ต่างประเทศ : ภาวะกลืนไม่เข้าของยุโรป กับปัญหานักรบไอเอส

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องให้ชาติยุโรป รับตัวนักรบไอเอส หรือกลุ่มติดอาวุธกองกำลังรัฐอิสลาม ที่กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (เอสดีเอฟ) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรชาวเคิร์ดในซีเรียของสหรัฐ ควบคุมตัวเอาไว้อยู่ราว 800 คนกลับไป

เพราะนักรบเหล่านี้เป็นพลเมืองของชาติยุโรปที่มาเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส (กองกำลังรัฐอิสลาม) ในการเคลื่อนไหวสู้รบยึดครองดินแดนอิรักและซีเรีย เพื่อสถาปนานครรัฐอิสลาม หรือคอลิฟะห์ขึ้น อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มไอเอส

เสียงเรียกร้องของทรัมป์มีขึ้นในขณะที่ทรัมป์เตรียมประกาศจะถอนกำลังทหารสหรัฐทั้งหมดราว 2,000 นายออกจากประเทศซีเรียในเร็ววัน หลังจากมีชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสเบ็ดเสร็จเด็ดขาดร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่เสียงเรียกร้องของทรัมป์ถูกบอกปัดจากชาติพันธมิตรยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ที่เข้าร่วมปราบกลุ่มนักรบญิฮาดไอเอสด้วย

เพราะต่างหวั่นกลัวว่าการรับนักรบเหล่านี้กลับมา จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ให้คนที่มีแนวคิดรุนแรงสุดโต่งเหล่านั้นกลับมาก่อความเดือดร้อนในประเทศของตนเองอีก

ประเด็นการจี้รับกลับนักรบไอเอสของทรัมป์ จึงกำลังเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ชาติยุโรปกำลังโต้เถียงอย่างดุเดือดกับสหรัฐอยู่ในเวลานี้

 

หนึ่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการรับกลับนักรบไอเอสที่อยู่ในความสนใจของสื่อหลายสำนักในขณะนี้ เป็นกรณีของชามีมา เบกุม วัยรุ่นหญิงชาวอังกฤษอายุ 19 ปี ที่ออกมาร้องขอจะกลับอังกฤษ หลังจากเธอและเพื่อนนักเรียนหญิงอีก 2 คนหลบหนีออกจากกรุงลอนดอนในช่วงปลายปี 2014 ขณะพวกเธออายุได้เพียง 15 ปี เพื่อมาเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย

แต่การร้องขอกลับประเทศของชามีมาถูกปฏิเสธจากชาวอังกฤษส่วนใหญ่ ตลอดจนรัฐบาลอังกฤษที่กลัวว่าคนที่ถูกล้างสมอง ถูกปรับเปลี่ยนรากฐานความคิดไปยึดหลักความรุนแรงอย่างชามีมา อาจจะกลับมาก่อภัยคุกคามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอังกฤษได้ หากคนเหล่านี้ยังไม่ตัดอุดมการณ์ความคิดหัวรุนแรงทิ้งไป

คำให้สัมภาษณ์ของชามีมากับนักข่าวบีบีซีที่ออกอากาศไปเมื่อต้นสัปดาห์ อาจเป็นตัวสะท้อนได้ส่วนหนึ่ง ที่ชามีมาเปรียบเทียบเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีสนามกีฬาแมนเชสเตอร์ อารีนา ในงานคอนเสิร์ตของอารีอานา กรานเด นักร้องสาวชื่อดัง ที่เมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ ในปี 2017 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ว่าก็เป็นเหมือนกับการทิ้งระเบิดโจมตีที่มั่นของกลุ่มไอเอสของกำลังชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นการตอบโต้เอาคืน ไม่ได้ต่างกัน!

ชามีมา ที่ตอนนี้พักอยู่ในค่ายผู้อพยพอัล-ฮาวล์ ทางตะวันออกของซีเรียติดกับอิรักพร้อมกับลูกชายที่เธอเพิ่งคลอดออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังบอกอีกว่า เธอไม่เสียใจที่เธอไปเข้าร่วมกับไอเอส!

 

บทสัมภาษณ์ที่สะท้อนทัศนคติของชามีมา ถูกคนอังกฤษส่วนใหญ่ตีความว่าเธอไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้านกับสิ่งที่เธอได้ร่วม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเลวร้ายของกลุ่มไอเอสแต่อย่างใด หากสิ่งที่เธอออกมาอ้อนวอนร้องขอเพราะต้องการให้ตนเองและลูกได้กลับมาอยู่ในที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัยเท่านั้น

ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้ที่คัดค้านการรับชามีมากลับประเทศ ซึ่งตั้งเงื่อนไขว่าหากจะกลับมาก็จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดีว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมกับบอกว่าอังกฤษมีมาตรการในการยับยั้งบุคคลที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งรวมถึงการถอนสัญชาติ ที่ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยอังกฤษก็ได้ประกาศจะถอนสัญชาติอังกฤษของชามีมาแล้ว

ขณะที่โฆษกของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาตอบโต้ข้อเรียกร้องของทรัมป์ให้รับกลับนักรบไอเอสว่า นักรบต่างชาติที่ไปเข้าร่วมกับไอเอส ควรจะถูกดำเนินคดีในพื้นที่ที่คนเหล่านั้นก่อเหตุกระทำความผิด ซึ่งเป็นท่าทีต่อต้านไปในทิศทางเดียวกับฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ออกตัวว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการจะให้รับกลับนักรบชาวยุโรปเหล่านั้นที่หันไปเข้าร่วมกับไอเอส ที่นิกอล เบลูเบต์ รัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศส ยืนกรานว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยึดนโยบายพิจารณารับกลับเป็นรายกรณีไปเท่านั้น

จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2018 ของศูนย์ศึกษาลัทธิยึดหลักความรุนแรงระหว่างประเทศชี้ว่า มีพลเมืองมากกว่า 40,000 คนจาก 80 ประเทศ ที่เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มไอเอสในประเทศอิรักและซีเรีย

ขณะที่รายงานปี 2018 ของรัฐสภายุโรประบุว่ามีชาวยุโรปราว 5,000 คนที่ไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสซึ่งแยกได้เป็น 6 ชาติใหญ่ๆ ในจำนวนนี้เป็นชาวฝรั่งเศสมากที่สุดจำนวน 1,910 คน รองลงมาเป็นเยอรมัน 960 คน และอังกฤษ 850 คน

ขณะที่มีที่เดินทางกลับประเทศแล้วราว 1,200 คน