ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / แม่น้ำเจ้าพระยา : ให้กำเนิดความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

แฟรเนา เมนเดส ปินตู (Fernao Mendes Pinto) พ่อค้า นักสำรวจ นักเขียนชาวโปรตุเกส ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2097 ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา เป็นนักเดินทางชาวยุโรปคนแรก ที่เปรียบเทียบอยุธยาไว้ว่า เป็นราวกับ “เมืองเวนิสของโลกตะวันออก”

ดังข้อความที่อาจจะแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ว่า

“ข้าพเจ้าได้เดินทางเข้าไปในสยาม และเยี่ยมชมอยุธยาถึง 2 ครั้ง…เมืองดังกล่าวเปรียบประดุจเหมือนดั่งเมืองเวนิส เพราะมีลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก เรือนับ 200,000 ลำ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นเรือลำใหญ่ และเรือลำน้อย คละเคล้ากันไป”

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งโลกตะวันออกจะมีเวนิสเพียงแห่งเดียวนะครับ ยังมีเมืองในโลกตะวันออกอีกมากมายที่ถูกเปรียบเทียบกับเมืองเวนิส จากนักเดินทางชาวยุโรป

ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเมืองศรีนาคาร์ และเมืองอุทัยปูร์ ในอินเดีย เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา เมืองเซมารัง บนเกาะชวา เมืองลี่เจียง และเมืองซูโจว ในจีน เมืองฮิโรชิมา, เมืองมัตสึเอะ, เมืองโอซาก้า และเมืองเกียวโต ของญี่ปุ่น เมืองมะละกะ ในมาเลเซีย เมืองมะนิลา ในฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งเมืองบางกอก ของสยามเองก็ด้วย

และนี่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของจำนวนเมืองที่ถูกเรียกว่า “เวนิสแห่งโลกตะวันออก” เพราะยังมีเมืองเวนิสแบบเอเชียๆ ที่ผมไม่ได้คัดมาไว้ในย่อหน้าข้างต้นอีกมาก ทั้งที่อยู่ในเขตประเทศเดียวกันกับเมืองข้างต้น และที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก, เกาหลีใต้, บรูไน หรือบังกลาเทศ

 

บรรดาเมืองต่างๆ เหล่านี้ จึงให้ความสำคัญกับแม่น้ำและลำคลองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นเส้นทางคมนาคมนั่นแหละ

ในกรณีของอยุธยานั้น นอกจากแม่น้ำลำคลองจะเป็นเส้นทางคมนาคมแล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอีกด้วย ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubere) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2230 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้น มีข้อความบันทึกเอาไว้ว่า

“เรือที่ใช้กันตามธรรมดาซึ่งมีฝีพายแจวน้อยคนนั้น ที่ตรงกลางลำมีประทุนขัดแตะด้วยไม้ไผ่หรือเก๋งไม้อย่างอื่น ไม่ทาสีหรือทาน้ำมันชักเงาแต่ประการใด ภายในนั้นอยู่กันได้ทั้งครอบครัว และลางทีประทุนนั้นก็มีกันสาดยื่นต่ำออกไปข้างหน้า สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพวกทาส และชาวสยามเป็นอันมากอยู่แต่ในเรือ ไม่มีเคหสถานอย่างอื่น”

แต่ที่สำคัญก็คือ แม่น้ำลำคลองเหล่านี้ ต่างก็เป็นเส้นทางในการขนถ่ายสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง ดังที่ปินตู นักเดินทางชาวโปรตุเกสคนดีคนเดิม ได้บรรยายเอาไว้ว่า

“เมืองหลวงของราชอาณาจักรคือเมืองแห่งโอเดีย (Odiaa คืออยุธยา) ราชอาณาจักรแห่งนี้ร่ำรวยมาก และมีการค้าจำนวนมาก ไม่มีเลยสักปีเดียวที่เมืองอื่นๆ และเมืองใหญ่ในเกาะชวา บาหลี มาดูรา อันบอน บอร์เนียว และซูลู จะไม่ส่งสำเภามาไม่ต่ำกว่า 10,000 ลำ ยังไม่นับเรือเล็กเรือน้อยซึ่งเข้ามาคลาคล่ำในแม่น้ำและท่าเรือทุกแห่ง”

และเรือที่บรรทุกสินค้าต่างๆ เข้ามาค้าขาย และขนถ่ายนำสินค้าจากกรุงศรีอยุธยาไปขายยังภูมิภาคอื่นๆ ในโลกนั้น จำต้องผ่านเส้นทางคมนาคมสำคัญที่จะนำพาพวกเขาจากปากอ่าวไทย เข้าไปสู่กรุงศรีอยุธยา (หรือในทางกลับกันคือจากอยุธยาไปยังปากอ่าวไทย) คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา”

 

ข้อมูลล่าสุดทางธรณีวิทยาแสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย มีปากแม่น้ำอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกับปัจจุบันนี้ มาตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า แม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีอยู่เดิมตั้งแต่ในตอนนั้นแล้วด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจจะมีความคดเคี้ยว รวมถึงอาจจะมีความลึกไม่เพียงพอสำหรับการเดินเรือกินระวางมากๆ อย่างเรือสินค้า เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงไม่มีการพบเมืองหรือหลักฐานทางโบราณคดีรุ่นที่เก่าแก่กว่ากรุงศรีอยุธยาในแม่น้ำสายนี้มากนัก เมื่อเทียบกับแม่น้ำสายอื่นในละแวกใกล้เคียงกัน ณ ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างอย่าง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำบางปะกง

แต่แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็นชัยภูมิอันโดดเด่นสำหรับการสร้างเมือง เพื่อควบคุมการค้าภายใน และการค้าโลกข้ามสมุทร เพราะมีเส้นทางน้ำที่เชื่อมต่อเข้าไปดินแดนภายในแผ่นดินใหญ่ที่ยาวไกล และหลากหลายมากกว่าผ่านเส้นทางน้ำอื่นๆ ในพื้นที่บริเวณเวิ้งอ่าวไทยด้วยกันนะครับ

และก็เป็นดินแดนภายในผืนแผ่นดินใหญ่ต่างๆ นี้เอง ที่จะเป็นแหล่ง “ของป่า” อันเป็นสินค้าสำคัญ ที่จะทำให้กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองขึ้นมาด้วยการค้าขายในภายหลัง

 

จากระยะเวลาเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว เส้นทางน้ำค่อยๆ เปลี่ยนเส้นทางเดินไปทีละน้อย จนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีความลึกพอสำหรับเรือที่มีระวางสินค้ามาก จนมีชัยภูมิเหมาะสม สำหรับการสร้างเมืองเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.1800

เพราะข้อความในพระราชพงศาวดารระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2041 ได้มีการขุดลอกคลองสำโรง และคลองทับนางตรงใกล้ปากน้ำที่ตื้นเขินอยู่นั้น ได้ขุดพบเทวรูปสององค์ คือพระยาแสนตา และบาทสังขกร ซึ่งก็น่าจะเป็นหลักฐานว่า พวกขอมในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งชุมชนอยู่บริเวณดังกล่าว

จึงได้มีการประดิษฐานเทวรูปไว้ในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่บ้างแล้ว

หลักฐานนี้ยังสัมพันธ์กับพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในกรุงศรีอยุธยาคือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่ในพงศาวดารเรียกว่า “พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง” ที่มีพระพักตร์เป็นแบบศิลปะอู่ทอง ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะขอม โดยพงศาวดารยังระบุต่อไปด้วยว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1867 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี แต่เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับอิทธิพลขอม และเทวรูปสององค์ที่ถูกขุดพบ

การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่โตเช่นพระพุทธรูป เจ้าพแนงเชิง ซึ่งมีหน้าตักกว้างราว 20 เมตร และสูงถึง 19 เมตรนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตของชุมชน ในระยะก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่เกิดจากผลการควบคุมเส้นทางของการค้าทั้งภายใน และภายนอกของภูมิภาค เพราะถึงแม้ว่า รูปแบบศิลปะพระพุทธรูปองค์นี้จะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับขอมอย่างชัดเจน

แต่แนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่อย่างนี้กลับแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่มากกว่า ที่สำคัญก็คือ จากข้อมูลของคำให้การต่างๆ พื้นที่บริเวณวัดพนัญเชิง ยังเป็นแหล่งย่านศูนย์กลางของคนจีนมาตั้งแต่ในยุคกรุงศรีอยุธยาด้วย

ลักษณะของการประสมประสานกันของผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลายเช่นนี้ จึงมีที่มาจากชัยภูมิ ที่เกิดจากเส้นทางน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งได้มีการสถาปนาเมืองขึ้นเป็น “ราชธานี” ซึ่งมีการปกครองด้วยระบบพระมหากษัตริย์ ที่พระราชพงศาวดารได้ระบุปีศักราช ตรงกับ พ.ศ.1893 ในที่สุด

 

แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.1893 แล้วก็ตาม แต่ในระยะแรกนั้น สถานการณ์ภายในราชสำนัก ก็ยังดูเหมือนจะไม่ค่อยจะสงบดีนักนะครับ

การผลัดกันขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์จาก 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ที่มีถิ่นฐานเดิมในเมืองละโว้ หรือลพบุรี บนลุ่มน้ำป่าสัก และราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่มีฐานที่มั่นเก่าแก่ในเมืองสุพรรณบุรี บนลุ่มน้ำท่าจีน แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มคน หรือกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญของเมืองอยุธยา ที่แม่น้ำทั้งสองสายดังกล่าว ไหลเข้ามารวมเข้ากับแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วล้อมเป็นวงจนเกิดเป็นเกาะเมืองอยุธยา ก่อนจะไหลลงใต้เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนออกอ่าวไทยในที่สุด

หลังชัยชนะของฝ่ายราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีเสถียรภาพดีขึ้นมาก เราจึงเริ่มเห็นหลักฐานที่กษัตริย์อยุธยาทรงจัดการกับทางน้ำต่างๆ โดยเฉพาะทางน้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของอยุธยา

ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคลองสำโรง และคลองทับนาง ตรงปากน้ำเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น) ซึ่งก็แน่นอนว่า ทำไปเพื่อให้เรือต่างๆ โดยเฉพาะเรือที่กินระวางน้ำลึก จำพวกเรือสินค้า สามารถสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การขุดคลองลัด (คือ เส้นทางลัด) ต่างๆ ตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระไชยราชา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2089) เป็นต้นมา

ด้วยแนวทางอย่างนี้เอง จึงทำให้ช่วงหลัง พ.ศ.2000 เป็นต้นมานั้น อยุธยาก็สามารถเข้าครอบครองเส้นทางการค้าที่ด้ามขวานของแหลมมลายู จนสร้างเส้นทางการค้าใหม่ที่เชื่อมโยงดินแดนด้านตะวันออกกับตะวันตกของด้ามขวาน จนสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีโจรสลัดอยู่ชุกชุม บริเวณช่องแคบมะละกาได้ อยุธยาจึงร่ำรวยขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางการค้า (entrepot) ที่เชื่อมโยงหลายแหล่งตลาดเข้าด้วยกัน ทั้งจีนทางด้านตะวันออก อินเดียและอาหรับทางทิศตะวันตก รวมไปถึงหมู่เกาะมลายูทางด้านทิศใต้

ซึ่งก็รุ่งเรืองเสียจนขนาดที่มีการอ้างถึงหลักฐานของนักเดินทางชาวโปรตุเกส และสเปน ที่เข้ามาในอยุธยาในช่วงก่อน พ.ศ.2100 ว่า อยุธยาเป็น 1 ใน 3 ของเมืองมหาอำนาจของเอเชีย เคียงคู่กับจีน และเมืองวิชัยนคร ที่อินเดีย

ซึ่งไม่ว่ากรุงศรีอยุธยาจะรุ่งเรืองถึงเพียงนั้นจริงหรือไม่ก็ตาม (แน่นอนว่า เมื่อเทียบกับอำนาจและบารมีของจีนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก)

แต่ข้อความดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงภาพความรุ่งเรืองของอยุธยาในสายตาของชาวตะวันตกครั้งกระโน้น ที่มีพื้นฐานมาจากการควบคุมเส้นทางการคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะ “แม่น้ำเจ้าพระยา” นั่นเอง