เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร | กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (1)

ความนำ

กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ

หลายคนขอร้องให้แปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตร และอนัตตลักขณสูตร ด้วยสำนวนไทยง่ายๆ เพื่อจะได้รู้ว่า พระสูตรเหล่านี้มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร ผมก็ผัดผ่อนหนี้ บัดนี้ได้เวลาใช้หนี้แล้วครับ

ขออนุญาตเทศน์ เอ๊ย เล่าให้ฟังตามลำดับ

ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” (ตามสไตล์) ก่อน การแปลภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่งนั้น มีอยู่ 2 อย่างคือ แปลโดยพยัญชนะ กับแปลโดยอรรถ

การแปลโดยพยัญชนะคือ แปลตามตัวอักษร รักษาโครงสร้างของประโยคไว้อย่างเคร่งครัด บางทีเคร่งครัดเกินไปอ่านแล้วฟังไม่รู้เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ประโยคบาลีว่า

กายัสสะ เภทา ปรัมมะระณา สุคะติง สัคคัง อุปะปัชชะติ

ท่านแปลโดยพยัญชนะว่า “เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์”

แปลรักษาโครงสร้างของภาษาเปี๊ยบเลย ผมเคยอ่านให้ลูกศิษย์ฟังแล้วถามว่า รู้ไหมหมายความว่าอย่างไร? นักศึกษาจำนวนเกือบสามสิบคนสั่นหัวดิก คนหนึ่งถามขึ้นว่า

“การจะเข้าสู่สุคตินี่มันเบื้องหน้าเบื้องหลังด้วยหรืออาจารย์”

ผมตอบว่า “มีสิวะ เบื้องหน้าเบื้องหลังสกปรก ไม่มีสิทธิได้เข้านะ จะบอกให้” (ฮิฮิ)

ความจริงข้อความในประโยคนี้ ถ้าจะแปลโดยอรรถ คือแปลเอาความโดยไม่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างของไวยากรณ์ก็ต้องแปลว่า “หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสวรรค์” หรือ “ตายแล้วก็ขึ้นสวรรค์” อย่างนี้ละก็ค่อยรู้เรื่องหน่อย

คัมภีร์พระไตรปิฎกแปลที่ใครต่อใครบ่นกันว่า อ่านแล้วไม่รู้เรื่องนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากสำนวนการแปล อ่านแล้วต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทยอีกทอดหนึ่ง คนที่ไม่มีพื้นฐานทางภาษาบาลี หรือไม่คุ้นกับศัพท์แสงทางศาสนาก็เดาไปผิดๆ ถูกๆ ได้ง่าย

จึงไม่แปลกที่เจ้ากูบางรูปบวชมาแล้วไม่สนใจเรียนบาลีนักธรรม ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก อ่านพระไตรปิฎกแปลไทย แล้วตีความกันเลยเถิด จนสร้างสิ่งที่ทางพระศาสนาเรียกว่า “สัทธรรมปลอม” (หรือลัทธิแก้) ขึ้น

แวะข้างทางมานาน ขอดำเนินเรื่องต่อ พระสูตรและที่จะนำมาเล่าให้ฟังคือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมจักร” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา” (การเทศน์ครั้งแรก) ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม ที่เรียกว่า ปฐมเทศนา เพราะเป็นการเทศน์ครั้งแรก สดๆ ซิงๆ หลังตรัสรู้

ทำไมจึงตั้งชื่อการเทศน์ครั้งแรกนี้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (การหมุนกงล้อ คือ พระธรรม)

อันนี้คือต้องเปรียบเทียบกับเรื่องของทางโลกจึงจะเข้าใจพระมหาราชผู้ปรารถนาจะแผ่กฤษดาภินิหารไปยังแคว้นต่างๆ พูดง่ายๆ ว่า อยากเป็นใหญ่ทั่วทั้งโลก (ถ้าเป็นได้) ก็จะทำพิธีส่งม้าอุปการไป ม้าผ่านไปยังเมืองใด กษัตริย์หรือผู้ครองเมืองนั้น ถ้าเกรงกลัวก็ยอมสยบ ส่งเครื่องบรรณาการมา “จิ้มก้อง” เป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าคิดว่า “ข้าก็หนึ่งในตองอู” คนหนึ่งนี่หว่า ก็จะฆ่าม้านั้นเสีย

ทีนี้แหละคุณเอ๋ย พระมหาราชพระองค์นั้น ก็จะทรงยกทัพไปบดขยี้ เอาให้แหลกกันไปข้าง เสียง “ล้อรถศึก” หมุนไปทางทิศใด ย่อมหมายถึงการฆ่าฟัน ทำลายชีวิตคนตกตายเป็นใบไม้ร่วง ไอ้ที่ว่าหนึ่งในตองอูก็อาจสิ้นชื่อในฉับพลัน

ท่านจึงว่าล้อศึกของพระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ หมุนไปในทางทิศใด สุดที่ใครๆ จะต้านทานได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันบรรยายถึงอริยสัจสี่ประการ ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ก็เท่ากับ “ทรงหมุนกงล้อ” ที่ไม่มีใครสามารถจะหยุดได้

แต่กงล้อที่ทรงหมุนเป็น “กงล้อแห่งธรรม” หรือ “กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ”

ล้อธรรมหมุนไปยังทิศทางใด จะขจัดทำลายโมหะอวิชชาออกจากจิตใจของผู้คน ให้ได้พบแสงสว่างแห่งชีวิต บันดาลแต่ความสงบสันติสุขแก่ชาวโลก ไม่เหมือนล้อรถศึกของมหาราชทางโลก ที่พัดพาเอากลิ่นอายแห่งการฆ่าฟันตามไปด้วย

เพราะเหตุฉะนี้แหละครับ พระพุทธองค์จึงมีพระนามอีกอย่างว่า “พระธรรมราชา” (พระราชาแห่งธรรม) มีพระสารีบุตรอัครสาวกช่วยเผยแผ่พระธรรม เป็น “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงข้างหน้า คราวนี้ขอเอวังแค่นี้ก่อน

1. ช่วงแห่งการแสวงหา

ได้พูดว่า ทำไมพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าจึงมีชื่อเรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม) ผิดถูกอย่างไรเป็นเพียงการสันนิษฐาน (ก็ “เดา” นั่นแหละ) ของผมนะครับ

คราวนี้มาพูดถึงสาเหตุที่พระองค์จำเพาะเจาะจงจะทรงแสดงเรื่องนี้แก่ศิษย์รุ่นแรก 5 คนของพระองค์ก่อน

ขออนุญาตย้อนหลังสักนิด

ช่วงระยะเวลา 6 ปีก่อนตรัสรู้พระพุทธองค์ทรงทำอะไรบ้าง

ผู้เขียนพุทธประวัติไม่ได้กล่าวโดยละเอียด พูดแต่เพียงว่า หลังจากเสด็จออกผนวชแล้วไปศึกษาอยู่กับสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร จนสำเร็จฌานสมาบัติถึงขั้นที่ 7 แล้วก็ไปศึกษาต่อกับอุทกดาบส รามบุตรจนสำเร็จฌานสมาบัติขั้นที่ 9 เมื่อเห็นว่ามิใช่ทางนำไปสู่การตรัสรู้ จึงอำลาอาจารย์ไปแสวงหาด้วยพระองค์เอง

จากนั้นพระองค์ก็ทรงทำ “ทุกรกิริยา” เมื่อพบว่าทุกรกิริยาก็มิใช่ทางเพื่อรู้แจ้ง จึงหันมาดำเนินตามทางสายกลาง แล้วก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ก็ว่ากันมาอย่างนี้ สิ่งที่ไม่ชัด หรือไม่ “แจ้งจางปาง” ก็คือระยะเวลาครับ

ไม่มีใครระบุไว้ว่า ช่วงเวลาที่พระองค์ศึกษาปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นนานเท่าใด

และหลังจากลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาด้วยพระองค์เอง ทรงทำอะไรบ้างนอกเหนือจาก “ทุกรกิริยา”

ผม “เดา” เองว่า พระองค์ทรงใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี สำหรับการฝึกปฏิบัติโยคะอยู่กับอาจารย์สอนโยคะชื่อดังทั้งสองท่านอีก 4 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทรงทดลองด้วยพระองค์เองโดย

(1) บำเพ็ญตบะต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น เปลือยกายนั่งนอนบนหนามแหลมคม กินโคมัย (มูลโค) กินหญ้าเหมือนโคกระบือ ลงแช่ในน้ำเย็นจัดวันละสามเวลา (ตปัสสีวัตร) เอาดินโคลนทาตัวให้สกปรก จนแห้งเกรอะกรัง (ลูขวัตร) ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษเวลาจะเดินก็เอาไม้กวาดกวาดพื้นก่อนแล้วค่อยๆ ย่างเท้าไปช้าๆ กลัวจะเหยียบสัตว์เล็กๆ ตายโดยไม่เจตนา (เชคุจฉวัตร) หลบผู้คนไปอยู่ในป่าลึก ถ้าได้ยินเสียงคนถือว่าเสีย “วัตร” (ปวิวิตตวัตร) คลานสี่ขาเหมือนสุนัข ดื่มปัสสาวะตัวเอง กินโคมัย (มหาวิกัฏโภชนวัตร) นอนไม่ไหวติงในป่าช้า ฝึกฝนความไม่รู้สึกยินดียินร้าย (อุเบกขาวัตร)

(2) เมื่อเห็นว่าวิธีเคร่งครัดต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ผล ก็หันมาทำ “ทุกรกิริยา” ซึ่งตามหนังสือพุทธประวัติกล่าวว่า

“วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กลพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้แน่น จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ …วาระที่สอง ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ เมื่อลมไม่ได้เดินสะดวก โดยช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสองให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง …วาระที่สาม ทรงอดอาหาร…”

ใครอ่านตรงนี้แล้วยังไม่เข้าใจดี ก็ฝากการบ้านให้ไปเปิดราชาศัพท์เอาเองครับ

ระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญตบะต่างๆ ลงท้ายด้วย “ทุกรกิริยา” คงประมาณ 4 ปี รายละเอียดตบะต่างๆ ที่ทรงทดลองด้วยพระองค์เองนั้น พุทธประวัติไม่กล่าวถึง แต่ในพระไตรปิฎกมีพูดไว้ พระพุทธเจ้าทรงเล่าด้วยพระองค์เองทีเดียวแหละครับ

ที่บางท่านว่า ออกจากสำนักอาจารย์ทั้งสองแล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาตลอดหกปีนั้น คงไม่ถูกต้อง

ยิ่งเข้าใจว่า ทุกรกิริยาคืออดข้าวอย่างเดียว แล้วพูดว่าทรงอดข้าวอยู่ตั้งหกปี ยิ่งไม่ถูกใหญ่ ใครจะอดข้าวตั้งหกปีแล้วมีชีวิตอยู่ได้เล่าครับ

เมื่อตรัสรู้แล้วก็คิดหาคนที่มีสติปัญญาพอจะฟังรู้เรื่อง นึกถึงอาจารย์ทั้งสองขึ้นมาทันที แต่เมื่อทรงทราบว่า ท่านทั้งสองเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้เพียง 7 วัน ก็ทรงนึกถึงศิษย์เก่า 5 คน ซึ่งเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์”

ปัญจวัคคีย์ได้ตามมาบวชคอยปรนนิบัติพระองค์ ขณะทรงทำทุกรกิริยาอยู่ที่ถ้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า “ดงคศิริ” ประมุข เอ๊ย หัวหน้าชื่อ โกณฑัญญะ เคยเป็นหนึ่งในพราหมณ์ 8 คนที่ถูกเชิญให้ไปทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ โกณฑัญญะทำนายหนักแน่นว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวชและจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อทราบข่าวพระองค์เสด็จออกผนวช จึงชวนพรรคพวกอีก 4 คน ตามมาทันขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่พอดี

แต่พอพระองค์ทรงเลิกอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหาร โกณฑัญญะหมอดูแม่นๆ ก็ฉีกตำราทิ้ง ปักใจว่าพระองค์ไม่มีทางได้บรรลุแล้ว ได้กลายมาเป็นคนเห็นแก่กินเสียแล้ว จึงชวนพรรคพวกหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันนี้เรียก “สารนาถ” ห่างจากดงคศิริประมาณสองร้อยกว่ากิโล

พระองค์เสด็จดำเนินโดยพระบาท ทรงพบอาชีวกชื่ออุปกะ เดินสวนทางมา อุปกะแกทึ่งในบุคลิกอันงามสง่าของพระองค์ จึงถามว่าใครเป็นอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ ตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์

แกสั่นศีรษะร้องว่า “I see” แล้วก็หลีกทางไป