมือประชาชนไม่ต้องสูญเสียไปยาวนานถึง 5 ปี!!”

แถมการออกมารณรงค์ให้เลือกพรรคที่มีบิ๊กตู่เป็นนายกฯ ต่อ มันยิ่งตอกย้ำว่าทำไมวันนั้นไม่ยอมเลือกแนวทางประชาธิปไตย แต่อ้างขอปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็เพื่อปูทางให้รถถังออกมา

แล้วก็ได้รัฐบาล คสช.ที่ปกครองมายาวนานถึง 5 ปีนั่นเอง

จุดสำคัญอีกอย่าง เมื่อฝ่ายนกหวีดออกมาโชว์ตัวก่อนเลือกตั้งกันมากๆ กลายเป็นยิ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ย้อนนึกถึงภาพการขัดขวางเลือกตั้ง ขัดขวางการใช้สิทธิประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2557

ภาพกลุ่มม็อบไปปิดล้อมขวางหีบบัตร ไปปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ไปคุกคามข่มขวัญกระทั่งใช้กำลังกับคนที่จะเข้าไปเลือกตั้ง ทั้งผลักไส ถึงขั้นบีบคอ

ยิ่งทำให้คนที่ไม่พึงพอใจกับภาพเหล่านี้ ยิ่งไม่ยอมรับพรรคการเมืองบางพรรคในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ไปเสียอีก

“นั่นคือพรรคที่เคยมีส่วนร่วมขัดขวางเลือกตั้งและล้มประชาธิปไตยเมื่อปี 2557”

ไม่เท่านั้น แกนนำบางคนที่ออกมาเคลื่อนไหว เคยก่อวีรกรรมนำม็อบบุกคุกคามสื่อมวลชนถึงสำนักงานมาแล้ว เพื่อบังคับให้สื่อเสนอข่าวตามที่ม็อบนกหวีดต้องการ อันเป็นวิธีการที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างโจ่งแจ้ง สะท้อนตัวตนของแกนนำม็อบดังกล่าว

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่วันนี้แกนนำเหล่านี้มาเรียกร้องให้ช่วยกันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ

“เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ โดยการรัฐประหาร ซึ่งก็สอดรับกับจิตวิญญาณของแกนนำม็อบนกหวีดบางคน ซึ่งไม่ใช่จิตวิญญาณของคนรักประชาธิปไตย”

ดีไม่ดีเอาภาพคนไม่เคารพเสรีภาพสื่อ มาหนุนประยุทธ์ ยิ่งทำให้ภาพเก่าๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนกลับมาตอกย้ำอีก

ทั้งที่กลยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐนั้น พยายามโหมภาพใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นลุงตู่ผู้ตรงไปตรงมา มีดุบ้าง มีใจดีบ้าง

พอแกนนำม็อบที่คุกคามสื่อออกมาเชียร์บิ๊กตู่ คราวนี้ก็เลยทำให้เกิดภาพ พล.อ.ประยุทธ์หัวหน้ารัฐประหารขึ้นมาอีก

ดูไปแล้ว ไม่ได้เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์เลยแต่อย่างใด!

ดูเหมือนการใช้วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง เคยสร้างความสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2556 ซึ่งตอนนั้นคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเริ่มแซงพรรคคู่แข่งไปแล้ว แต่สุดท้ายเจอกลยุทธ์โหมคำว่าเผาบ้านเผาเมือง เพื่อปลุกคนกรุงที่เกลียดชังเสื้อแดงให้ออกมาช่วยเลือกผู้สมัครประชาธิปัตย์ จนสำเร็จในที่สุด

จึงเป็นไปได้มาก ที่หวังจะใช้กลยุทธ์นี้มากระทำซ้ำในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

“แต่ก็ลืมไปว่า ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศ”

คำว่าเผาบ้านเผาเมืองอาจสร้างความหวาดผวาให้คนกรุงได้บางส่วน

แต่จะยิ่งทำให้คนภาคอีสานและภาคเหนือ เจ็บแค้นใจในคดี 99 ศพ อันจะส่งผลทางลบต่อพรรคการเมืองบางพรรค ที่พยายามจะเจาะฐานเสียงอีสานและเหนือ เพื่อล้มเพื่อไทยให้ได้

เจอกลยุทธ์ของนกหวีด ปลุกคำว่าเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งส่งผลตรงกันข้าม ทำให้เกิดความแค้นเคืองเรื่อง 99 ศพไปในที่สุด

“การเจาะทะลวงคะแนนเสียงใน 2 ภาคใหญ่ดังกล่าว เลยยิ่งยากเย็นเข้าไปใหญ่!!”

ที่สำคัญ ควรย้อนดูคำพิพากษาของศาล ในคดีวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลย

“โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง ด้วยไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ชัดเจน จากนั้นในวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ยกฟ้อง 2 ผู้ชุมนุมเสื้อแดง”

ไม่เท่านั้น ยังมีเยาวชนอายุ 17 ปี และ 16 ปี ที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับนายสายชลและนายพินิจ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้พิพากษายกฟ้อง 2 เยาวชน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555

อีกทั้งยังมีอีกคดี อันเนื่องจากเหตุการณ์เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์นี่แหละ โดยเป็นคดีทางแพ่ง ซึ่งฝ่ายห้างเซ็นทรัลยื่นฟ้องเทเวศร์ประกันภัย เนื่องจากบริษัทประกันอ้างเป็นเหตุก่อการร้ายซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยไม่ครอบคลุม

ศาลแพ่งพิพากษาว่า

“ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือสั่งการจากแกนนำ ที่สำคัญขณะที่เผาห้างนั้นแกนนำก็ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว”

“คนร้ายที่เผาห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ก็มิได้แสดงความต้องการให้ข่มขู่รัฐบาลให้ยุบสภา หรือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่หวังผลการทางเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย”

ข้อเท็จจริงผ่านคำพิพากษาของศาลเหล่านี้ เป็นหลักเป็นฐาน ไม่ใช่แค่คำประดิษฐ์

ควรจะยุติวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองไปได้แล้ว!