อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ภาพที่หายไป

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

สื่อมวลชนรายงานว่า วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 69 คนที่มาจากพรรคการเมือง 45 พรรค

โดยไม่มีชื่อพรรคไทยรักษาชาติแต่อย่างใด

 

ภาพที่หายไป

สื่อมวลชนรายงานว่า วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติยกเลิกการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ที่ทำการของพรรคไทยรักษาชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งแต่เดิมวางแผนว่าจะมีการแถลงข่าวเวลา 15.30 น.

เจ้าหน้าที่ของพรรคบอกแก่บรรดาผู้สื่อข่าวว่าการแถลงข่าวต้องยกเลิกไป เพราะว่ากรรมการบริหารอยู่ที่ต่างจังหวัดและไม่สามารถมาพบได้ตามเวลานัด (1)

คืนวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 รายการโทรทัศน์ของไทยรัฐทีวีซึ่งได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองหรือประธานกรรมการนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคมาออกรายการเพื่อพูดคุยถึงนโยบายของพรรค การหาเสียงของพรรค ความเป็นไปได้ของความร่วมมือระหว่างพรรคในการบริหารประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้อย่างน้อยก็ให้ภาพของอนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการทำรัฐประหารพฤษภาคม ค.ศ.2014 หรือเกือบ 8 ปีมาแล้วได้ในระดับหนึ่ง

แต่ระดับแกนนำของพรรคไทยรักษาชาติก็ไม่ได้ปรากฏตัวในรายการนั้น ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ยังไม่ทราบความชัดเจนของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติหลังจากยื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ตัวหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติเพิ่งปรากฏตัวช่วงบ่ายวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากข่าวลือต่างๆ นานา เช่น ไม่อยู่ในประเทศ แต่เมื่อปรากฏตัว ท่านหัวหน้าพรรคก็กล่าวแก่สื่อมวลชนว่าจะดำเนินการทางการเมืองต่อไป จะทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

เป็นที่สังเกตว่า เหตุผลนี้เหมือนกับที่เจ้าของตัวจริงและคนในครอบครัวนี้บอกว่า ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป เรียกได้ว่า เหมือนกันตามสคริปต์ แต่ในความเป็นจริงทางการเมืองอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กกต.มีความเห็นส่งเรื่องยุบพรรคพรรคไทยรักษาชาติแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค คะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่รณรงค์อยู่ในเขตเลือกตั้ง 100 เขตจะหายไปเลย เป้าหมายของพรรคที่จะสนับสนุนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ที่นั่ง 250 ที่นั่งในรัฐสภาจะกลายเป็นเพียงความฝันอันห่างไกล

อันนี้ไม่ต้องพูดถึง การถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคหลายปีหรืออาจจะตลอดชีวิต

 

ภาพใหม่โผล่มา
พล็อตเรื่องรัฐประหาร

ในขณะที่เรากำลังดูรายการโทรทัศน์ของช่องไทยรัฐทีวี พิธีกรของรายการได้สอบถามหลายครั้งถึงเรื่องการรัฐประหาร ซึ่งแกนนำของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรายการก็ไม่ได้ตอบโดยตรง ผมไม่คิดว่า พิธีกรรายการโทรทัศน์ใช้คำถามอันอ่อนไหวนี้เพื่อเรียกเรตติ้งของรายการ แต่พิธีกรก็เหมือนสื่อมวลชนรายอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น ใน Social media คำว่า รัฐประหารติด hashtag อันดับ 1 ของทวิตเตอร์ของไทย (2) ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สื่อมวลชนจำต้องสอบถามความเห็นของแกนนำพรรคการเมืองสำคัญเหล่านั้น

ยังไม่ทันไร มีประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่อง การให้ดำรงตำแหน่งของผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาแถลงว่า “…เป็นข่าวปลอม…” และกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “…เรากำลังตรวจสอบ…” (3)

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีอีกอย่างน้อย 3 ประเด็นที่เกี่ยวพันกับข่าวลือเรื่องการรัฐประหารครั้งนี้

ประการที่ 1 มีภาพรถถังวิ่งไปตามท้องถนน แต่ต้องเอาป้ายมาติดว่า ไปซ้อมและฝึก

ประการที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 มีรายงานออกมาว่า มีการนำกำลังตำรวจไปรักษาการณ์ในสถานที่สำคัญของราชการก่อนที่จะมีการเผยแพร่ว่า ข่าวการโยกย้ายนายทหารเป็น ข่าวปลอม (4)

ประการที่ 3 มีพล็อตเรื่อง การแข่งขันระหว่างกันภายในกองทัพและความเป็นฝักเป็นฝ่ายระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคน ซึ่งไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่หลายคนก็เชื่อว่า กองทัพไม่มีเอกภาพอยู่ก่อนแล้ว

ข่าวพล็อตเรื่องและการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นแล้วและก่อผลเสียหายแก่ประเทศโดยรวม คือ ได้เปลี่ยนจากประเทศไทยที่มีสถานะเชิงเปรียบเทียบว่า มั่นคงที่ระบอบเผด็จการกำลังเคลื่อนไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ กลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยจมปลักกลับไปสู่การลื่นไหลอย่างสุดขั้วทางการเมืองเพียงข้ามคืน

ผมคิดว่า นี่เป็นอีกระลอกหนึ่งของการลื่นไหลอย่างสุดขั้ว อีกทั้งไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะควบคุมการไหลลื่นนี้ได้เพียงลำพัง อำนาจจากปากกระบอกปืน ระเบียบที่มีอยู่ อำนาจนำที่อ่อนแอลงและแม้แต่บุคลิกภาพ

สังคมการเมืองไทยมีพลวัตสูงและคาดการณ์ยากมากขึ้น พอๆ กับการควบคุมได้ยากขึ้นด้วย

—————————————————————————————————————
(1) “Princess ruled out for PM race” Bangkok Post 12 February 2019 : 1.
(2) “Princess Ubolratana disqualified from list of candidates for PM” Bangkok Post 11 February 2019 : 1.
(3) Ibid.,
(4) Atiya Achakulwisut, “Plot twists put democratic return at risk” Bangkok Post 12 February 2019 : 9.